วันนี้ 29 สิงหาคม พันเอกเศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร ในฐานะอดีตรองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงกรณี ศ.(คลินิก) นพ. สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช.ออกบันทึกถึงเลขาธิการ กสทช.เรื่องการเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์กรณีการควบรวม หลังจากที่มีการเผยแพร่ข่าว ในหัวข้อ “5 Facts กรณีควบรวมทรู-ดีแทค” อ้างที่มาจาก กสทช. ว่า การที่ประธาน กสทช. ตอกย้ำความสำคัญเรื่องการเปิดเผยข้อมูลนั้น ถือเป็นเรื่องดีและทำถูกต้องแล้ว เพราะหากข้อมูลที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ข้อมูลที่ยังไม่ได้รับการลงมติ และ ข้อมูลที่อาจขาดความครบถ้วน หรือ การอ้างถึงข้อเท็จจริง อาจจะทำให้สังคมเข้าใจคลาดเคลื่อน
ซึ่งที่ผ่านมา กสทช. ก็ได้ออกประกาศ ข้อบังคับการประชุม กสทช. ปี 2555 กล่าวถึง ความเหมาะสมในการเผยแพร่ข้อมูล เช่น ถ้าข้อมูลอยู่ระหว่างการพิจารณา หาก กสทช. ท่านใดท่านหนึ่ง รีบนำเสนอข้อมูลออกมา จะเป็นการกดดันการพิจารณาหรือไม่ นอกจากนี้ ข้อบังคับ กสทช. ยังพูดถึงข้อมูลที่เป็นความลับทางการค้า หากนำเสนอ จะกระทบต่อผู้ถือหุ้นของผู้เสียหายหรือไม่ อันนี้ กรรมการ กสทช. ควรศึกษา ระเบียบเหล่านี้ให้รอบคอบ ซึ่ง การที่ ประธาน กสทช ออกมาดำเนินการ ตั้งทีมตรวจสอบที่มา ก็ถือได้ว่า เป็นกระบวนการที่สมควรทำ และถูกต้อง
อนึ่งเมื่อ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา ประธาน กสทช. ได้ออกบันทึก โดยระบุว่า “ด้วยปรากฎข้อเท็จจริงว่าในวันที่ 26 สิงหาคม 2565 สื่อหลายสำนักได้ออกข่าวเผยแพร่ข้อมูลที่มีการกล่าวอ้างว่า กสทช. ได้มีการเปิดเผยข้อมูลสำคัญจำนวน 5 เรื่อง ให้สาธารณะรับรู้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงความชัดเจน โปร่งใส และนโยบายภาครัฐที่เปิดกว้าง ในกรณีการขอควบรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) พร้อมทั้งปรากฎอินโฟกราฟิกส์ที่จัดทำโดยสำนักงาน กสทช. ประกอบข่าว
เนื่องจากที่ผ่านมา กสทช. ยังไม่เคยมีมติ และไม่เคยเห็นชอบให้มีการเผยแพร่ข้อมูลในลักษณะที่เป็นประเด็นทางกฎหมาย จึงขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และแก้ไขให้ถูกต้องเพื่อมิให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน นอกจากนี้ ขอให้ถือเป็นแนวปฏิบัติว่าการเผยแพร่ข้อมูลหรือสื่อประชาสัมพันธ์ใดๆ ของ กสทช. จะต้องได้รับความเห็นชอบจากประธาน กสทช. ก่อนเท่านั้น หากการเผยแพร่ข้อมูลหรือสื่อประชาสัมพันธ์นั้นเป็นการดำเนินการโดย กรรมการ กสทช. ท่านหนึ่งท่านใดเป็นรายบุคคล ให้ระบุชัดเจนว่าเป็นการดำเนินการในนามของ กรรมการ กสทช. ท่านนั้น ๆ
ทั้งนี้ ระเบียบกสทช.ว่าด้วยข้อบังคับการประชุม พ.ศ. 2555 ข้อ 37 ระบุว่า รายงานการประชุมที่รับรองแล้วให้สามารถเปิดเผยได้ เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) เรื่องที่คณะกรรมการเห็นว่าเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติ
(2) เรื่องที่คณะกรรรมการเห็นว่าเกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี ของประชาชน และยังไม่เหมาะสมที่จะเปิดเผยในเวลานั้น
(3) เรื่องที่คณะกรรมการเห็นว่าเป็นความลับทางการค้า
(4) เรื่องที่คณะกรรมการเห็นว่าประเด็นที่ขอให้มีการเปิดเผยนั้น ที่ประชุมยังพิจารณา ไม่แล้วเสร็จ
(5) เรื่องอื่นใดที่กรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนกรรมการทั้งหมดเห็นว่าไม่สมควร เปิดเผย
(6) เรื่องที่มีลักษณะตามที่กฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารของราชการกําหนดมิให้ต้องเปิดเผย
ประเด็นใดเป็นกรณีตาม (1) (2) (3) (4) และ (6) ให้คณะกรรมการมีมติเห็นชอบ ให้รายงานการประชุมแบบจดรายงานการประชุมเป็นฉบับที่เปิดเผยได้ สำหรับรายงาน การประชุมแบบบันทึกเสียงลงสื่อบันทึกเสียง ให้สำนักงานเก็บไว้สำหรับใช้เพื่อการอ้างอิงในภายหลังเท่านั้น.