thansettakij
เช็คอาการ “เมาแผ่นดินไหว” ปัญหาความวิตกกังวล สู่อันตรายในสมอง

เช็คอาการ “เมาแผ่นดินไหว” ปัญหาความวิตกกังวล สู่อันตรายในสมอง

31 มี.ค. 2568 | 21:48 น.
อัปเดตล่าสุด :31 มี.ค. 2568 | 22:27 น.

"เมาแผ่นดินไหว-สมองหลอนแผ่นดินไหว" อาการคล้ายการเมาเรือ เมารถ ผู้ที่มีความวิตกกังวลเป็นแพนิค มีโอกาสพบสูงกว่าคนอื่น หากไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน ควรพบแพทย์

อาการเมาแผ่นดินไหว (Earthquake Sickness หรือ Post-earthquake Dizziness Syndrome) คือภาวะอาการเวียนศีรษะ โคลงเคลง รู้สึกเหมือนพื้นไม่มั่นคงหลังจากเกิดแผ่นดินไหว คล้ายกับการเมาเรือหรือเมารถ แม้จะไม่มีแรงสั่นสะเทือนแล้วก็ตาม

นอกจากนี้ยังมีอาการ สมองหลอนแผ่นดินไหว (Earthquake illusion) ภาวะเกิดขึ้นหลังจากประสบเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรง จนรบกวนระบบควบคุมการทรงตัวของสมองและหูชั้นใน ทำให้ระบบเสียสมดุล รวมถึงผู้ที่มีปัญหาทางจิตใจ ระบบประสาทจากความเครียด ความวิตกกังวลหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว คนที่อยู่ในอาคารสูงระหว่างเกิดแผ่นดินไหว หรือคนที่เมารถเมาเรือง่าย เป็นแพนิค มีโรควิตกกังวล จะมีโอกาสพบอาการเหล่านี้นี้สูงกว่าคนอื่น

อาการเมาแผ่นดินไหว

  • รู้สึกเหมือนพื้นสั่นไหวหรือเคลื่อนที่
  • เวียนศีรษะ คล้ายเมาเรือ
  • โคลงเคลง ทรงตัวลำบาก
  • คลื่นไส้ อาเจียน

อาการสมองหลอนแผ่นดินไหว

  • รู้สึกเหมือนพื้น หรืออาคารสั่นไหว
  • วิตกกังวล หวาดกลัวหรือตื่นตัวเกินเหตุ
  • นอนไม่หลับ
  • หัวใจเต้นเร็ว ใจสั่น เหงื่อออก
  • กลัวการอยู่ในอาคารสูง หรือสถานที่ที่เคยเจอเหตุการณ์แผ่นดินไหว

ข้อควรปฏิบัติเมื่อมีอาการเหล่านี้ 

  • มองไปยังที่ไกล ๆ หรือนอนลงเมื่อมีอาการ
  • หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ
  • หลีกเลี่ยงความเครียดและสิ่งกระตุ้น เช่น ลดการดูข่าวหรือพูดคุยเกี่ยวกับแผ่นดินไหว
  • ฝึกการหายใจและผ่อนคลาย โดยการทำสมาธิหรือการออกกำลังกายเบาๆ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ

สัญญาณอันตรายที่ควรรีบพบแพทย์ทันที

  • เวียนศีรษะรุนแรง หรือรู้สึกเหมือนจะเป็นลม
  • คลื่นไส้ อาเจียนซ้ำๆ หรือรับประทานอาหารไม่ได้
  • เดินไม่ตรง ทรงตัวลำบาก หรือมีปัญหาในการเคลื่อนไหว
  • ปวดศีรษะรุนแรง หรือมีอาการปวดศีรษะที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
  • ตามัว เห็นภาพซ้อน หรือการมองเห็นผิดปกติ
  • หูอื้อ หรือมีเสียงดังในหูตลอดเวลา
  • อ่อนแรงที่แขน ขา หรือมีอาการชาที่ใบหน้า ริมฝีปาก หรือแขนขา
  • พูดไม่ชัด สับสน หรือมีปัญหาในการสื่อสาร
  • มีโรคประจำตัว เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ ที่อาจทำให้อาการรุนแรงขึ้น
  • อาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน หรือลุกลามจนรบกวนชีวิตประจำวัน

หากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อประเมินหาสาเหตุ และรับการรักษาอย่างเหมาะสม เพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคเกี่ยวกับระบบประสาทหรือภาวะสมองขาดเลือดเฉียบพลันที่ต้องรักษาโดยเร็ว

 

ข้อมูลจาก: โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต และโรงพยาบาลสินแพทย์