ขยะอาหารล้นโลก กำลังซํ้าเติมวิกฤตโลกร้อน !

10 ส.ค. 2567 | 10:59 น.
อัพเดตล่าสุด :10 ส.ค. 2567 | 11:15 น.

อุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้น เป็นผลเนื่องมาจากปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากการสะสมตัวเพิ่มขึ้นของก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) ในชั้นบรรยากาศมากกว่าปกติ

ขยะอาหารล้นโลก กำลังซํ้าเติมวิกฤตโลกร้อน !

จากปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้บรรยากาศโลกกักเก็บพลังงานความร้อนเพิ่มขึ้น จนไม่สามารถระบายความร้อนที่ได้รับจากรังสีดวงอาทิตย์ออกไปได้

โดยมีก๊าซเรือนกระจกหลัก ๆ เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซไนตรัสออกไซด์ ที่เกิดจากการเผาไหม้ของแร่ เชื้อเพลิง มาจากถ่านหินและไอเสียจากรถยนต์ และก๊าซมีเทน ที่ส่งผลรุนแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซค์มากกว่า 25-30 เท่า ซึ่งถือเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิด 8-10% ของก๊าซเรือนกระจกทั่วไป โดยเป็นก๊าซที่มีอยู่ในธรรมชาติ

แต่ร้อยละ 60 ในบรรยากาศเกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การทิ้งขยะด้วยวิธีฝังกลบ การทำฟาร์มปศุสัตว์ มูลสัตว์ การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการทำเกษตรกรรม และที่สำคัญคือ เกิดจากขยะเศษอาหาร

ปัจจุบันปัญหา “ขยะอาหาร” (Food Waste) เป็นปัญหาใหญ่ของทั่วโลก โดยในแต่ละปี พบว่าอาหารกว่า 1,300 ล้านตัน หรือ 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตได้ทั่วโลก ต้องกลายเป็นขยะอาหารที่ถูกทิ้งไปอย่างสูญเปล่า โดยในปัจจุบันประเทศไทย มีปริมาณขยะจากอาหารเกิดขึ้นประมาณ 9.7 ล้านตันต่อปี โดยคนไทย 1 คน จะสร้างขยะอาหารสูงถึง 254 กิโลกรัมต่อปี

ขยะอาหารล้นโลก กำลังซํ้าเติมวิกฤตโลกร้อน !

ดังนั้น UN จึงได้มีการกำหนดให้ทำการลดขยะอาหารเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญในการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

ทั้งนี้ เมื่อปี 2558 ได้กำหนดเป้าลดขยะอาหารในระดับค้าปลีกและบริโภคทั่วโลกลงครึ่งหนึ่งและภายในปี 2573 ซึ่งหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เช่น กรมควบคุมมลพิษ และภาคเอกชนในประเทศไทย ต่างออกมาตอบรับเป้าหมายนี้

ดังนั้น แนวทางการลดปริมาณขยะอาหาร จึงแบ่งได้เป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ

1.การที่ไม่ต้องอาศัยเทคโนโลยี โดยเริ่มจากตัวแปรสำคัญ ซึ่งก็คือมนุษย์ ตั้งแต่ในมุมของผู้บริโภค โดยการให้ความรู้ และการสร้างวินัย เริ่มจากการสั่งอาหารให้พอดี ไม่มากเกินไป และการซื้อวัตถุดิบอาหาร มีการวางแผนในการบริโภค และรู้จักวิธีการจัดเก็บอาหารในแต่ละชนิดให้เหมาะสม

และปัจจัยที่สำคัญ ที่จะส่งผลต่อการช่วยลดปริมาณเศษขยะอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ก็คือ ภายในครัวเรือนเอง เป็นการแยกขยะเศษอาหารออกจากขยะทั่วไป ซึ่งจะทำให้ลดการปะปนกันของขยะที่สามารถ Recycle อีกทั่งยังช่วยลดกลิ่นเหม็นเน่า และสัตว์รบกวนเช่นแมลงวัน ในขณะที่ไปกองรอที่บ่อพักขยะได้

ขณะเดียวกันในมุมของผู้ผลิตเองนั้น ก็ควรต้องไม่ผลิตอาหารออกมาเกินความต้องการ หรือเกินการบริโภคจริง โดยรวบรวมข้อมูลนำมาวิเคราะห์ ถึงกระบวนการผลิตอาหาร หรือการแปรรูปอาหารขั้นตอนไหน ที่ทำให้เกิด Food Loss หรือ Over Prepare รวมถึงผู้ให้บริการด้านอาหารเช่น ศูนย์อาหาร (Food Court) หรือร้านอาหารบุฟเฟ่ต์ เป็นต้น

2. การใช้เทคโนโลยีในการกำจัดเศษอาหาร ไม่ว่าจะเป็นการนำจุลินทรีย์มาใช้ควบคู่กับเครื่องบด กวน และอบแห้งเพื่อช่วยเร่งกระบวนการย่อยสลายเศษอาหาร เพื่อนำมาใช้เป็นปุ๋ย

ในปัจจุบัน จะสามารถพบเห็นว่ามีการใช้กันได้แพร่หลายมากขึ้น ซึ่งมีหลายขนาดที่เหมาะสมกับปริมาณของเศษอาหาร ตั้งแต่เครื่องขนาดเล็กปริมาณ 2 กิโลกรัม เพื่อรองรับบ้านพักอาศัย ไปจนถึงขนาดหลายร้อยกิโลกรัมที่ใช้กับร้านอาหาร โรงงาน ห้างสรรพสินค้า โรงแรม เป็นต้น

อย่างไรก็ตามการทำเศษขยะอาหารให้เปลี่ยนเป็นพลังงานทดแทน คือ ก๊าซชีวภาพ (Bio Gas) ซึ่งเกิดมาจากกระบวนการหมัก เพื่อให้เกิดการย่อยสลายสารอินทรีย์ในสภาวะที่เหมาะสม แล้วเราก็จะได้ก๊าซชีวภาพที่สามารถนำมาใช้เป็นพลังงานไฟฟ้าหรือความร้อนได้

สุดท้ายนี้ วิธีการลดปริมาณขยะเศษอาหารได้ดีที่สุด คือ เริ่มได้ที่ตัวเราตั้งแต่การสั่งอาหารหรือตักอาหารแค่พออิ่ม และทานอาหารในจานให้หมด เพราะอาหารทุกจานที่ทานหมดในทุกมื้อ จะสามารถช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ลดการสะสมของเชื้อโรค ลดปริมาณสัตว์รบกวน เช่น หนู แมลงวัน รวมไปถึงการช่วยคัดแยกขยะเศษอาหารออกจากขยะประเภทอื่น ก่อนนำใส่ถุงไปให้รถจัดเก็บขยะ และถ้าทุกคนช่วยกัน

ผมเชื่อว่าทุกการเริ่มต้นเล็ก ๆ น้อย ๆ จะช่วยเปลี่ยนแปลงให้หลายอย่างดีขึ้นแน่นอน