โควิดป่วนสตาร์ทอัพ NIA เปิดมาร์เก็ตเพลสฝ่าวิกฤติ

18 ส.ค. 2563 | 04:30 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ส.ค. 2563 | 11:26 น.

พิษโควิดป่วน สตาร์ทอัพไทย เอ็นไอเอเผย 5 อันดับธุรกิจกระทบหนัก พร้อมเดินหน้าปั้นมาร์เก็ตเพลสเปิดช่องทางตลาดใหม่ หนุนผู้ประกอบการฝ่าวิกฤติ

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า วิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้นเป็นสัญญาณเตือนว่าโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทยนั้นเปราะบางมาก ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพถือเป็นกลจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ดำเนินต่อไปได้ ที่ผ่านมาโครงการสตาร์ทอัพไทยแลนด์มีผู้ติดตามและให้ความสนใจกว่า 2 แสนคน ซึ่งตลาดในประเทศ ไทยส่วนใหญ่สตาร์ทอัพมองว่าเป็นตลาดที่เข้าถึงยาก ขณะที่การเติบโตของมาร์เก็ตเพลสนั้นเพิ่มขึ้นจาก 20% เป็น 40% จะเห็นว่าภาพรวมของมาร์เก็ตเพลสมีพัฒนาการที่มาถูกทาง ซึ่งมาร์เก็ตเพลสจะช่วยประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้และกระตุ้นให้เกิดการเข้าถึงสินค้าและบริการของสตาร์ทอัพ ทั้งกลุ่มลูกค้าที่เป็น B2B และ B2C ด้วยการโปรโมทสินค้าและบริการของสตาร์ทอัพผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของสตาร์ทอัพไทยแลนด์และสื่อออนไลน์ผ่าน 3 อินฟลูเอนเซอร์ด้านไอที ในรายการ Startup Marketplace is Live Now โดยตั้งเป้าที่จะช่วยกระตุ้น 10% GDP ของประเทศและหวังที่จะรักษาอธิปไตยทางดิจิทัลของ ไทยด้วยการทำให้เศรษฐกิจฐานรากมีความแข็งแรง โดยเบื้องต้นมีสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 100 ราย

 

 

โควิดป่วนสตาร์ทอัพ NIA เปิดมาร์เก็ตเพลสฝ่าวิกฤติ

 

 

ด้านดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติองค์การมหาชน หรือ NIA กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับมาตรการช่วยเหลือสตาร์ทอัพที่ผ่านมามีทั้งมาตรการทางการเงินให้ทุนผู้ประกอบการเพื่อทำผลิตภัณฑ์ต่อสู้โควิดราว 70  ล้านบาท ทั้งหมด 28 โครงการ รวมถึงการปล่อยสินเชื่อให้กับ ผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ และล่าสุดคือ โครงการมาร์เก็ตเพลส ที่จัดขึ้นนี้เพื่อหาตลาดที่จะมา รองรับผลิตภัณฑ์และบริการของสตาร์ทอัพให้เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น ซึ่งใช้งบประมาณจากโครงการสตาร์ทอัพ ไทยแลนด์โดยเชื่อว่าจะสร้างอิมแพ็กต์ที่ทำให้เกิดมูลค่าได้มากกว่า 100 ล้านบาท

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สตาร์ทอัพกัดฟันสู้โควิด ดีป้าหนุน พัฒนาสมาร์ทซิตี้

เผย 7 วิถีเกษตรนวัตกรรมดาวรุ่ง รับคนไทยกลับถิ่นสร้างอาชีพใหม่

เอ็นไอเอ ชู 3 นวัตกรรมรับเปิดเทอม

ขณะที่ธุรกิจของสตาร์ทอัพที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดอันดับแรก คือ 1. ธุรกิจการบินที่ได้รับผลกระทบโดยตรง 2. การท่องเที่ยว รวมถึงการจองโรงแรม การขนส่งโลจิสติกส์ บริการเช่ารถ ร้านอาหารที่เกี่ยว ข้องกับเทคโนโลยีในการท่องเที่ยวทั้งหมด 3. ธุรกิจอาหาร และบริการ เนื่องจากนักท่องเที่ยวลดลงจำนวนการบริโภคอาหารและการจับจ่ายใช้สอยก็ลดลงด้วย 4. ภาคอุตสาหกรรม เมื่อไม่มีทรานแซคชันเกิดขึ้น เมื่อไม่มีการเดินทางภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องจึงได้รับผลกระทบ  5. อสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากสถานการณ์โควิดทำให้มีการทำงานจากที่บ้าน หรือ work from home มากขึ้นส่งผลให้การเช่าอาคารสำนักงานลดลง มีการลดขนาดองค์กรขนาดที่ทำงานลง แต่ทั้งนี้เอ็นไอเอมองว่าเกษตรไทยเป็นทางออก เพราะภาพรวมด้านการเกษตรส่งผลให้ตัวเลขภาคอุตสาหกรรมดีขึ้น

 

อย่างไรก็ตามสำหรับภาพรวมการลงทุนของสตาร์ทอัพในช่วงนี้ยังไม่เรียกว่าคึกคักแต่เริ่มมีการดีดตัวขึ้น เชื่อว่า ช่วงต้นปีหน้าจะคึกคักมากขึ้น โดยขณะนี้นักลงทุน (VC) ยังลงทุนต่อเนื่องแต่จะมองหาธุริจที่ลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนกลับคืนมาเร็วที่สุด ช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงของการลงทุนสำหรับนักลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ เรียกว่าจะได้ของดีราคาถูกเพราะไม่มีใครดึงค่าตัว แต่ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ของโควิด-19 ส่งผลให้การลง ทุนนั้นลดลงอย่างเห็นได้ชัด นักลงทุนยังมองถึงเรื่องความเสี่ยงต่างๆ โดยมูลค่าการลงทุนในสตาร์ทอัพลดลงจากปีที่แล้วไม่ตํ่ากว่า 30% QoQ ทั้งนี้เชื่อว่าการลงทุนของสตาร์ทอัพจะสูงขึ้นในต้นปี 2564 เนื่องจากสตาร์ทอัพมีการปรับตัว (Agile) ได้เร็ว 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,601 หน้า 16 วันที่ 16 - 19 สิงหาคม 2563