ไม่กี่ปีมานี้สตาร์ตอัพสายสุขภาพ หรือ Health Tech Startup มีการเติบโตมากขึ้น โดยการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน รวมถึงนักลงทุนที่มองการลงทุนในเฮลท์เทคที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมมากกว่าผลตอบแทนด้านตัวเงินเพียงอย่างเดียว ทำให้อุตสาหกรรมเฮลธ์เทคเริ่มที่จะมองเห็นการเติบโตได้ค่อนข้างชัดเจนมากขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีเฮลธ์เทคสตาร์ตอัพเกิดขึ้นในตลาดกว่า 50 ราย Ooca เป็นหนึ่งสตาร์ตอัพสายสุขภาพ โดยแพลตฟอร์มวิดีโอคอลล์ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต ซึ่งเป็นปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบัน ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตเผยว่า ภาวะโรคซึมเศร้าเป็นปัญหาที่สำคัญของเด็กและเยาวชนในช่วงอายุ 10-24 ปี ขณะที่บริการสาย
ด่วนสุขภาพจิตมีผู้ที่ติดต่อเข้ามาขอรับคำปรึกษากว่าปีละ 800,000 สาย แต่ระบบสามารถรองรับการให้บริการได้เพียงปีละประมาณ 200,000 สาย
ทพญ.กัญจน์ภัสสร สุริยา-แสงเพ็ชร์ ผู้ก่อตั้ง Ooca หรือ อูก้า เทคสตาร์ตอัพด้านสุขภาพ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มของเฮลธ์เทคสตาร์ตอัพที่ทำธุรกิจมาประมาณ 1-2 ปี ก็เริ่มเห็นการเติบโตที่ค่อนข้างชัดเจน แต่บางรายที่ทำได้ไม่นานก็จะเห็นว่าเริ่มชะลอธุรกิจไป สำหรับอูก้านั้นให้บริการดูแลสุขภาพจิตของคนในองค์กร และขยายบริการการดูแลไปในลูกค้ากลุ่มบริษัทนํ้ามัน กลุ่มธนาคาร จากปีที่ผ่านมาอูก้ามีอัตราการเติบโตของธุรกิจประมาณ4 เท่า มีแพทย์และนักจิตวิทยาที่ให้คำปรึกษาบนแพลตฟอร์มของอูก้าปัจจุบันมีกว่า 50 คน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณ 2 เท่า มีผู้ใช้งานทั้งหมดราว 52,000 ราย มีพันธมิตรองค์กรทั้งภาครัฐ และเอกชน ซึ่งสิ้นปีนี้อูก้าตั้งเป้าผู้ใช้งานในส่วนขององค์กรเพิ่มขึ้นจาก 16,000 คน เป็น 60,000 คน รวมถึงมีความตั้งใจที่จะพัฒนาระบบให้มีเสถียรภาพมากขึ้นเพื่อเตรียมที่จะขยายตลาดไปต่างประเทศ คาดว่าจะเริ่มที่ประเทศสิงคโปร์เป็นประเทศแรก โดยแพทย์หรือนักจิตวิทยาที่จะเข้ามาให้บริการก็จะมีความหลากหลายและนานาชาติมากขึ้น
“ตอนนี้อูก้ามีการระดมทุนอยู่ในระดับซีด ซึ่งปีที่ผ่านมามูลค่าบริษัทอยู่ที่ประมาณ 70 ล้านบาท และในปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมหลายเท่า จากปัจจัยที่กระตุ้นให้คนเข้ามาใช้งานจากความสำคัญของปัญหาด้านสุขภาพจิต รวมถึงเราเป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่งอูก้าสามารถตอบโจทย์การใช้งานของคนที่อยากจะใช้ได้จริง”
อย่างไรก็ตามในปีนี้อูก้า ได้ขยับขยายมาดูแลในกลุ่มนักศึกษาระดับปริญญาตรีเพิ่มขึ้น ซึ่งล่าสุด ได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับกรมสุขภาพจิต เพราะเล็งเห็นว่าเด็กควรจะได้รับการช่วยเหลือ แต่ไม่ใช่เด็กทุกคนจะมีกำลังในการจ่าย จึงได้เริ่มโครงการซีเอสอาร์นี้ขึ้น ภายใต้ชื่อโครงการ กำแพงพักใจ เพื่อช่วยเหลือให้เด็กๆ สามารถเข้ามาใช้ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จากการปรับโมเดลธุรกิจในระบบหลังบ้าน ที่นำส่วนที่ทำรายได้ของอูก้ามาเป็นค่าใช้จ่ายในโครงการ และบางส่วนได้รับบริจาคจากองค์กรต่างๆ เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้วยการขอความร่วมมือจากภาคสังคมที่อยากช่วยเหลือเด็กให้สามารถเข้ามาใช้บริการ ซึ่งได้นำร่องแล้ว 4 มหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, มหาวิทยาลัยมหิดล, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยพะเยา ส่วนมหาวิทยาลัยอื่นที่ยังไม่ได้มีการลงนามก็สามารถส่งคำขอเป็นรายบุคคลเข้ามาและยืนยันตัวตนนักศึกษาเพื่อขอรับบริการได้ สำหรับโครงการนี้ตั้งเป้าจำนวนนักศึกษาที่คาดว่าจะดูแลได้ประมาณ 50,000 คน
“สำหรับโครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่เปิดให้บริการทดลองใช้ฟรีในช่วง 1 ปีแรก ซึ่งหลังจากนั้น หากมหาวิทยาลัยมีความชื่นชอบหรือต้องการที่จะใช้งานต่อก็จำเป็นที่จะต้องมีการจัดตั้งงบประมาณเข้ามาดูแล เพราะอูก้าไม่สามารถให้บริการฟรีได้ตลอดไป แต่ในช่วงปีแรกคือเราต้องการให้เห็นว่ามันได้ประโยชน์จริงๆ”
บทสัมภาษณ์โดย : ภาพิมล ธนรุ่งเจริญกิจ
หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3492 ระหว่างวันที่ 1 - 3 สิงหาคม 2562