“ชัยวุฒิ “โชว์ โดรน ดู พยูน คว้ารางวัล UN ส่งเสริมชุมชนใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

02 ก.ย. 2565 | 07:24 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ก.ย. 2565 | 14:37 น.

“ชัยวุฒิ “โชว์ โดรน ดู พยูน หลังคว้ารางวัล UN ช่วยให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 2 ล้านบาทต่อปี และลดต้นทุนได้มากกว่า 1.96 แสนบาทต่อเดือน

วันที่ 2 กันยายน 2565    นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พร้อมด้วย ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า และคณะผู้บริหารกระทรวงดิจิทัลฯ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการส่งเสริมและสนับสนุนนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อชุมชนตำบลเกาะลิบง จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นการบูรณาการการทำงานระหว่าง ดีป้า วิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวและพัฒนาอาชีพเกาะลิบง และ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) โดยมี นายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง และ นายอิสมาแอน เบ็ญสะอาด ประธานวิสาหกิจชุมชนฯ รวมถึงประชาชนในพื้นที่ร่วมให้การต้อนรับ

สำหรับโครงการส่งเสริมและสนับสนุนนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อชุมชนตำบลเกาะลิบง จังหวัดตรัง ได้รับรางวัลระดับนานาชาติ United Nations Public Service Awards 2022 (UNPSA 2022) ในสาขาที่ 1 การส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อส่งมอบบริการที่ครอบคลุมและมีความเสมอภาคเป็นธรรม เนื่องในวัน United Nations Public Service Day เมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งรางวัลดังกล่าวถือเป็นรางวัลเชิดชูเกียรติงานบริการภาครัฐที่เป็นเลิศ ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค และ ระดับประเทศในสาขาต่าง ๆ ให้กับหน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานส่วนภูมิภาคของประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติทั่วโลกที่ผ่านการประเมิน

 

กระทรวงดีอีเอส

 

โดรน

โดย นายชัยวุฒิ ได้รับฟังสภาพปัญหาของชุมชนก่อนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจาก ประธานวิสาหกิจชุมชนฯ รวมถึงแนวทางการส่งเสริมให้ชุมชนเกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลจาก ดีป้า จากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ ได้รับชมการสาธิตการใช้งานโดรนและการส่งสัญญาณภาพจากผู้แทนชุมชน ก่อนนั่งเรือหางยาวออกไปชมพะยูนผ่านการชี้พิกัดจากโดรน

 

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า การดำเนินงานทั้งหมดถือเป็นการตอกย้ำความสำเร็จด้านการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่ง กระทรวงดิจิทัลฯ โดย ดีป้า พร้อมเดินหน้าส่งเสริมให้ทุกชุมชนทั่วประเทศสามารถเข้าถึงและเลือกประยุกต์ใช้เทคโนยีดิจิทัลที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐานจากดิจิทัลสตาร์ทอัพสัญชาติไทยหรือ

ผู้ให้บริการดิจิทัลที่เชื่อถือได้ เพื่อต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น พัฒนาขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง มั่นคง เติบโตได้อย่างยั่งยืน รองรับชีวิตวิถีใหม่ และก้าวข้ามวิกฤตเศรษฐกิจที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ อีกทั้งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผลงานดังกล่าว จะช่วยจุดประกายเรื่องการพัฒนาบริการภาคประชาชนของประเทศให้กับหน่วยงานอื่นต่อไป

 

ด้าน ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวว่า ดีป้า ส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชนฯ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีโดรนเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและชายฝั่ง รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยการบินสำรวจตำแหน่งและจำนวนของฝูงพะยูน เพื่อตรวจสอบจำนวนและวางแผนอนุรักษ์แทนการใช้เรือประมงออกตระเวน ซึ่งขาดความแม่นยำและสิ้นเปลืองพลังงาน พร้อมกันนี้ยังมีการจัดทำแนวทางการใช้โดรนบินเก็บภาพพะยูนก่อนส่งสัญญาณภาพกลับมายังชมรม

การท่องเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาชุมชน เกาะลิบง เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เห็นฝูงพะยูนผ่านหน้าจอโปรเจคเตอร์แบบเรียลไทม์ ซึ่งช่วยดึงดูดความสนใจจากนักท่องเที่ยว และอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวบางกลุ่มที่ไม่สะดวกขึ้น-ลงเรือ ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุและผู้พิการ นอกจากนี้ยังช่วยเฝ้าระวังการลักลอบล่าพะยูน และการทำประมง ผิดกฎหมายที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อหญ้าทะเลและทรัพยากรชายฝั่ง

​  “เวลาที่ผ่านมา ดีป้า ได้ส่งเสริมให้สมาชิกในชุมชนเลือกเทคโนโลยีที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และเหมาะสมกับบริบทของชุมชนมาประยุกต์ใช้ โดยมีการถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านกิจกรรมฝึกอบรมให้กับสมาชิกในชุมชนได้มีทักษะการบังคับ บินโดรน และได้รับใบอนุญาตที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งทั้งหมดถือเป็นการส่งเสริมทุนทางสังคม ทำให้ชุมชนเกิดการพึ่งพาตนเอง และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากนี้ยังช่วยให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 2 ล้านบาทต่อปี  ลดต้นทุนการประกอบธุรกิจเรือท่องเที่ยว และค่าใช้จ่ายในการลาดตระเวนหาจุดที่พะยูนอาศัย รวมมูลค่ากว่า  1.96 แสนบาทต่อเดือน” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว ด้านนาย ‘บังแอน’ หรือ อิสมาแอน  เบ็ญสะอาด  ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวและพัฒนาอาชีพเกาะลิบง จังหวัดตรัง กล่าวว่า ขอขอบคุณรัฐบาล เเละรัฐมนตรี ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ที่ลงมาดูปัญหาเเละส่งเสริมชุมชุนจากโครงการประชารัฐ จนถึงขณะนี้ ชุมชนสามารถพี่งพาตนเองได้ เป็นชุมชน ที่สร้างเศรษฐกิจดิจิทัล ให้เกิดขึ้นในชุมชน เเละสร้างความเท่าเทียมในการท่องเที่ยวให้กับประชาชนด้วย.