นายทินกร เหล่าเราวิโรจน์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย ได้โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊คชื่อ Tinnakorn Laoraovirot ว่า ไทยชนะ, หมอชนะ, ไทยแคร์, QR Checkin, Skan & Go ทั้งหมดนี้เป็นแอปหรือแพลทฟอร์มที่เกิดขึ้นเพื่อ contact tracing หรือ “การติดตามตัว” ผู้มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด โดยเป็นการบันทึกข้อมูลบุคคลตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งแต่ละตัวก็มีแนวทางและข้อดี ข้อเสีย ที่แตกต่างกัน แต่มีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน คือ ต้องการช่วยเหลือสังคมและประชาชน ให้อยู่กับโรคและการเปิดเมืองอย่างมีคุณภาพด้วยข้อมูล
มาอ่านผลการวิพากษ์ที่ผมทดลองใช้มาแล้วทุกระบบกันครับ
บทวิพากษ์นี้ ทำขึ้น ณ วันที่ 17 พฤษภาคม 2563 และเป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน เพื่อให้ข้อมูลเชิงเปรียบเทียบและสร้างความเข้าใจกับผู้ใช้บริการในภาคประชาชนและภาคธุรกิจเป็นหลัก และใช้ข้อมูลและภาพจากสื่อสาธารณะมาวิเคราะห์ หากผู้อ่านต้องการข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาเข้าไปอ่านตามลิงค์ของแต่ละแพลทฟอร์มด้วย
ทั้งนี้จะเห็นว่าทุกโครงการเป็นโครงการที่ดี มีจุดประสงค์ที่ให้ประโยชน์กับสังคมเป็นหลัก แต่หลายฝ่ายอาจสงสัยว่าแล้วทำไมถึงต้องมีหลายระบบแบบนี้ สันสนไปหมด
ความจริงก็คือ เหตุการณ์ล้นทะลักของแอปเพื่อสู้ Covid-19 กำลังเกิดขึ้นทุกประเทศทั่วโลก เพราะเป็นปัญหาที่ทุกคนอยากจะช่วย และส่วนภูมิภาคหลายแห่งก็พัฒนาระบบของตนเองด้วย เช่น ที่ขอนแก่น เป็นต้น
คำแนะนำคือ ประชาชนและภาคธุรกิจควรเลือกใช้ตัวใดตัวหนึ่ง ที่คิดว่าตอบโจทย์ที่สุด แต่อย่าอ้างว่ามีเยอะเลือกไม่ถูก เลยไม่ใช้ตัวใดเลย เพราะไม่ว่าท่านจะเลือกใช้ตัวใด ผลลัพธ์ที่ได้เหมือนกันคือ “ความรับผิดชอบต่อสังคม” ร่วมกัน ให้สังคมไทยปลอดโรคได้ด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง
สุดท้ายนี้ ขอฝากข้อคิดกับทุกแพลทฟอร์ม ว่า หากเป็นไปได้ เราอยากเห็นทุกแพลทฟอร์มมีการเปิดระบบให้ cross platform กันได้ เช่น QR code ของระบบหนึ่ง สามารถสแกนได้ด้วยแอปของอีกระบบหนึ่ง และมีวิธีจัดการข้อมูลที่เหมาะสม ไม่ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลเกินกว่าที่ได้ขอ consent ไว้ ในขณะที่ไม่สร้างความลำบากกับผู้ใช้จนเกินไป แต่ก็ยังใช้แจ้งเตือนประชาชนได้เมื่อถึงคราวจำเป็น
ไทยชนะ ชื่อดี แบ็กอัพก็ดี เพราะเป็นโครงการของ ศบค เป็นผู้ดำเนินการเอง
เปิดให้เจ้าของสถานที่ต่างๆ เข้ามาสร้าง QR code เพื่อติดที่ด้านหน้าของสถานที่ให้ประชาชนสแกน เพื่อบันทึกข้อมูล ทั้งการ Checkin และ Checkout และทำแบบประเมินสถานประกอบการด้วย
ข้อมูลเพิ่มเติม: http://xn--b3czh8ayeuf.com/
ข้อดี
- เป็นโครงการของภาครัฐ ที่ได้รับการประชาสัมพันธ์เต็มที่
- มีข้อมูลความหนาแน่นของสถานประกอบ ให้ตรวจสอบก่อนใช้บริการ
- ใช้แอปอะไรก็ได้สแกน QR code ของระบบไทยชนะ
ข้อเสีย
- ขั้นตอนการใช้งานยุ่งยากกว่าระบบอื่น เช่น มีกรอกแบบสอบถามมากกว่าระบบอื่น
- ประชาชนไม่สามารถเรียกดูประวัติการสแกนของตนเองมาดูได้
(แก้ไขล่าสุด 18/05/2020)
หมอชนะ เป็นผลงานของภาคเอกชนที่สร้างขึ้นให้หน่วยงานภาครัฐ (DGA) เป็นผู้ดูแลต่อ
มีจุดเด่นที่แอป “หมอชนะ” ที่สร้าง health code ที่บ่งบอกความเสี่ยงของบุคคลเป็นแบบ dynamic แสดงสีเขียว เหลือง ส้ม แดง เพื่อบอกความเสี่ยงตามข้อมูลที่มีได้
ทั้งยังมีระบบการสร้าง QR code ให้สถานประกอบการ ได้ด้วย
ข้อมูลเพิ่มเติม: morchana.in.th
.
ข้อดี
- มีระบบ dynamic health code เป็นสี แสดงความเสี่ยงบุคคลได้ (เป็นระบบเดียวที่มี)
- ใช้ bluetooth, gps, และ QR code เพื่อบันทึกข้อมูลบุคคลได้หลายวิธีผสมกัน
.
ข้อเสีย
- มีข้อกังวลเรื่องความถูกต้องของข้อมูล เช่น bluetooth แจ้งว่า คน 2 คนอยู่ใกล้กัน ทั้งที่อาจจะนั่งในรถคนละคันที่จอดติดไฟแดงเดียวกันเท่านั้น
QR Checkin เป็นแพลทฟอร์มของสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย ที่เป็นความร่วมมือของบริษัทสมาชิกผู้พัฒนา
นำโซลูชั่นที่มีอยู่แล้วมาประยุกต์เพื่อช่วยเหลือสังคม ให้ทำ contact tracing ได้ ทั้งฝั่งร้านค้า และภาคประชาชน จากนั้นใช้ AI Analytic เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลกรณีมีผู้ติดเชื้อและต้องการหาผู้มีความเสี่ยงจากข้อมูล
ข้อมูลเพิ่มเติม: atsi.or.th/welcome/covid-checkin.php
.
ข้อดี
- เป็นการต่อยอดจากแอปนามบัตรดิจิทัล Your QR ที่มีฐานผู้ใช้อยู่ก่อนแล้ว
- ประชาชนเรียกดูประวัติการสแกน QR code สถานที่ได้
- มีระบบเว็บให้เจ้าของสถานที่เข้าเช็คข้อมูลการ Checkin ได้
.
ข้อเสีย
- ใช้ความสมัครใจของผู้ใช้เป็นหลัก หากไม่ต้องการเปิดเผยข้อมูล ก็อาจไม่สแกน QR code หรือใช้แอปอื่นในการสแกนได้
Thai.care เป็นผลงานของทีมงานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
เป็นระบบที่ใช้งานง่าย (น่าจะเพราะมาจากภาคธุรกิจเอง) ให้ร้านค้าสร้าง QR code โดยไม่ต้องกรอกข้อมูลมากมาย และให้ประชาชนสแกน QR code ด้วยแอปอะไรก็ได้
ข้อมูลเพิ่มเติม: thai.care
.
ข้อดี
- จดจำข้อมูลบุคคลได้ ทำให้การสแกนครั้งถัดไป ทำได้ง่าย
- ประชาชนเรียกดูประวัติการสแกนของตนเองได้
.
ข้อเสีย
- ผูกการลงทะเบียนบุคคลไว้กับ facebook หรือ Line ซึ่งเป็นทั้งข้อดีและข้อจำกัดไปพร้อมๆกัน
Skan & Go เป็นโครงการโดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
เริ่มต้นเปิดให้บริการที่โรงพยาบาลศิริราชเป็นหลัก และต้องการขยายผลไปสู่ภายนอกให้ร้านค้าต่างๆ เข้ามาใช้บริการสร้าง QR code และประชาชนสามารถสแกนได้ด้วยแอปอะไรก็ได้
ข้อมูลเพิ่มเติม: thaicovids.com
ข้อดี
- สะดวกกับแพทย์ ที่สแกน QR code บุคคลแล้วได้ข้อมูลประวัติการเดินทางทั้งหมดทันที
- มีสีสถานะของสถานที่ ว่าเป็นสถานที่ปลอดภัยหรือมีผู้ป่วยเคยมาหรือไม่ จาก Covid19 Map
ข้อเสีย
- การประเมินความเสี่ยงของสถานที่และการอัพเดทข้อมูล ถ้าทำได้ไม่สมบูรณ์หรือรวดเร็ว เจ้าของสถานที่อาจได้ผลกระทบ ว่าประชาชนจะไม่อยากมาใช้บริการ