ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากคณะกรรมการ กสทช.สั่งเลื่อนการประชุมเพื่อพิจารณากรณีควบรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่นจำกัด(มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ “ดีแทค” จากกำหนดเดิมที่จะพิจารณาเมื่อวันที่ 14 ก.ย.65 ที่ผ่านมา
หลังจากสำนักงาน กสทช.ได้นำส่งข้อมูลรายงานผลการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบ ตามที่กสทช.สั่งการให้ที่ประชุมเรียบร้อยแล้ว แต่ที่ประขุมยังต้องการรอหนังสือตอบกลับจากคณะกรรมการกฤษฎีกากรณีสำนักงาน กสทช.ได้ขออนุเคราะห์ความเห็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของ กสทช.ในการพิจารณาดีลควบรวมทรู-ดีแทค ในครั้งนี้ ทำให้ที่ประชุมต้องเลื่อนการพิจารณาออกไป
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบข้อมูลรายงานผลการศึกษาวิเคราะห์ที่สำนักงาน กสทช.นำส่งให้ที่ประชุมเพื่อประกอบการพิจารณา ซึ่งประกอบไปด้วย รายงานของอนุกรรมการศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบทั้ง 4 ชุด รายงานผลสรุปการจัดรับฟังความเห็น Focus Group รายงานสรุปของอนุกรรมการกลั่นกรองของสำนักงาน กสทช. และรายงานของบริษัทที่ปรึกษาอิสระที่สำนักงาน กสทช.ว่าจ้างให้จัดทำรายงานความเห็นประกอบ รวมทั้งรายงานผลศึกษาวิจัยของศูนย์บริการวิชาการจุฬาฯที่ กสทช.ให้ดำเนินการศึกษาเพิ่มเติมนั้น
จากการตรวจสอบข้อมูลในเชิงลึกของบริษัทที่ปรึกษาอิสระ ที่สำนักงาน กสทช.ว่าจ้างให้เข้ามาศึกษาจัดทำความเห็นประกอบการพิจารณาคือ บล.ฟินันซ่า จำกัด พบว่า บริษัทดังกล่าวมีความสัมพันธ์โยงใยกับบริษัททรูที่เป็นผู้ยื่นเสนอขอควบรวมกิจการ ทำให้รายงานวิเคราะห์ประกอบความเห็นของที่ปรึกษาอิสระน่าจะมีปัญหาในเรื่องผลประโยชน์ขัดแย้งที่อาจส่งผลให้การพิจารณาดีลควบรวมทรู-ดีแทคโมฆะทั้งหมด
ทั้งนี้ ตามประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมนั้น ได้กำหนดคุณสมบัติของที่ปรึกษาอิสระไว้ในภาคผนวก (2) ว่า ที่ปรึกษาอิสระต้องมีความเป็นอิสระ ไม่มีความเกี่ยวข้อง หรือมีส่วนได้เสียกับผู้รับใบอนุญาต หรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาต
แต่จากการตรวจสอบกรณีว่าจ้างที่ปรึกษาอิสระของสำนักงาน กสทช.พบว่า กสทช.ได้ลงนามในสัญญาว่าจ้าง บล.ฟินันซ่า ให้เข้ามาดำเนินการจัดทำรายงานวิเคราะห์กรณีควบรวมทรู-ดีแทค ตามที่ผู้ควบรวมเสนอ และจากการตรวจสอบในเชิงลึกยังพบว่า ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บล.ฟินันซ่า คือ บล.ที่ปรึกษาลงทุน เอฟเอสเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (บล.เอฟเอสเอส)นั้น มี บล.ฟินันเซีย ไซรัส ถือหุ้นอยู่ถึง 89.99% ซึ่งจากการตรวจสอบโครงสร้างผู้ถือหุ้นและฝ่ายจัดการของบริษัทดังกล่าว (บล.ฟินันเซียไซรัส) พบว่า มีนายชวัล เจียรวนนท์ ถือหุ้นอยู่ 1.63% และมีนายชัชวาล เจียนวนนท์ ประธานกรรมการบริหารทรูที่เป็นผู้ขอควบรวมกิจการดำรงตำแหน่งประธานกรรมการอยู่ด้วย จึงทำให้ บล.ฟินันซ่า ขาดคุณสมบัติในเรื่องความเป็นอิสระมาตั้งแต่ต้น
“การที่สำนักงาน กสทช.ดำเนินการว่าจ้างที่ปรึกษาอิสระดำเนินการศึกษาและจัดทำความเห็นประกอบรายงานการควบรวมธุรกิจจำเป็นต้องได้ที่ปรึกษาอิสระที่ไม่ถูกครอบงำ หรือมีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทที่ยื่นควบรวม ดังนั้นเมื่อ สำนักงาน กสทช.ว่าจ้างที่ปรึกษาที่มีส่วนได้ ส่วนเสีย และมีผลประโยชน์ทับซ้อนเช่นนี้ จึงทำให้รายงานของที่ปรึกษาอิสระที่นำเสนอไปยังสำนักงาน กสทช.ขาดความเป็นอิสระและมีประโยชน์ขัดแย้งชัดเจน ทำให้กระบวนการพิจารณาดีลควบรวมส่อเป็นโมฆะในทันที”
แหล่งข่าว เปิดเผยด้วยว่า ก่อนหน้านี้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่าง ทรูและดีแทคของสภาผู้แทนราษฎร เคยมีหนังสือ ลงวันที่ 20 เม.ย.65 ถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการให้ชะลอการควบรวมทรู-ดีแทค ในครั้งนี้ไว้ก่อน เพราะจากการศึกษาและตรวจสอบของคณะกรรมาธิการพบว่า คุณสมบัติของที่ปรึกษาอิสระที่สำนักงาน กสทช.ว่าจ้างอาจไม่มีความเป็นอิสระซึ่งกรรมาธิการได้มีการทักท้วงต่อผู้แทนสำนักงาน กสทช.ที่เข้าร่วมประชุมไปแล้ว
นอกจากนี้ ในขั้นตอนการทำงานของที่ปรึกษาอิสระกับสำนักงาน กสทช. ในฐานะผู้ว่าจ้างนั้น โดยปกติที่ปรึกษาจะต้องทำการศึกษาข้อมูลและให้ความเห็นต่างๆ ตามกรอบการทำงานที่สำนักงาน กสทช. กำหนดหรือแจ้งให้ทำ แต่ปรากฏว่า กรณีการว่าจ้าง บล.ฟินันซ่า ในครั้งนี้มีรายงานเล็ดรอดออกมาระบุว่าหลังจากที่ปรึกษาอิสระได้นำส่งรายงานความเห็นไปให้สำนักงาน กสทช. พิจารณา
โดยใช้เวลาดำเนินการศึกษาจัดทำรายงานเพียง 1 เดือนเท่านั้น แต่สำนักงาน กสทช.เห็นว่า ข้อมูลการศึกษาวิเคราะห์ในบางประเด็นยังไม่ครบถ้วน ขาดความสมบูรณ์และมีความโน้มเอียงเห็นด้วยกับกรณีควบรวมธุรกิจอย่างชัดเจนจนอาจส่งผลต่อการพิจารณาของ กสทช.จึงแจ้งให้ดำเนินการศึกษาเพิ่มเติม แต่ได้รับการปฏิเสธจากที่ปรึกษาอิสระที่อ้างว่าได้ดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายครบถ้วนแล้ว ทำให้สำนักงาน กสทช. ต้องจัดทำรายงานเพิ่มเติมขึ้นมาเอง (มติที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 14/2565 วันที่ 8 มิ.ย.65 ระเบียบวาระที่ 5.12 และ มติที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 16/2565 วันที่ 29 มิถุ.ย.65 ระเบียบวาระที่ 5.29)
“ดังนั้น รายงานของที่ปรึกษาอิสระที่ขาดคุณสมบัติ และยังขาดความครบถ้วนของข้อมูลซึ่งถือเป็นสาระสำคัญ แม้ในภายหลังสำนักงาน กสทช.จะจัดทำรายงานเพิ่มเติมขึ้นมาเอง แต่ก็เป็นความเห็นของสำนักงาน กสทช. เองมิใช่รายงานของที่ปรึกษาอิสระตามวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของตามประกาศฯ ดังนั้นหาก กสทช.ยังคงเดินหน้าพิจารณากรณีดีลควบรวมทรู-ดีแทค ไปตามกรอบและข้อมูลที่ที่ปรึกษาอิสระและคณะทำงาน กสทช.สรุปขึ้นมา ย่อมเป็นการพิจารณาดีลควบรวมทรู-ดีแทค ที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่ประกาศกำหนด มติใดๆ ที่ออกมาจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่อโมฆะยกแผง”
เอกสาร กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่าง ทรูและดีแทคของสภาผู้แทนราษฎร