ถึงตอนนี้ต้องบอกว่าธุรกิจโลจิสติกส์กำลังแข่งขันกันอย่างรุนแรง จากเดิมที่บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หรือ ปณท ผูกขาดแต่เพียงผู้เดียว หากแต่ในปัจจุบันมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นอีกหลายรายแต่ดูเหมือนว่าคู่แข่งที่ออกตัวแรงสุดหนีไม่พ้น บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด ให้บริการภายใต้ชื่อ “เคอรี่” และ ตามมาด้วย บริษัท ไดนามิค ลอจิสติกส์ จำกัด ส่งบริการขนส่งพัสดุในชื่อ “SPEED-D (สปีด-ดี)
เป็นผลให้ ไปรษณีย์ไทย ต้องปรับตัวอย่างหนักเพราะกระแสของอี-คอมเมิร์ซ กำลังเติบโตต่อเนื่องโดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็ตด้า
คาดการณ์ตลาดอี-คอมเมิร์ซ ปีนี้มีมูลค่า 3,058,987.04 ล้านบาท เติบโต 8% จากปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการแข่งขันเรื่องค่าขนส่ง และความรวดเร็วในการรับ-ส่งของ
อย่างไรก็ตาม “ฐานเศรษฐกิจ” ฉบับนี้ได้นำเสนอราคาค่ากล่อง ค่าจัดส่งของแต่ละ แบรนด์แตกต่างกันอย่างไร ติดตามอ่านได้จากบรรทัดถัดจากนี้
ปณท เปิดเสรีฟรีกล่อง
สำหรับ ไปรษณีย์ไทย นั้นจุดแข็งอยู่ที่ประสบการณ์ทางธุรกิจเพราะเปิดให้บริการเป็นรายแรกของประเทศ มีสาขาถึง 1,300 แห่งรวมกับไปรษณีย์เอกชนมีจำนวนทั้งสิ้น 5,000 แห่ง ที่สำคัญในขณะนี้ ไปรษณีย์ไทย ให้ความสำคัญในการส่งของแบบวันต่อวัน ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน พร้อมทั้งขยายเวลาไร้วันหยุดตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา วันธรรมดาปิดเวลา 20.00 น. ขณะที่สนามบินสุวรรณภูมิเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง
ในส่วนของกล่องบรรจุภัณฑ์นั้น ไปรษณีย์ ยกเว้นกล่องอื่นๆ ที่ลูกค้านำมาเองได้ฟรี แต่จะคิดค่าหุ้มห่อเพิ่มเท่านั้น ค่าจัดส่งแบบธรรมดาเริ่มต้น 25 บาท จัดส่งแบบด่วนพิเศษ (EMS)กรุงเทพฯและปริมณฑล ที่ได้รับสินค้าภายใน 1 วัน และสามารถเช็กสถานะของพัสดุได้เริ่มต้นที่ 35 บาทสูงสุด 177 บาท
“ผู้ส่งไม่จำเป็นใช้กล่องของไปรษณีย์ก็ได้ เราเปิดกว้างให้ลูกค้า ส่วนของที่ส่งนั้นคอนเซ็ปต์คือส่งของวันนี้ได้รับพรุ่งนี้ นั่นคือเป้าหมายของไปรษณีย์” นางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ ปณท กล่าว
เคอรี่ ชูเก็บเงินปลายทาง
สำหรับ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2549 ปัจจุบันมีสำนักงานกว่า 1,500 แห่งทั่วประเทศไทย โดยมีบริการจัดส่งพัสดุด่วนอย่างการจัดส่งภายในวันถัดไป (ND) ซึ่งครอบคลุมกว่า 99.9% ทั่วทุกพื้นที่ในประเทศ และกว่า 97% จัดส่งสำเร็จตั้งแต่ครั้งแรก
อย่างไรก็ตามในปี 2556 เคอรี่ เอ็กซ์เพรส ได้เริ่มให้บริการผ่านช่องทางต่างๆ ในกลุ่มเซ็กเมนต์บุคคล-ส่งถึง-บุคคล (C2C) โดยมีการเปิดให้บริการสาขาหรือร้านพาร์เซลช็อป (Parcel Shop) อีกทั้งบริการผ่านทางตู้ล็อกเกอร์ตามอาคารสำนัก งานและคอนโดมิเนียม อีกด้วย
สปีด-ดี บังคับใช้กล่อง
ดูเหมือนว่า สปีด-ดี น้องใหม่ในวงการโลจิสติกส์ถูกกล่าวถึงมากในขณะนี้เนื่องจากผนึกกำลังกับ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CP ALL นำร่องการให้บริการผ่านช่องทาง 7-11 จำนวน 3,000 สาขาทั่วกรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ
แม้จะให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง โดยชูจุดขายถึงปลายทางภายใน 1 วัน หากส่งของก่อน 3 ทุ่ม (21.00 น.) ของวันนี้สินค้า จะส่งไปถึงปลายทางในวันรุ่งขึ้นก่อน 6 โมงเย็น (18.00 น.) นอกจากนั้น ยังมีระบบติดตามสินค้า (tracking) ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งลูกค้าสามารถซื้อซองหรือกล่องใส่สินค้าเพื่อส่งได้ที่ร้านสะดวกซื้อของเซเว่น อีเลฟเว่นในสาขาที่ให้บริการ
แต่ สปีด-ดี มีข้อจำกัด คือ ลูกค้าจะต้องซื้อกล่องของ สปีด-ดี เท่านั้นเพื่อส่งสินค้าไปยังปลายทาง โดยอัตราค่าบริการ
เริ่มต้นตั้งแต่ 12 บาท (ซองกระดาษขนาด A4) บวกกับค่าส่งอีก 35 บาท ส่วนกล่องขนาดเล็กสุดไซซ์ S เริ่มต้นกล่องละ 10 บาท บวกกับค่าส่งอีก 79 บาท ขนาดกล่องที่ใหญ่สุดขนาด XL กล่องละ 30 บาท บวกกับค่าส่งอีก 119 บาท
อย่างไรก็ตามธุรกิจขนส่งสินค้านั้นรายได้ส่วนใหญ่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากกล่องบรรจุพัสดุภัณฑ์ เพราะถึงขนาดบางรายห้ามใช้กล่องอื่นๆ ที่ลูกค้านำมาเอง
รายงาน | หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,424 ระหว่างวันที่ 6-8 ธันวาคม 2561