เดินหน้าพัฒนาระบบ Mobile ID

11 มี.ค. 2563 | 06:57 น.

สานต่อโครงการดึงกรมสรรพกร-แคท และ ไปรษณีย์ไทย ร่วมวง

นายฐากร  ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาสำนักงาน กสทช. ได้พัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยรูปแบบบัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ “แทนบัตร” หรือ Mobile ID ร่วมกับ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้ดำเนินการแล้วเสร็จและมีการทดสอบทดลองขั้นต้นเรียบร้อยแล้ว ต่อมาสำนักงาน กสทช. ได้จัดทำความร่วมมือเพิ่มเติมกับกรมการปกครอง กรมการขนส่งทางบก และสำนักงานประกันสังคม เพื่อนำระบบ “แทนบัตร” หรือ Mobile ID ไปพัฒนาต่อและประยุกต์ใช้ภายใต้ภารกิจต่าง ๆ ของแต่ละหน่วยงาน และวันนี้สำนักงาน กสทช. พร้อมแล้วที่จะขยายการทำงานร่วมกันกับ AWN และธนาคารกรุงเทพ ทำการทดสอบทดลองอย่างต่อเนื่องในระยะ Sandbox เพื่อเตรียมขยายการทดสอบทดลองให้กับประชาชน อีกทั้งยังขยายความร่วมมือเพิ่มเติมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่นๆ โดยคาดว่าจะสามารถทยอยเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการ “แทนบัตร” หรือ “Mobile ID” กับบริการภาครัฐ และเอกชนต่าง ๆ ภายในไตรมาส 2 ของปี 2563 ได้แก่ กรมสรรพากร บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จํากัด นอกจากนั้น สำนักงาน กสทช. จะร่วมหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยและสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA เรื่องการพัฒนามาตรฐานการพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยระบบ Digital ID ที่ควรมีการเชื่อมโยงกันระหว่างอุตสาหกรรมการธนาคารและอุตสาหกรรมโทรคมนาคมต่อไป

 

ขณะที่นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า สำหรับการเข้าร่วมพัฒนาโครงการ Mobile ID ระยะทดสอบ ในครั้งนี้ ทางกรมสรรพากรจะนำระบบมาใช้สำหรับการพัฒนาการให้บริการประชาชนในด้านต่าง ๆ เช่น การยื่นแบบชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาผ่านทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน ซึ่งต่อไปในอนาคตกรมสรรพากรจะต่อยอดพัฒนานำระบบ Mobile ID ไปใช้ในการบริการอื่น ๆ ต่อไป เช่น ระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ และการพิมพ์ใบเสร็จรับเงิน เป็นต้น

 

ด้านพันเอกสรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT กล่าวว่า CAT เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนา Digital ID Platform ของประเทศไทยโดย Mobile ID ถือเป็นหนึ่งทางเลือกที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมควรร่วมกันพัฒนาเพื่อส่งเสริมนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการให้บริการกับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ การร่วมโครงการนี้ CAT จะสามารถต่อยอดพัฒนาให้ลูกค้า CAT สามารถใช้บริการกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่น ๆ ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ด้วย การเข้าร่วมโครงการของ CAT ครั้งนี้ CAT มีความเชื่อว่าจะสามารถนำไปพัฒนาการให้บริการของ CAT ในช่องทางออนไลน์ได้มากขึ้นโดยเฉพาะการบริการที่จำเป็นกับพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคลของผู้ใช้บริการ เป็นการซื้อ SIM Card การย้ายค่ายเบอร์เดิม โดยไม่ต้องเดินทางไปที่ศูนย์บริการ ซึ่งถือเป็นการเพิ่มจุดให้บริการได้ทั่วประเทศโดยใช้ช่องทางออนไลน์

 

เดินหน้าพัฒนาระบบ Mobile ID

ส่วนนายวีรวัฒน์  เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ในฐานะผู้รับมอบอำนาจ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นในการขยายบทบาทสู่การเป็น Digital Platform ของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเปิดให้ทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องเชื่อมต่อผ่าน Digital Platform และทำงานร่วมกันในลักษณะของ Ecosystem เพื่อก่อให้เกิดพลังในการขยายขีดความสามารถสร้างสรรค์ Innovation หรือบริการ Digital ใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เช่นเดียวกับโครงการ Mobile ID ระยะทดสอบ ในครั้งนี้ ซึ่งเป็นความร่วมมือกับ สำนักงาน กสทช. ที่จะร่วมกันพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่องในการให้บริการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์กับลูกค้าของเอไอเอส โดยจะทำการทดสอบทดลองใน Sandbox กับธนาคารกรุงเทพ รวมทั้งทางเอไอเอสมีความยินดีที่จะพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วย Mobile ID ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอื่นๆ เพื่อสนับสนุนการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของประชาชน ให้มีความสะดวก ปลอดภัย และเป็นการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมนโยบายรัฐบาลในการสนับสนุนให้ใช้ดิจิทัลไอดีในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลของประเทศอีกด้วย

 

ขณะที่นายกึกก้อง รักเผ่าพันธุ์ รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ธนาคารกรุงเทพมีความยินดีที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการริเริ่มพัฒนาระบบ Mobile ID ร่วมกับสำนักงาน กสทช. และภาคอุตสาหกรรมโทรคมนาคมอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยการกำกับดูแลข้อมูลและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลนับเป็นบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบที่ธนาคารในฐานะสถาบันการเงินได้ให้ความสำคัญยิ่งในลำดับต้น ๆ ไม่แพ้ความสะดวกสบาย โดยเฉพาะการพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคลของลูกค้าได้อย่างถูกต้องก่อนทำธุรกรรม ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถด้านการรักษาความปลอดภัย สร้างความมั่นใจ และสร้างประสบการณ์ที่ดีแก่ลูกค้า ยังตอกย้ำความน่าเชื่อถือให้กับสถาบันการเงิน

    “สำหรับโครงการ Mobile ID ภายใต้ความร่วมมือในการพัฒนาระบบร่วมกับสำนักงาน กสทช. และองค์กรภาครัฐและเอกชน ในส่วนของธนาคารกรุงเทพจะต่อยอดการพัฒนาบริการร่วมกับพันธมิตรเพิ่มขึ้น ผ่านช่องทางสาขาธนาคาร และบริการ online ของธนาคาร เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตอบสนองต่อพฤติกรรมและความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของลูกค้า โดยคำนึงถึงมิติด้านความปลอดภัย และความถูกต้องของข้อมูลลูกค้าผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ ซึ่งครอบคลุมทั้งลูกค้าบุคคล และลูกค้าธุรกิจของธนาคาร” นายกึกก้อง กล่าว

    นายจุลพงษ์ ลิมปสุธรรม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจบริการดิจิทัล บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กำลังเร่งพัฒนาการให้บริการรูปแบบใหม่ ๆ และนำนวัตกรรมใหม่มาให้บริการประชาชน ประกอบกับการนำระบบ Mobile ID มาใช้ โดยเฉพาะการใช้จุดเด่นในเรื่องการพิสูจน์และยืนยันตนของลูกค้า และการแสดงข้อมูลการเป็นเจ้าของเลขหมายมือถือที่ถูกต้อง จะสามารถนำมายกระดับการให้บริการกับประชาชนได้ดีขึ้น บริษัทฯ มีจุดให้บริการ 1,500 สาขาทั่วประเทศไทย ซึ่งบริษัทฯ เชื่อมั่นว่าจะสามารถสนับสนุนการทดสอบทดลองโครงการ Mobile ID ได้อย่างดี และบริษัทฯ พร้อมที่จะทำความร่วมมือทางธุรกิจกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เข้าร่วมโครงการนี้เพื่อการให้บริการกับประชาชน