สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จัดแคมเปญ “มอบรถเข็นขายอาหารริมทาง หนุนผู้ขายเสิร์ฟความอร่อย อย่างถูกสุขลักษณะ” ภายในงาน “KMITL Street Food Academy 2020” ได้มอบรถเข็นขายอาหารริมทาง จำนวน 7 คัน ให้แก่ผู้ขายอาหารริมทางที่ได้รับคัดเลือกกลุ่มแรก โดยพิจารณาจากคุณสมบัติ อาทิ ผู้ที่ว่างงาน หรือเคยมีอาชีพขายอาหารริมทาง แต่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ต้องการทำธุรกิจร้านอาหารริมทางในกลุ่มอาหารประเภทปิ้งย่าง เครื่องดื่ม ผลไม้สด มีทักษะการทำอาหารที่อร่อย สะอาด ปลอดภัย มีแนวคิดการขายของที่ช่วยสังคมได้ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ฯลฯ
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เผยว่า สจล. โดยการดำเนินงานของศูนย์ KMITL GO FIGHT COVID-19 ที่ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาศูนย์ฯนี้ได้ทำหน้าที่ส่งมอบนวัตกรรมสู้โควิด-19 ให้แก่โรงพยาบาลทั่วประเทศ ซึ่งสามารถช่วยบุคลากรทางการแพทย์ทำหน้าที่ตรวจคัดกรอง และรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ได้เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันพบว่าสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนมีการประกาศผ่อนคลายล็อคดาวน์ให้แก่ธุรกิจสีขาว ได้แก่ ร้านค้าขนาดเล็ก ร้านอาหารในที่โล่งแจ้ง และร้านอาหารริมทาง (Street Food) เป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับการอนุมัติให้เปิดกิจการได้
ภายใต้การบริหารจัดการตามมาตรฐานสาธารณสุขเป็นสำคัญ สจล. จึงเดินหน้าเปิดตัว “ศูนย์บ่มเพาะองค์ความรู้การจัดการมาตรฐานร้านสตรีทฟู้ด” (Street Food Academy) ซึ่งทำหน้าที่บ่มเพาะความรู้การจัดการร้านอาหารริมทาง ภายใต้มาตรฐานอาหารปลอดภัย อร่อย สุขภาพดี ผ่านรูปแบบการอบรมออนไลน์ โดยผู้ขายอาหารริมทางที่ผ่านการอบรมในหลักสูตรดังกล่าว และสามารถจัดการร้านอาหารริมทางได้อย่างปลอดภัยตามมาตรฐาน จะได้รับใบรับรองจากสถาบันเพื่อรับประกันร้านอาหารที่ได้มาตรฐานความสะอาด อร่อย และดีต่อสุขภาพ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค
ด้านผศ.ดร.นภัสรพี เหลืองสกุล หัวหน้าศูนย์ฟู้ดอินโนโพลิส สจล. (FOOD INNOPOLIS @KMITL) กล่าวเสริมว่า ศูนย์บ่มเพาะองค์ความรู้การจัดการมาตรฐานร้านสตรีทฟู้ด (Street Food Academy) ได้ออกแบบหลักสูตรอบรมผู้ประกอบการร้านอาหารริมทางในรูปแบบออนไลน์ เพื่อการจัดการร้านค้าอย่างยั่งยืน (GO Sustainability) โดยส่งเสริมการประกอบอาหารที่ปลอดภัย ภายใต้เกณฑ์ร้านอาหารบาทวิถี ของกรมอนามัยทั้ง 12 ข้อ อีกทั้งการประกอบกิจการโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ และไม่ทิ้งของเสียสู่สาธารณะ
อย่างไรก็ตาม นอกจากหลักการอาหารปลอดภัย ร้านค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว ผู้ขายยังต้องมีกลยุทธ์การขายที่สร้างความโดดเด่นให้แก่ร้าน ไม่ว่าจะเป็น การใช้วัตถุดิบคุณภาพ คำนึงถึงสุขภาพผู้บริโภค สูตรอาหารสร้างความอร่อยอันเป็นเอกลักษณ์ ตลอดจนการตั้งราคาที่คุ้มค่า เพื่อมัดใจกลุ่มลูกค้าประจำ และดึงดูดกลุ่มลูกค้าใหม่ โดยผู้ประกอบการร้านอาหารริมทางที่เข้าร่วมอบรมออนไลน์กับศูนย์บ่มเพาะองค์ความรู้การจัดการมาตรฐานร้านสตรีทฟู้ด (Street Food Academy) จะได้เรียนรู้เทคนิคการเป็นผู้ขายตั้งแต่ระดับเริ่มต้น สู่สุดยอดร้านอาหาร อีกทั้งได้เป็นสมาชิกเครือข่าย Street Food Academy และสามารถขอรับคำปรึกษาการแก้ไขปัญหา และพัฒนาร้านค้าสตรีทฟู้ดจากผู้เชี่ยวชาญ และร้านค้าในเครือข่าย
"ศูนย์บ่มเพาะองค์ความรู้การจัดการมาตรฐานร้านสตรีทฟู้ด (Street Food Academy) ยังได้พัฒนานวัตกรรมรถเข็นขายอาหารริมทาง เพื่อส่งมอบให้แก่ผู้ขายอาหารริมทางที่ได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ และมีความต้องการรับนวัตกรรมดังกล่าวไปต่อยอดการประกอบอาชีพ ภายใต้ระบบการจัดการร้านอาหารอย่างสะอาดปลอดภัย อร่อย และดีต่อสุขภาพ พร้อมนำร่องแจกให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับการคัดเลือก จำนวน 7 คัน ที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก 4 ข้อ
ดังนี้ 1. ผู้ที่ว่างงาน หรือเคยมีอาชีพขายอาหารริมทาง แต่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 2. ผู้ที่ต้องการต่อยอดธุรกิจร้านอาหารริมทางในกลุ่มอาหารประเภทปิ้งย่าง เครื่องดื่ม ผลไม้สด 3. มีความเชื่อว่าอาหารริมทางต้อง อร่อย สะอาด ปลอดภัย ไม่ต่างกับอาหารโรงแรม 5 ดาว แต่ราคาเข้าถึงได้สำหรับคนทั่วไป และ 4. สามารถอธิบายแนวทางการประกอบกิจการที่น่าสนใจ พร้อมแนวคิดการขายของที่ช่วยสังคมได้ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19"
นอกจากแผนการส่งมอบรถเข็นขายอาหารริมทางล็อตแรก จำนวน 7 คัน สจล. ศูนย์บ่มเพาะองค์ความรู้ฯ ยังได้พัฒนานวัตกรรมอาหารที่เก็บรักษาได้นาน ได้แก่ ข้าวเหนียวไก่ย่าง บะจ่างไก่ ข้าวต้มมัดไส้ไก่ จำนวน 1,000 ชุด เพื่อแจกให้แก่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบด้านรายได้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั้งมีการจัดเสวนา “New Normal กับการขาย -เลือกซื้ออาหารสตรีทฟู้ดสุดปลอดภัย ในช่วงคลายมาตรการล็อคดาวน์” โดยนักวิชาการด้านโภชนาการ และบุคคลในวงการอาหารสตรีทฟู้ดของเมืองไทย
ทั้งจำลองตลาดอาหารสตรีทฟู้ดที่มีมาตรการควบคุมสุขลักษณะผู้ซื้อและผู้ขายแบบ New Normal ไม่ว่าจะเป็น การคัดกรองอุณหภูมิก่อนเข้าตลาด การเว้นระยะห่างขณะเข้าคิว การจัดโซนรับประทานอาหารโดยมีฉากกั้น ตลอดจนการชำระเงินด้วยบัตรแรบบิท ที่ได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ด ซิสเทม จำกัด (บัตรแรบบิท) โดยกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้น ภายใต้โครงการ 60 ปี พระจอมเกล้าลาดกระบัง ไร้ขีดจำกัด (KMITL 60th Year: Go Beyond the Limit) ผศ.ดร.นภัสรพี กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับผู้ขายอาหารริมทางที่สนใจพัฒนาศักยภาพการเป็นผู้ประกอบการ ทั้งหลักการปรุง คุณประโยชน์ การพัฒนาสูตร และเทคนิคการขาย ติดตามข้อมูลได้ที่ เฟซบุ๊กแฟนเพจ ขายอย่างไรให้รวยโคตร by KMITL หรือ facebook.com/kmitlstreetfoodacademy