ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเปลือกข้าวโพดจึงได้มีการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อต่อยอดรายได้ให้กับชุมชน และเป็นการสร้างสรรค์ศักยภาพเพื่อให้เกิด “วัสดุแห่งทางเลือกใหม่” ซึ่งจะเป็นการสร้างความคุ้มค่าที่ก่อเกิดมูลค่าเชิงพาณิชย์ได้ในอนาคต
“ณิรชญา จังติยานนท์” นักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตการออกแบบ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้คิดค้นนวัตกรรมวัสดุแห่งทางเลือกใหม่ จากเส้นใยเปลือกและเปลือกข้าวโพด ในงานวิจัยการพัฒนาศักยภาพเศษเปลือกข้าวโพดเหลือทิ้งสู่การสร้างสรรค์ศิลปกรรมบนเครื่องแต่งกาย เล่าว่า การ นำเศษเปลือกข้าวโพดมาเข้าสู่กระบวนการพัฒนาองค์ความรู้แห่งการสร้างสรรค์ศักยภาพเพื่อให้เกิด วัสดุแห่งทางเลือกใหม่ ที่ผ่านการทดลองเชิงวิทยาศาสตร์และสุนทรียศาสตร์ ก่อให้เกิดเป็นอัตลักษณ์ ด้านความงาม มีประโยชน์ และคุณค่าในตัว ซึ่งจะช่วยพลิกโฉมทางเลือกใหม่ในวงการอุตสาหกรรมแฟชั่นไทยได้ในอนาคต ที่จะนำไปสู่งานออกแบบที่สร้างสรรค์ทางศิลปกรรมบนเครื่องแต่งกายซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนและส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในรูปแบบหัตถอุตสาหกรรม
ขณะเดียวกันยังสร้างความตระหนักรู้ให้ผู้คนเพื่อหันมาให้ความสนใจในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากร ธรรมชาติ และเพื่อเป็นตัวอย่างของการออกแบบที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง เกิดการกระตุ้นการใช้วัตถุดิบทางธรรมชาติในแง่การใช้งานอย่างคุ้มค่า และเป็นแนวทางการจัดการเศษขยะเหลือทิ้งทางการเกษตรกรรมในธรรมชาติอย่างสร้างสรรค์ ทั้งนี้ผลงานดังกล่าวได้เข้าร่วมในงานแสดงสินค้า BANGKOK GEMS 2019 เมื่อช่วงเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา
สำหรับขั้นตอนในการพัฒนาวัสดุแห่งทางเลือกใหม่จากเส้นใยเปลือกและเปลือกข้าวโพดนั้น ประกอบด้วย 1.การนำเศษเปลือกข้าวโพดเหลือทิ้งมาเข้าสู่กระบวนกำจัดความชื้นด้วยความร้อนแบบการรีด หรือการกำจัดความชื้นด้วยวิธีทางธรรมชาติ ซึ่งสามารถทำการผึ่งไว้ในพื้นที่โล่งในอุณหภูมิปกติ 2. นำไปคัดแยกตามลักษณะของเศษเปลือกข้าวโพด 3.กระบวนการอัดรีดวัตถุดิบและตัวประสานด้วยความร้อนเพื่อให้เกิดลักษณะแผ่นตามวัตถุประสงค์ของการแปรรูปในงานออกแบบ
ทั้งนี้สามารถขึ้นรูปในลักษณะให้เกิดรูปทรง 3 มิติ ด้วยการควบคุมความร้อนและเครื่องมือจากการประยุกต์ใช้แผ่นรีดร้อนแบบควบคุมด้วยมือมาดัดแปลงเป็นการกำหนดทิศทางของรูปทรงได้
“จากผลการทดลองควบคุมเศษเปลือกข้าวโพดในลักษณะการขึ้นรูปแบบ 2 มิติ และ3 มิติ พบว่า สามารถขึ้นรูปด้วยการควบคุมการผลิตรูปแบบหัตถอุตสาหกรรมที่จัดการรูปแบบได้ด้วยตนเอง อีกทั้งสามารถควบคุมและสร้างคุณลักษณะเชิงอัตลักษณ์ในตัววัสดุได้ตามวัตถุประสงค์ของการนำไปออกแบบ เพื่อใช้งานในรูปแบบการใช้สอยหรือรูปแบบอื่น ๆ ได้ ลักษณะงานทดลองและการพัฒนาเศษเปลือกข้าวโพดนี้ เป็นองค์ความรู้ใหม่ที่จะนำไปพัฒนาในเศษวัตถุดิบทางธรรมชาติประเภทอื่น ๆ ได้ เพื่อสร้างแนวทางการจัดการขยะทางการเกษตรให้เกิดคุณค่า ความงาม และวัตถุดิบเหลือทิ้งที่ไร้ค่า สู่มูลค่าในเชิงพาณิชย์ได้”
อย่างไรก็ตามงานวิจัยชิ้นนี้ยังไม่สิ้นสุดเนื่องจากการทดลองยังดำเนินการต่อในกระบวนการค้นหาคุณสมบัติที่เหมาะสมกับการออกแบบการสร้างสรรค์ในผลิตภัณฑ์ด้านอื่น ๆ อีกด้วย เพื่อให้วัสดุมีความสมบูรณ์ในแง่การใช้สอยต่อไป
หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,589