นวัตกรรมไทยสู้ภัยโควิด
สถานการณ์ปัจจุบันการฉีดพ่นเพื่อกำจัดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่ที่พบการแพร่ระบาด จำเป็นต้องปฏิบัติการมากขึ้นอย่างก้าวกระโดดตามการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งการฉีดพ่นทั้งภายในและบริเวณโดยรอบอาคารสถานที่ยังต้องอาศัยผู้ปฏิบัติงาน ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้ปฏิบัติงาน ทั้งยังต้องสวมชุดป้องกันพิเศษซึ่งภายในไม่มีการถ่ายเทอากาศ ทำให้มีเกิดความร้อนสูง โดยเฉพาะในปัจจุบันที่เข้าสู่ฤดูร้อนแล้ว จึงทำให้บุคลากรเกิดความเหนื่อยล้าทั้งจากความร้อนและจากการสะพายอุปกรณ์พ่นยาที่มีนํ้าหนักรวม 20-30 กิโลกรัม ทำให้การปฏิบัติงานได้ในระยะเวลาจำกัด และชุดป้องกันพิเศษยังใช้ได้ครั้งเดียวทำให้เกิดการสิ้นเปลืองอีกทั้งชุดป้องกันพิเศษยังหายากและมีราคาแพงอีกด้วย
เป็นที่มากรอบแนวคิดของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายใต้การนำของอาจารย์ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์ฉีดพ่นฆ่าเชื้อโรคเพื่อการลดความเสี่ยงให้แก่ผู้ปฏิบัติงานและเพิ่มประสิทธิภาพของการปฏิบัติงานให้รวดเร็วมากกว่า 2 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ปฏิบัติงาน 1 คน ให้คุณภาพการปฏิบัติงานที่สมํ่าเสมอ เหมาะสำหรับพื้นที่สาธารณะภายในและบริเวณโดยรอบอาคาร เช่น ทางเดิน ห้องโถง สำนักงาน พื้นที่บริเวณนั่งรอ ศูนย์อาหาร โดยเหมาะสมกับการฉีดพ่นที่เป็นกิจวัตรดำเนินการได้โดยเจ้าของพื้นที่ ใช้รีโมตควบคุมระยะไกล สามารถควบคุมผ่านกล้องวงจรปิดไร้สายดูภาพผ่านหน้าจอโทรศัพท์เคลื่อนที่หรือจอภาพขนาดเล็กได้
“ขณะนี้ทำต้นแบบเสร็จไปแล้ว และกำลังจะทำเพิ่มอีก 4 เครื่อง งบประมาณรวม 9 แสนบาท ซึ่งจะเร่งให้เสร็จภายใน 1 เดือน จากเดิมคาดจะใช้เวลา 4 เดือน ด้วยทุนของมหาวิทยาลัยเอง สามารถนำไปบริการฉีดพ่นฆ่าเชื้อในสถานที่ต่างๆ เช่น ในมหาวิทยาลัย โรงพยาบาล สถานศึกษา ที่อยู่อาศัยที่มีประชากรอยู่หนาแน่น ตึก อาคารพาณิชย์ ห้างสรรพสินค้า หมู่บ้านจัดสรร ตลาดสด หรือแม้แต่ค่ายทหาร หรือ เรือนจำ ที่คนอยู่หนาแน่นเสี่ยงต่อการติดเชื้อ รวมถึงสถานที่พักฟื้นต่างๆ หรือสถานที่ที่มีผู้ป่วยติดเชื้อพักอาศัย ห้องพักฟื้น ห้องกักกัน เฝ้าระวังโรค การควบคุมโดยใช้ remote control และมีกล้องติดที่ตัวหุ่นยนต์ ถ่ายทอดสดส่งภาพมา ด้วยระยะห่างสูงสุดรัศมี 200 เมตร โดยไม่ต้องให้เจ้าหน้าที่ใส่ชุด PPE ไปฉีดพ่น”
สำหรับหุ่นยนต์ฉีดพ่นฆ่าเชื้อโรคนี้ออกแบบโดยเน้นการใช้งานภายในอาคารที่เป็นพื้นที่สาธารณะ ให้สามารถฉีดพ่นได้อย่างรวดเร็ว และลดความเสี่ยงต่อผู้ปฏิบัติงาน มีขนาดกะทัดรัด สามารถเข้าประตูที่มีความกว้าง 80 เซนติเมตรขึ้นไป สามารถปีนพื้นต่างระดับความสูงไม่เกิน 5 เซนติเมตร สามารถขึ้นทางลาดชันสูงสุด 20% สามารถวิ่งบนพื้นผิวขรุขระและไม่ได้ระดับได้เป็นอย่างดีด้วย
ระบบการขับเคลื่อน ด้วยล้อยางใหญ่คู่ซ้ายขวาหมุนอิสระ ด้วยมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสตรง 24V 500W โดยใช้แบตเตอรี่แห้ง ส่งกำลังผ่าน WORM GEAR ไปยังล้อ ให้อัตราทดสูงนํ้าหนักเบา กะทัดรัดไม่ต้องดูแลรักษา บังคับเลี้ยวด้วยการปรับความเร็วมอเตอร์ 2 ข้างให้ไม่เท่ากัน สามารถหมุนกลับตัวได้โดยใช้รัศมีวงเลี้ยวไม่เกิน 50-60 เซนติเมตร ล้อหน้าเป็นล้อ CASTER ขนาดใหญ่ ยึดกับคานกระจายนํ้าหนัก ทำให้สามารถกระจายนํ้าหนักลงพื้นผิวที่ขรุขระได้ดี
หน้า 25 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,565 วันที่ 12 - 15 เมษายน 2563