กสทช. เร่งนำมติที่ประชุมกรณีเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz และเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ออกรับฟังความคิดเห็นฯ ปลายเดือนหน้า คาด เม.ย. 62 กระบวนการแล้วเสร็จ พร้อมจัดประมูล 5จี ในเดือน พ.ค.
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการ กสทช. ได้อภิปรายประเด็น (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง :
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz มาตรการทดแทน ชดใช้ หรือ จ่ายค่าตอบแทน และหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 700 MHz ซึ่งคณะกรรมการได้เห็นชอบร่วมกันในหลักการเกี่ยวกับหลักเกณฑ์มาตรการเยียวยาทีวีดิจิตอลและการเรียกคืนคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อนำมาจัดสรรใช้งานในด้านกิจการโทรคมนาคมสำหรับรองรับเทคโนโลยี 5G และการจ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งได้ให้นำข้อสังเกตไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ โดยประเด็นของมติที่ประชุมที่ได้มีการให้นำไปรับฟังความคิดเห็น คือ 1.เรื่องความชอบด้วยกฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดมาตรการเยียวยา ว่า อยู่ในอำนาจของ กสทช. ในการดำเนินการได้ครบถ้วนหรือไม่, 2.การกำหนดจำนวนใบอนุญาตของคลื่นความถี่ที่นำมาประมูล รวมถึงขนาดใบอนุญาตเท่าไหร่ แถบคลื่นความถี่ที่จะนำประมูล ราคาเริ่มต้น การให้บริการที่ครอบคลุมในพื้นที่ต่าง ๆ และระยะเวลาการดำเนินการของใบอนุญาตมีอายุกี่ปี ซึ่งเป็นประเด็นในมติที่ประชุมที่จะต้องนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป, 3.ให้มีการนำประเด็นเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาดังกล่าว ส่งให้อนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายพิจารณาคู่ขนานกันไปด้วย โดยให้มีการนำความเห็นของอนุฯที่ปรึกษากฎหมายนำความเห็นดังกล่าวไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย เพื่อให้การดำเนินการช่วยเหลือทีวีดิจิตอลดำเนินการได้รวดเร็ว และ 4.ให้ทางสำนักงาน กสทช. รวบรวมผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในประเด็นดังกล่าวมายกร่างเป็นประกาศ กสทช. เกี่ยวกับเรื่องหลักเกณฑ์การเยียวยาวและการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าว เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม กสทช. ต่อไป โดยขอให้ดำเนินการเป็นเรื่องเร่งด่วน
[caption id="attachment_374628" align="aligncenter" width="335"]
[/caption]
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้จะมีการแยก (ร่าง) ออกเป็น 2 ร่าง แต่มติที่ประชุมเห็นว่า เมื่อนำไปรับฟังความคิดเห็นฯ เป็นหลักเกณฑ์แล้ว จะนำเข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณาอีกครั้งนึง ว่า จะมีการแยกร่างหรือไม่ เนื่องจากหากมีการแยกร่างตอนนี้ จะทำให้การรับฟังความคิดเห็นฯ ล่าช้าออกไป จึงกำหนดให้อยู่ในร่างฉบับเดียวกัน ในส่วนของราคาการประมูลนั้น ขั้นต้นยังไม่มีราคาตั้งต้นการประมูล ซึ่งจากนี้ต้องนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะก่อน ในระหว่างนี้ก็จะมีการเร่งรัดต่อคณะกรรมการ หากยังไม่มีการกำหนดราคาเริ่มต้นการประมูล ภายหลังการรับฟังความคิดเห็นฯ ทุกคนเห็นด้วยหรือไม่ ถ้าไม่เห็นด้วย สำนักงานก็จะนำร่างที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของราคาประมูลส่งเข้าไปด้วยเพื่อความรวดเร็ว โดยร่างดังกล่าวระบุว่า ให้มีการชำระเงินเป็นจำนวน 9 งวด ในระยะเวลา 10 ปี โดยในปีแรกชำระ 20% และเว้นการชำระในปีที่ 2 หลังจากนั้นชำระงวดที่เหลือ 10% จนครบ
"ขณะนี้ทีวีดิจิตอลได้มีการชำระค่าคลื่นความถี่มาแล้วกว่า 60% โดยยังเหลืออยู่อีกกว่า 30% หรือราว 1.5 -1.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเมื่อมีการประมูลคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ แล้วรายได้จากการประมูลนั้นครอบคลุม ผู้ประกอบการก็จะไม่ต้องจ่ายในส่วนที่เหลือ"
อย่างไรก็ตาม สำหรับกรอบเวลาดำเนินการ ตั้งเป้าที่จะให้กระบวนการในการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ และมาตรการเยียวยาทีวีดิจิตอลผ่านในเดือน เม.ย. เพื่อให้สามารถจัดการประมูลได้ในเดือน พ.ค. 2562 นี้ ซึ่งระยะเวลาดำเนินการอาจจะเป็นช่วงปลายเดือน มี.ค. หรือต้นเดือน เม.ย. เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
โดยในเดือน เม.ย. จะมีประกาศเชิญชวน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะด้วย เบื้องต้น จำนวนคลื่นความถี่ที่จะนำมาประมูล คือ 35 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 7 ใบอนุญาต ที่ได้มีการนำไปรับฟังความคิดเห็นฯ ซึ่งการประเมินราคาจะมีการประกาศในภายหลัง ภายใต้การดำเนินการของคณะอนุกรรมการโทรคมนาคม โดยมี ผศ.ภักดี มะนะเวศ รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ เป็นประธาน ซึ่งหลักการสำคัญ คือ การนำเงินที่ได้จากการประมูลมาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งผู้ประกอบการและประชาชน ซึ่งคาดว่าจะมีการรับฟังความคิดเห็นได้ในช่วงปลายเดือน ก.พ. นี้ โดยจะมีการประกาศบนเว็บไซต์ในวันศุกร์ที่ 18 ม.ค. นี้