ความผิดพลาดจากคน ต้นเหตุหลักของภัยไซเบอร์

30 เม.ย. 2563 | 03:36 น.
อัปเดตล่าสุด :30 เม.ย. 2563 | 10:41 น.

   เทรนด์ไมโคร เผยความผิดพลาดจากคน เปิดช่องรับภัยคุกคามทางไซเบอร์ แนะวิธีทำงานบนคลาวด์อย่างปลอดภัยจากแฮ็กเกอร์
  ความผิดพลาดจากคน ต้นเหตุหลักของภัยไซเบอร์
    นาย Greg Young รองประธานด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ เทรนด์ไมโคร กล่าวว่า  จากที่ทาง การ์ทเนอร์ได้ทำนายไว้ว่า ภายในปี 2021 องค์กรทั้งขนาดกลาง และขนาดใหญ่กว่า 75% จะหันมาใช้ยุทธศาสตร์แบบมัลติคลาวด์ หรือระบบไอทีแบบไฮบริดจ์ 1 ซึ่งขณะที่แพลตฟอร์มบนคลาวด์กำลังได้รับความนิยมแพร่หลายมากขึ้นนั้น กลับพบว่าการตั้งค่าที่ผิดพลาดเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาความปลอดภัยบนคลาวด์ และจากข้อเท็จจริงที่ระบบ Trend Micro Cloud One – Conformity ได้ตรวจพบปัญหาการตั้งค่าผิดพลาดมากกว่า 230 ล้านรายการในแต่ละวันโดยเฉลี่ย ทำให้เห็นว่าความเสี่ยงนี้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในวงกว้าง ที่อาชญากรไซเบอร์ปรับตัวเองมาใช้ประโยชน์จากการตั้งค่า หรือบริหารจัดการระบบบนคลาวด์ที่ผิดพลาดได้   

“เราเชื่อว่าสำหรับการย้ายขึ้นไปบนคลาวด์นั้น วิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาความปลอดภัยก็คือการกำหนดขอบเขต และเอนด์พอยต์ของระบบไอทีในองค์กรใหม่ แต่อย่างไรก็ดี สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อองค์กรเหล่านั้นปฏิบัติตามโมเดลการรับผิดชอบร่วมกันในด้านความปลอดภัยบนคลาวด์ การเป็นเจ้าของข้อมูลบนคลาวด์นั้นยิ่งทำให้ต้องใส่ใจกับการปกป้องมากขึ้นไปอีก”

       ทั้งนี้งานวิจัยยังพบว่าอันตรายและจุดอ่อนด้านความปลอดภัยในจุดสำคัญหลายจุดของคลาวด์คอมพิวติ้ง ที่อาจทำให้ข้อมูลรหัสผ่าน และความลับของบริษัทตกอยู่ในความเสี่ยงได้ ซึ่งอาชญากรที่อาศัยช่องโหว่ของการตั้งค่าที่ผิดพลาดนั้นเตรียมโจมตีบริษัทเหล่านี้ด้วยแรนซั่มแวร์, การแอบขุดเหมืองเงินคริปโต, การสกิมมิ่งทางอิเล็กทรอนิกส์, รวมทั้งการถลุงข้อมูลออกมาจากระบบ อีกทั้งยังมีการแนะนำ หรือคอร์สออนไลน์ที่สอนแบบผิด ๆ จนทำให้ธุรกิจเกิดความเสี่ยงในการบริหารจัดการรหัสผ่าน และใบเซอร์อิเล็กทรอนิกส์ผิดพลาดด้วย โดยรายงานนี้สรุปว่า ถึงแม้ทีมงานด้านไอทีสามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องมือที่มีอยู่แล้วบนคลาวด์เพื่อลดความเสี่ยงเหล่านี้ แต่พวกเขาก็ไม่ควรจะพึ่งแต่เครื่องมือเหล่านี้อย่างเดียว

ความผิดพลาดจากคน ต้นเหตุหลักของภัยไซเบอร์
 
   อย่างไรก็ตามเทรนด์ไมโครได้แนะนำวิธีการทำงานที่ดีที่สุดในการรักษาความปลอดภัยของระบบบนคลาวด์ คือ 1. การวางระบบควบคุมที่ให้สิทธิ์น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น จำกัดการเข้าถึงเฉพาะผู้ที่จำเป็นเท่านั้น 2. ทำความเข้าใจโมเดลการแชร์ความรับผิดชอบ ที่แม้ผู้ให้บริการบคลาวด์จะมีระบบความปลอดภัยบิวท์อินมาให้ ก็ยังต้องรับผิดชอบในการรักษาความปลอดภัยข้อมูลของตัวเองด้วย 3. ตรวจสอบหาระบบที่มีช่องโหว่หรือตั้งค่าผิดพลาด ด้วยเครื่องมือ อย่างเช่น Conformity ที่สามารถตรวจหาการตั้งค่าที่ผิดบนสภาพแวดล้อมแบบคลาวด์  4.ผสานเรื่องความปลอดภัยเข้ากับวัฒนธรรม DevOps (Development และ Operation) โดยสร้างความปลอดภัยในกระบวนการ DevOps ตั้งแต่เริ่มต้น