จับตา “4 บิ๊ก” CRG-QSA- พีเอช แคปปิตอล-ไมเนอร์ ฟู้ด ควักหมื่นล้านชิง "KFC"

26 ก.ค. 2565 | 10:56 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ก.ย. 2565 | 16:04 น.

จับตา “4 บิ๊ก” เชนร้านอาหาร CRG - QSA- พีเอช แคปปิตอล- ไมเนอร์ ฟู้ด ใครน่าจับตามากสุด กลุ่มไหนมีศักยภาพควักหมื่นล้านชิง “KFC”

นับจากปี 2563 บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด หรือ RD แฟรนไชส์ซีแบรนด์ไก่ทอดระดับโลก “KFC” เคยตกเป็นข่าวว่า ต้องการขายกิจการสาขาในประเทศไทย เป็นวงเงินถึง “ 1 หมื่นล้านบาท” ก่อนจะสะดุดลงเมื่อเจอกับสถานการณ์โควิด-19

https://www.facebook.com/kfcth/?ref=page_internal

ล่าสุดเมื่อโควิด-19 เริ่มเบาบางลงและคลี่คลายไปในทิศทางที่ดี ดิลขาย KFC จึงถูก RD หยิบขึ้นปัดฝุ่นอีกครั้ง โดยสำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า แหล่งข่าวที่ไม่ประสงค์เปิดเผยนาม 3 ราย ระบุว่า บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ (RD) กำลังเจรจากับบริษัทที่ปรึกษาเกี่ยวกับการขายกิจการ KFC ในส่วนที่บริษัทถืออยู่ในประเทศไทย

 

ทั้งนี้ KFC เปิดสาขาแรกในประเทศไทยกับพันธมิตรใหญ่อย่าง เซ็นทรัล เรสเตอรองต์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) ที่เซ็นทรัลลาดพร้าว และในปี 2559 เรสเตอรองต์ ดีเวลลอปเม้นต์ (RD) เข้ามาผลึกกำลัง ร่วมผลักดันธุรกิจเฟรนไชส์ KFC ให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ

https://www.facebook.com/kfcth/?ref=page_internal

ปี 2560 เป็นปีแห่งความสำเร็จของ KFC หลังจากผันตัวเองสู่รูปแบบ ธุรกิจแฟรนไชส์ 100% พร้อมกับเปิดตัวพันธมิตรใหม่ โดยกลุ่มไทยเบฟ (ปัจจุบันคือบริษัท คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด : QSA) ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่เข้าซื้อร้าน KFC จากบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำนวน 240 สาขา หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 42%

 

จากกระแสข่าวครั้งนี้ทำให้ KFC เป็นที่น่าจับตามองอย่างว่าหากมีการขายกิจการในประเทศไทยจริง ใครจะเป็นผู้ที่จะปิดดีล รับไม้ต่อกิจการไก่ทอดเจ้าดังนี้ ซึ่งกลุ่มทุนที่อาจจะเข้าซื้อกิจการเคเอฟซีจาก RD อาจเป็นหนึ่งในผู้เล่นหลักอย่าง CRG และ QSA ที่เป็นพันธมิตรกันอยู่ หรือจะเป็นบิ๊กเนม ที่รุกทำตลาดในธุรกิจ QSR อยู่ก่อนหน้านี้อย่าง “พีเอช แคปปิตอล” หรือจะเป็น “ไมเนอร์ ฟู้ด” ก็อาจเป็นได้


 

บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือ CRG หนึ่งในผู้นำธุรกิจร้านอาหารเครือข่าย (Food Chain Industry) ของประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นในปี 2521 ภายใต้การบริหารเครือ เซ็นทรัล กรุ๊ป ปัจจุบันซีอาร์จีในฐานะผู้รับสิทธิ (Franchisee)ในการบริหาร และจัดการธุรกิจร้านอาหารที่หลากหลาย ครอบคลุมเกือบทุกประเภทอาหาร กว่า 17 แบรนด์ทั้ง มิสเตอร์ โดนัท อานตี้ แอนส์, เปปเปอร์ ลันช์,ชาบูตง ราเมน ,โคล สโตน ครีมเมอรี่,ไทยเทอเรส,โยชิโนยะ, โอโตยะ, เทนยะ ,คัตสึยะ , อร่อยดี,เกาลูน,สลัดแฟคทอรี่ ,บราวน์ คาเฟ่, อาริกาโตะ , ส้มตำนัว

ธุรกิจอาหารในเครือ CRG

ที่สำคัญเป็นหนึ่งในผู้ถือแฟรนไชส์ KFC ในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันมีสาขารวม 307 สาขาทั่วประเทศ และมีร้านอาหารอื่นรวมทั้งหมดกว่า 1,380 สาขา

ทั้งนี้ กลุ่มธุรกิจอาหารในเครือ CRG ในปี 2564 ที่ผ่านมามีรายได้ 9,370 ล้านบาท กลยุทธ์ปี 2565 ลุยขยาย “KFC ตึกแถว” ในรูปแบบ Shop House อย่างน้อย 2 สาขาและเตรียมควบรวมกิจการ/ร่วมทุน 2 ดีล โดยจะปูพรมขยายสาขาร้านอาหารในทำเลศักยภาพใหม่ ๆ ทั่วประเทศ จำนวนมากกว่า 200 สาขา ภายใต้งบลงทุนกว่า 600 ล้านบาท และงบรีโนเวทสาขากว่า 100 ล้านบาท เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายรายได้12,100 ล้านบาท เติบโตเกือบ 30% ในปีนี้

 

อีกราย ที่เชื่อว่ามีพาวเวอร์ไม่แพ้กัน คือ บริษัท เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (QSA) ในเครือ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ โดยมีพอร์ตธุรกิจอาหารในมือ 12 แบรนด์ ได้แก่ โซอาเซียน คาเฟ่ แอนด์ เรสเตอรองท์ , Man Fu Yuan Kitchen ,บ้านสุริยาศัย,ฟู้ด สตรีท,Hyde & Seek Athenee,MX Cakes & Bakery,คาเฟ่ ชิลลี่,ชิลลี่ ไทย เรสเตอรองท์,EAT POT เกาเหลาหม้อไฟ,พอท มินิสทรี,เสือใต้ และ KFC

Food of Asia

โดยกลุ่มไทยเบฟ ทุ่มเงินกว่า 11,300 ล้านบาท ในการเข้าซื้อร้าน KFC จากยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ทำให้ได้สิทธิ์ในการเป็นเจ้าของร้าน KFC ทั้ง 240 สาขา พร้อมกับการขยายสาขาเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยในปี 2564 QSA ต้องเผชิญกับวิกฤตโควิดอย่างหนัก ทำให้มีผลประกอบการขาดทุน 47 ล้านบาท ถือเป็นการทำผลงานขาดทุนเป็นปีแรก

 

ผู้เล่นที่น่าจับตา เห็นจะเป็น “บริษัท พีเอช แคปปิตอล จำกัด” ของตระกูลมหากิจศิริ หนึ่งในกลุ่มตระกูลเศรษฐีซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีของไทย และยังถือสิทธิ์แฟรนไชส์ “พิซซ่าฮัท” ในประเทศไทย ซึ่งปัจุบันมี 171 สาขา ใน 46 จังหวัดและยังมีแบรนด์ “ทาโก้เบลล์”

พิซซ่าฮัท

พีเอช แคปปิตอล ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA ถือว่ามีความสัมพันธ์ที่ดีกับยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด เช่นกัน เพราะเป็นผู้เข้าซื้อกิจการของ “พิซซ่า ฮัท” ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2560 ขณะเดียวกัน พีเอชฯ เองก็สนใจที่จะขยายธุรกิจอาหารในประเทศไทยต่อเนื่อง รวมทั้งยังมีแผนที่จะจัดหาแบรนด์ใหม่จากต่างประเทศเข้ามาเปิดในเมืองไทยด้วย การได้ KFC มาก็จะช่วยเสริมความแข็งแรงให้กับพอร์ตกลุ่มนี้เช่นกัน

 

ผู้เล่นรายสุดท้ายที่นับว่าเป็น “พี่ใหญ่” ในวงการอาหารก็ว่าได้ คือ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในธุรกิจผู้ให้บริการด้านอาหารและฟาสต์ฟู้ดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในสามบริษัทภายใต้เครือของไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT)

อาหารและฟาสต์ฟู้ด  เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป

ปัจจุบันมีแบรนด์ร้านอาหารทั้งหมด 9 แบรนด์ ได้แก่ เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, สเวนเซ่นส์, ซิซซ์เล่อร์, แดรี่ควีน, เบอร์เกอร์คิง, เดอะ คอฟฟี่ คลับ, ริเวอร์ไซด์ กริลล์ ฟิช, เบซิล, เบนิฮานา ซึ่งเปิดให้บริการแล้วมากกว่า 2,200 สาขา ใน 27 ประเทศ โดยในปี 2564 ที่ผ่านมาไมเนอร์ ฟู้ด สามารถทำรายได้ 21,173 ล้านบาท กำไร 657ล้านบาท

 

“ไมเนอร์ ฟู้ด” ถือเป็นแบรนด์ที่มีศักยภาพ และมีความพร้อม โอกาสที่จะเข้าซื้อกิจการมีความเป็นไปได้สูง แต่ก็ยังมีหลายองค์ประกอบที่ต้องพิจารณา”

 

อย่างไรก็ตามยังไม่มีนักลงทุนรายใดออกมาแสดงท่าทีหรือประกาศชัดว่า จะควักเงินหมื่นล้านซื้อกิจการ KFC จาก RD ซึ่งหลังจากนี้ก็ยังคงต้องตามกันอย่างใกล้ชิด ว่าใครจะคว้าดีลนี้ไปครอง