Braskem ดึงไทยบุกตลาด Bio-PE ดันยอดใช้เอทานอล ลด CO2

20 เม.ย. 2567 | 06:03 น.
อัปเดตล่าสุด :20 เม.ย. 2567 | 06:20 น.

Braskem ดันไทยสู่ฐานการผลิตพลาสติกชีวภาพระดับโลก เร่งสรุปแผนด้านวิศวกรรม กรอบการทำงาน และต้นทุนการผลิต รองรับตลาดเอเชีย และสหรัฐ เสริมศักยภาพไทยลดปล่อย CO2 พร้อมสร้างโอกาสทางการตลาดเอสทานอล รอบอร์ดสรุปอนุมัติ ก่อนเริ่มทำงานต้นปี 2025

เดือนสิงหาคม 2566 บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จํากัด (มหาชน) หรือ SCC โดยบริษัทไทยโพลิเอทิลีน จํากัด หรือ “TPE” ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท เอสซีคมิคอลส์ จํากัด (มหาชน) หรือ “SCGC” (ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ SCC ถือหุ้นทั้งหมด) ได้ลงนามในสัญญาร่วมทุนกับบริษัท Braskem S.A. ผ่านบริษัทย่อยคือ Braskem Netherland B.V. และบริษัท Braskem Europe GmbH (หรือรวมเรียกว่า “Braskem”) ผู้ผลิตโพลิเมอร์ชีวภาพรายใหญ่ที่สุดในโลกจากบราซิล

โดยได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนสําหรับ ผลิตไบโอ-เอทิลีนจากเอทานอล (หรือ “Green-Ethylene from ethanol”) ในสัดส่วน 51:49 ซึ่งจะมีการจัดตั้งโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพ พอลิเอทิลีน (Bio-PE) ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท กำลังการผลิต 2 แสนตันต่อปี ใช้เอทานอล 450 ล้านลิตรต่อปี

โรงงาน Bio-PE มาบตาพุด คืบหน้า

นายวอลเมียร์ โซลเลอร์ (Walmir Soller) รองประธานโอเลฟินส์/โพลิโอเลฟินส์ยุโรปและเอเชีย และซีอีโอ Braskem Nether land B.V. กล่าวถึงความคืบหน้าว่า ขั้นตอนอยู่ระหว่างการศึกษาทางด้านวิศวกรรม การพัฒนากรอบการทำงาน (regulatory framework) ที่จะปรับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ เกี่ยวกับเอทานอล ซึ่งจะสรุปให้บอร์ดอนุมัติ เพื่อที่จะเริ่มทำงานในต้นปีหน้า 2568

วอลเมียร์ โซลเลอร์ (Walmir Soller) รองประธานโอเลฟินส์/โพลิโอเลฟินส์ยุโรปและเอเชีย และซีอีโอ Braskem Nether land B.V.

โครงการนี้ประโยชน์ไม่ใช่แค่การผลิตไบโอ-พอลิเอทิลีน เท่านั้น แต่ยัง เป็นโอกาสในการจำหน่ายเอทานอลในประเทศได้มากขึ้น และยังช่วยเสริมศักยภาพของแบรนด์ใหญ่ ๆ ในโลก ที่จะสามารถผลิตสินค้าที่ใช้ผลิตไบโอ-พอลิเอทิลีน ที่ตรงมาตรฐานสากล ทำให้สามารถผลักดันอุตสาหกรรมอ้อยและเอทานอลให้กับไทยไปพร้อมกัน

ดันไทยสู่ฐานการผลิตโลก

ทั้งนี้ การทำงานร่วมกับ SCGC เป็นประโยชน์มาก และได้หารือกับซัพพลายเออร์ด้านเอทานอล โดยรวมภาพบรรยากาศเป็นบวกมาก และประเทศไทยจะเป็นฐานการผลิตของบริษัทที่ใกล้กับเอเชียและยังส่งออกไปทั่วโลกได้ด้วย

“Braskem ดำเนินธุรกิจ Biobased หรือการผลิตพลาสติกที่ทำมาจากพืช เช่น อ้อยหรือข้าวโพด โดยผลิตจากบราซิลและส่งออกไปยังทุกภูมิภาค การทำโปรเจ็กต์ร่วมกับ SCGC ทาง Braskem จะใช้โมเดลเดียวกัน โดยให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต ไบโอ-พอลิเอทิลีน ซึ่งจะกระจายไปทั่วเอเชีย นั่นคือส่วนแรก และอาจจะขยายต่อไปส่งออกไปยังยุโรป และสหรัฐอเมริกา ผ่านมหาสมุทรแปซิฟิก”

Braskem ดึงไทยบุกตลาด Bio-PE ดันยอดใช้เอทานอล ลด CO2

ปัจจุบัน Braskem ผลิตไบโอ-พอลิเอทิลีนอยู่ 2.6 แสนตันต่อปี เพิ่มจากเดิมที่ผลิตได้ราว 2 แสนตันต่อปี โดยมีผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้แบรนด์ I’m GreenTM ซึ่งเป็นไบโอ-พอลิเอทิลีน ที่ช่วยดูแลโลกควบคู่กับการตอบความต้องการของลูกค้าที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยมีฐานลูกค้าใหญ่ในยุโรป -เอเชียรวม 85% นอกจากนี้ยังมีอเมริกาเหนือ เป็นตลาดที่ช้าหน่อย แต่เห็นการเจริญเติบโตที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว

การผลิตปล่อยคาร์บอนติดลบ

สำหรับตลาดในเอเชีย เป็นตลาดที่มีขนาดของเศรษฐกิจที่ใหญ่ สามารถนำไบโอ-พอลิเอทิลีนไปประยุกต์ใช้มากขึ้น รวมทั้งรัฐบาลของแต่ละประเทศก็เห็นความสำคัญตรงนี้มากขึ้น ตลาดเอเชียจึงเป็นโอกาสที่มีแนวโน้มการขยายตัวสูงมากในอนาคต

ที่สำคัญคือ Braskem มีเทคโนโลยีและขั้นตอนการผลิตที่ช่วยลดปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากผลิตภัณฑ์ I’m green™ ทุกครั้งที่ผลิตออกมา จะมีการไปดึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากอากาศ ทุกครั้งที่ผลิตไบโอ-พอลิเอทิลีนขึ้นมา 1 กิโลกรัม สามารถดึงคาร์บอนไดออกไซด์ออกไปได้ 2 กิโลกรัม และยังลดการเพิ่มคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการผลิตที่ปกติต้องเพิ่มขึ้น 3 กิโลกรัม ทำให้โดยรวมการผลิตไบโอ-พอลิเอทิลีน สามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ทันที 5 กิโลกรัม

ทั้งนี้ Braskem มีเป้าการเป็นองค์กรที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 ซึ่งกระบวนการทำงานทั้งหมด สอดคล้องกับแผนการพัฒนาที่ยั่งยืนของบรษัท ผ่านการดำเนินงานจาก 2 ผลิตภัณฑ์ ทั้ง Biobased ที่ใช้วัตถุดิบจากพืช และการใช้วัตถุดิบจากวัสดุที่เป็นรีไซเคิล และการลดขยะพลาสติก

นอกจากนี้ เพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมาย Net Zero Braskem ยังมุ่งเน้นไปที่ประเด็นพื้นฐาน 8 ประการ ประกอบด้วย 1.ทำงานร่วมกับลูกค้าและห่วงโซ่คุณค่า เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เพิ่มประสิทธิภาพ การรีไซเคิล และการนำกลับมาใช้ใหม่ 2.ลงทุนพัฒนาผลิตภัณฑ์หมุนเวียนใหม่ๆ เพื่อรองรับเศรษฐกิจหมุนเวียนตั้งแต่ต้นห่วงโซ่คุณค่า 3.พัฒนาเทคโนโลยี โมเดลธุรกิจ และระบบใหม่ ๆ เพื่อปรับปรุงห่วงโซ่การรีไซเคิลและการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่

4.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคในโครงการรีไซเคิลและฟื้นฟูผ่านการศึกษาเพื่อส่งเสริมมูลค่าของขยะพลาสติกต่อเศรษฐกิจ 5.การใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ เช่น LCA เพื่อเลือกตัวเลือกผลกระทบที่ดีกว่าในแง่ของผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 6.วัดและสื่อสารตัวบ่งชี้การรีไซเคิล และการนำกลับมาใช้ใหม่สำหรับวัสดุบรรจุภัณฑ์พลาสติก

7.ร่วมมือกับพันธมิตรในการทำความเข้าใจ ป้องกัน และแก้ไขปัญหาการจัดการขยะพลาสติกที่ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะปัญหาขยะในมหาสมุทร และ 8.สนับสนุนนโยบายสาธารณะ เพื่อปรับปรุงการจัดการขยะมูลฝอยและห่วงโซ่การรีไซเคิลโดยเฉพาะ

Braskem เป็นผู้ผลิตเทอร์โมพลาสติกที่ใหญ่ที่สุดในทวีปอเมริกาและเป็นผู้ผลิตไบโอ-พอลิเมอร์ที่ใหญ่ที่สุดของโลก รวมทั้งเป็นผู้ผลิตพอลิโพรพิลีนที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา ในปี 2565 Braskem มียอดขายสุทธิประมาณ 18,731 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสินทรัพย์รวมประมาณ 17,775 ล้านดอลลาร์สหรัฐ