"ไพรซ์ซ่า-เจดีฯ" แนะกลยุทธ์ปรับตัวร้านค้าใน "มาร์เก็ตเพลส"

16 ม.ค. 2562 | 07:08 น.
อัปเดตล่าสุด :17 ม.ค. 2562 | 00:35 น.

สำหรับ "มาร์เก็ตเพลส" นั้น ถือเป็นช่องทางการขายสินค้าที่สำคัญสำหรับร้านค้าออนไลน์จำนวนมากในปัจจุบัน เพราะเป็นช่องทางที่ผู้บริโภคเข้ามาเยี่ยมชมมากที่สุดช่องทางหนึ่ง ดังนั้น หากร้านค้าเข้าใจถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เข้ามาซื้อสินค้าในมาร์เก็ตเพลส เข้าใจเกณฑ์การคัดเลือกและแสดงผลต่าง ๆ ของมาร์เก็ตเพลส และรู้จักคู่แข่งในตลาด ก็จะช่วยให้ร้านค้าปรับกลยุทธ์ของตัวเองได้ง่ายขึ้น

ทั้งนี้ บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด ผู้ให้บริการเว็บไซต์และแอพพลิเคชัน "Priceza" เครื่องมือค้นหาสินค้าและบริการเปรียบเทียบราคา (Shopping Search Engine) จึงได้จัดเสวนาหัวข้อ "การปรับตัวของร้านค้าในมาร์เก็ตเพลส" ในงาน "Priceza E-Commerce Trends : The Infinity of E-Commerce Wars 2019" เพื่อช่วยให้เหล่าร้านค้าในมาร์เก็ตเพลสเข้าใจ "หัวใจ" ของการปรับกลยุทธ์ธุรกิจในมาร์เก็ตเพลส


02.วัชระ นิวาตพันธุ์ ประธานฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ และผู้ร่วมก่อตั้ง (CPO) บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด

นายวัชระ นิวาตพันธุ์ ประธานฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์และผู้ร่วมก่อตั้ง (CPO) บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด
เผยว่า มาร์เก็ตเพลสมีส่วนช่วยให้ตลาดอี-คอมเมิร์ซเติบโตขึ้น เนื่องจากมีผู้ค้ารายย่อยที่พร้อมเดินเข้ามาฝากร้านเป็นจำนวนมาก เพราะไม่ต้องลงทุนมากและผู้ซื้อพร้อมจะแวะเข้ามาช็อปปิ้งออนไลน์ทุกเมื่อที่ต้องการ โดย Feedback ของนักช็อปออนไลน์ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า คนกลุ่มนี้มีความสุขที่สุดเมื่อสินค้ามาถึงหน้าประตูบ้าน จากนั้นเป็นเรื่องของการ "ลุ้น" ว่า สินค้าที่ได้จะเป็นของปลอมหรือไม่ แต่สุดท้ายแล้ว พวกเขาก็จะไปช็อปออนไลน์กันต่อ เพื่อเติมเต็มความสุขอีกครั้ง ไม่เพียงแต่ผู้ค้ารายย่อยจะกระโดดลงสู่สนามมาร์เก็ตเพลส แม้กระทั่งผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่ดั้งเดิมอย่าง บิ๊กซี เทสโก้ หรือ ท็อปส์ ก็ยังก้าวเข้ามาเปิดร้านในสนามมาร์เก็ตเพลส เพื่อให้ผู้บริโภคช็อปได้สะดวกขึ้น มีการให้บริการการขายและหลังการขายที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ร้านค้าจำนวนหนึ่งใช้ช่องทางแอพพลิเคชันแชทต่าง ๆ เข้ามาช่วยบริการ มัดใจผู้บริโภค


Priceza-JD Central

"ที่สุดแล้ว การปรับตัวของร้านค้าในมาร์เก็ตเพลส คือ 1.การเอาใจใส่ลูกค้าเป็นอย่างดี ตั้งแต่เรื่องของรูปภาพสินค้า รวมถึงคำอธิบายรายละเอียดสินค้าที่ไม่เวอร์เกินจริง รู้ลึกรู้จริงในสินค้านั้น ๆ และที่สำคัญจัดโปรโมชั่นถี่ ๆ เพื่อจูงใจการเข้ามาช็อปอีกทางหนึ่ง 2.การตอบกลับ Chat ที่รวดเร็ว ไม่ว่าจะช่องทาง LINE, Messenger หรือ Instagram เพราะหากลูกค้าแชทถาม แสดงว่าเขาสนใจ และลูกค้ามักคาดหวังการตอบกลับเพียงหลักวินาทีต่อวินาทีเท่านั้น หากร้านไหนตอบเร็ว มักส่งผลต่อการตัดสินใจซื้ออย่างรวดเร็วเช่นกัน 3.การจัดส่งสินค้าอย่างรวดเร็ว เป็นอีกสิ่งที่มัดใจลูกค้าสายออนไลน์เช่นกัน" วัชระ กล่าวเพิ่มเติม


03.บูม หมู่ศิริเลิศ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด เจดี เซ็นทรัล




ด้าน นายบูม หมู่สิริเลิศ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด เจดี เซ็นทรัล
มาร์เก็ตเพลสยักษ์ใหญ่รายใหม่ของตลาด เสริมว่า หากย้อนไปเมื่อก่อน ลูกค้าจะเป็นฝ่ายวิ่งมาซื้อสินค้าที่สโตร์ แต่ปัจจุบัน สินค้าต้องวิ่งหาลูกค้าแล้ว เนื่องจากพฤติกรรมการช็อปของลูกค้าเปลี่ยนไป ต้องการซื้อง่าย จ่ายง่าย แบบไม่เสียเวลาเดินทาง ร้านค้าปลีกจึงต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว รวมถึงการเข้ามาใช้พื้นที่แพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลส

สำหรับแนวทางของมาร์เก็ตเพลสอย่าง เจดี เซ็นทรัล จะเน้นรวบรวมสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการครอบคลุมผู้บริโภคทุกกลุ่ม เช่น เสื้อผ้าแฟชั่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อาหารและเครื่องดื่ม สุขภาพและความงาม ของใช้ในบ้าน อุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ เป็นต้น ผ่านกลยุทธ์หลัก คือ คุณภาพสินค้าต้องเป็น "ของแท้ 100%" สิ่งที่เห็นกับสิ่งที่ได้ต้องเป็นสิ่งเดียวกัน นี่คือ ปมปัญหา (Paint Point) สำคัญ ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อเป็นอันดับแรก ดังนั้น การคัดเลือกผู้ค้ามาอยู่บนมาร์เก็ตเพลสจึงต้องเข้มงวดเป็นพิเศษ พร้อมการการันตีที่โดนใจ "หากเจอสินค้าปลอม คืนเงินให้ 3 เท่า"


บาร์ไลน์ฐาน

นอกจากนี้ ยังวางแผนเพิ่มบริการการจัดส่งสินค้าให้ได้ภายวันเดียว (Same Day Delivery) เนื่องจากนักช็อปออนไลน์จะรู้สึกเซอร์ไพรส์ที่สุดหากสินค้ามาถึงมืออย่างรวดเร็วและสมบูรณ์ และจะเกิดการรีวิวในทางบวก เกิดกระแสความนิยมชมชอบ และลูกค้าจะรู้สึกเชื่อมั่นมากขึ้นหากร้านนั้นมีการคอมเมนต์หรือรีวิวในทางที่ดี

ในยุคที่ "ลูกค้าเป็นใหญ่" พฤติกรรมการช็อปเปลี่ยนไปตลอดเวลา ความเข้าใจต่อ "หัวใจ" ของการขายสินค้าบนมาร์เก็ตเพลส คือ สิ่งที่จำเป็น หากใครมีลูกเล่นที่แพรวพราว ตามเทรนด์ผู้บริโภคทัน และใช้เทคโนโลยีเป็น การเติบโตบนช่องทางออนไลน์ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

595959859