สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ร่วมกับกรมการปกครอง กรมการขนส่งทางบก และสำนักงานประกันสังคม ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง การพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยรูปแบบบัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือที่เรียกในชื่อ Mobile ID หรือ “แทนบัตร” พร้อมสาธิตระบบแทนบัตรครั้งแรกกับเอไอเอส และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ณ สำนักงาน กสทช.
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเตรียมการพัฒนาประเทศไปสู่ยุคสังคมเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในฝั่งการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เริ่มมีภาคการเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง การดูแลความปลอดภัยส่วนบุคคลจึงมีความสำคัญมากขึ้น ที่ผ่านมาสำนักงาน กสทช. จึงได้พัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยรูปแบบบัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือที่เรียกในชื่อ Mobile ID หรือ “แทนบัตร” โดยเริ่มทดสอบกับบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เพื่อเตรียมรองรับการทำธุรกรรมยุคดิจิทัลให้มีความสะดวก และปลอดภัย ซึ่งขณะนี้มีความพร้อมที่จะขยายการให้บริการ Mobile ID ในระยะทดสอบไปยังหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กรมการปกครอง กรมการขนส่งทางบก และสำนักงานประกันสังคม เพื่อร่วมกันพัฒนาการให้บริการกับประชาชนและส่งเสริมการใช้ดิจิทัลไอดีในอนาคต
“การร่วมมือกันระหว่าง 3 หน่วยงานภาครัฐที่จะพัฒนาใช้งานระบบ Mobile ID ในระยะทดสอบ จะเป็นการส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ในการให้บริการกับประชาชน โดยประชาชนจะสามารถทำธุรกรรมกับหน่วยงานภาครัฐโดยใช้ Mobile ID แทนบัตรประชาชน และหน่วยงานภาครัฐสามารถนำระบบ Mobile ID ไปให้บริการประชาชนผ่านช่องทางออนไลน์ได้มากขึ้น” นายฐากร กล่าว
ด้านนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า รูปแบบการใช้งานระบบ Mobile ID ที่ถูกออกแบบขึ้นมานั้น ในเบื้องต้นจะสามารถใช้ได้กับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เครือข่าย AIS โดยในระยะทดสอบทดลองนี้จะมีการทดลองการลงทะเบียนสมัครใช้ที่ศูนย์บริการ จากนั้นจะมีการสร้างรหัสคิวอาร์โค้ดส่วนบุคคลซึ่งมีข้อมูล ชื่อ นามสกุล เลขบัตรประจำตัวประชาชน หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ และรหัสใบหน้า และจะมีการทดสอบทดลองการใช้ Mobile ID ในการเข้าทำธุรกรรมที่ธนาคารกรุงเทพ โดยใช้ข้อมูลในคิวอาร์โค้ดเปรียบเทียบกับข้อมูลภาพใบหน้าจริงเพื่อยืนยันว่าเป็นบุคคลเดียวกัน ซึ่งจะส่งผลประโยชน์โดยตรงในการพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคลยังเป็นการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลของผู้ใช้บริการด้วย โดยจะมีการทดสอบทดลองภายในระหว่าง AIS และธนาคารกรุงเทพก่อนในช่วง Sandbox และจึงมีการประเมินผลก่อนเปิดให้บริการกับประชาชนต่อไป
ด้านนายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า สำหรับความร่วมมือในโครงการ Mobile ID นี้ ถือว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการให้บริการด้านต่างๆ ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ และอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในการเข้าถึงสิทธิประกันสังคมให้เร็วขึ้น ง่ายขึ้น ทุกที่ ทุกเวลา ตลอดจนสามารถลดเอกสารที่จำเป็นต้องใช้ลงได้โดยเฉพาะบัตรประจำตัวประชาชน โดยการพิสูจน์และยืนยันตัวตนนั้น จะสามารถยืนยันความเป็นเจ้าของสิทธิ์ที่แท้จริงได้ สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในการรับบริการต่างๆจากสำนักงานประกันสังคม
ขณะที่นายวีนัส สีสุข รองอธิบดีกรมการปกครอง กล่าวว่า กรมการปกครองถือเป็นศูนย์ข้อมูลทะเบียนราษฎรของประชาชนทั้งประเทศ การดำเนินงานร่วมกับสำนักงาน กสทช. ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะมีการเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกัน และการใช้ Mobile ID จะสามารถยืนยันตัวตนของประชาชนที่มาใช้บริการกับกรมการปกครองได้อย่างถูกต้อง ถือเป็นก้าวแรกในการเริ่มทำธุรกรรมโดยไม่ต้องใช้บัตรประจำตัวประชาชน ทั้งยังจะสามารถให้บริการประชาชนผ่านช่องทางออนไลน์ได้มากขึ้น
นายกึกก้อง รักเผ่าพันธุ์ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นับเป็นโอกาสอันที่ดีที่ธนาคารกรุงเทพได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบดังกล่าวร่วมกับภาคอุตสาหกรรมโทรคมนาคมตั้งแต่เริ่มโครงการ เพื่อความปลอดภัยในการให้บริการทางการเงิน มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่ธนาคารจะต้องยืนยันตัวบุคคลของลูกค้าได้อย่างถูกต้องก่อนทำธุรกรรม ในขณะเดียวกันยังเป็นการเพิ่มความมั่นใจและความน่าเชื่อถือให้กับสถาบันการเงินในการให้บริการได้เพิ่มมากยิ่งขึ้น
“ธนาคารกรุงเทพให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงความปลอดภัย และความถูกต้องของข้อมูลลูกค้าผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าบุคคล หรือลูกค้าผู้ประกอบการภาคธุรกิจต่างๆ ซึ่งโครงการ Mobile ID นี้ อยู่ภายใต้ความร่วมมือในการพัฒนาระบบร่วมกับสำนักงาน กสทช. และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (เอไอเอส) ที่จะตอบโจทย์ความต้องการของธนาคารกรุงเทพในเรื่องดังกล่าว โดยในระยะแรกธนาคารจะเริ่มทดลองระบบ Mobile ID ในส่วนหนึ่งของขั้นตอนการเปิดบัญชีเงินฝากธนาคาร โดยมีสาขาที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 10 สาขา หากผลการทดสอบเป็นที่น่าพอใจ ธนาคารจะพิจารณาในการให้บริการแก่ลูกค้าทั่วไป ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2563” นายกึกก้อง กล่าว