“ยางพารา” เป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของไทย ทำรายได้เข้าประเทศปีละกว่า 4 แสนล้านบาท แต่การส่งออกยางพาราส่วนใหญ่อยู่ในรูปวัตถุดิบแปรรูปขั้นต้น มีมูลค่าเพิ่มตํ่า เช่น ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และนํ้ายางข้น ทำให้มีผลต่อการสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศและการยกระดับรายได้ของเกษตรกรไม่มากเท่าที่ควร หากเรื่องนี้ได้รับการพัฒนา จะส่งผลดีต่อประเทศและเกษตรกรชาวสวนยางอย่างมหาศาล
ทั้งนี้หนึ่งในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากนํ้ายางพารา คือการใช้นวัตกรรมเชื่อมต่อไปสู่อุตสาหกรรมความงามโดยพัฒนาเป็น "สครับ“เม็ดบีดส์” เพื่อการขัดผิวที่ปัจจุบันมีเทรนด์การเติบโตอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาเม็ดบีดส์ที่ใช้ในการขัดผิวส่วนใหญ่มาจากโพลีเอทิลีน ซึ่งเป็นบีดส์พลาสติกที่ได้มาจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีซึ่งโพลีเอทิลีน มีข้อดี คือสามารถกำหนดขนาดที่แน่นอนได้อย่างแม่นยำ มีความคงตัวสูง แต่มีข้อด้อย คือเป็นพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ แม้เวลาจะผ่านไปเป็นร้อยปี ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศทางนํ้าที่อาจปนเปื้อนเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันทั้งสหรัฐฯและสหภาพยุโรปได้ออกกฎหมายห้ามใช้โพลีเอทิลีนไมโครบีดส์เป็นวัสดุขัดผิวแล้ว ส่วนในไทยได้ห้ามนำพลาสติกไมโครบีดส์มาใช้ในการผลิตเครื่องสำอาง เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2562 ส่งผลให้ในปัจจุบันเทรนด์เม็ดบีดส์ขัดผิวจากวัสดุธรรมชาติได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
รศ.ดร.ช.วยากรณ์ เพ็ชญไพศิษฏ์ อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร หัวหน้าทีมผู้ที่คิดค้น และพัฒนา “Rubber beads” กล่าวว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นได้เล็งเห็นแนวทางในการนำยางพาราซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจ 1 ใน 3 ของประเทศมาใช้ ซึ่งในห้องปฏิบัติการได้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการนำนํ้ายางพารามาประยุกต์ใช้อยู่แล้ว และนักวิจัยได้คิดค้นต่อยอดหาวิธีพัฒนาเม็ดบีดส์จากยางพารา พบว่า เพียงนำนํ้ายางธรรมชาติมาทำปฏิกิริยาทางเคมี หลังเสร็จสิ้นปฏิกิริยาไขนํ้ายางลงในนํ้าเย็น และหลังอบแห้งจะได้ยางผงออกมา มีข้อดีคือสามารถเตรียมขนาดของเม็ดบีดส์ได้หลากหลายตั้งแต่ 50-1,000 ไมครอน เม็ดบีดส์มีลักษณะมนกลม เมื่อนำมาขัดผิวจะได้สัมผัสที่นุ่ม ไม่ระคายเคือง
นวัตกรรมใหม่รับเบอร์บีดส์จึงผลิตขึ้นมาเพื่อมาทดแทนเม็ดบีดส์จากพลาสติก ลดช่องว่างเรื่องขนาด และเหลี่ยมมุมของเม็ดบีดส์จากธรรมชาติ ทั้งยังมีจุดเด่นเรื่องความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถย่อยสลายได้ในธรรมชาติในสภาวะที่มีจุลินทรีย์โดยทั่วไป นอกจากนี้รับเบอร์บีดส์ยังสามารถดูดซับกับสารในสมุนไพรได้ เช่น ขมิ้น ฝาง และอัญชัน เป็นต้น ซึ่งเมื่อนำไปใช้ขัดผิว สารจากสมุนไรดังกล่าวจะค่อย ๆ ออกสู่ผิว ทำให้ผิวได้รับการบำรุงอย่างดี ถือเป็นทางเลือกใหม่ในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับนํ้ายางพารา
สำหรับการใช้งานสามารถนำรับเบอร์บีดส์ผสมกับเครื่องสำอางต่าง ๆ เช่น โฟมล้างหน้า ก้อนสบู่ และครีมอาบนํ้า เป็นต้น เพื่อช่วยในการทำความสะอาด และขัดผิวได้ตามที่ต้องการ นอกจากนี้ยังสามารถใช้ได้กับอุตสาหกรรมสปาที่มีการขัดผิวเม็ดบีดส์ยางพารา คุณสมบัติของรับเบอร์ บีดส์ มี Sieve ขนาด 50-150 ไมครอน ทำให้ขัดผิวได้ละเอียดกว่า จุดเด่นช่วยกำจัดคราบความสกปรกออกจากรูขุมขน ช่วยฟื้นฟูสภาพผิว ช่วยในการหมุนเวียนของเส้นเลือดใต้ผิวหนังได้ลดริ้วรอยของผิวพรรณ และลดเซลลูไลท์ สำหรับกลุ่มเป้าหมายคือโรงงานผลิตเครื่องสำอาง หรือโรงงานอื่นๆ ที่ต้องการผงขัด เช่นยาสีฟัน กลุ่มธุรกิจบริการด้านสปา บุคคลทั่วไปที่ต้องการดูแลผิวหน้าและผิวกายโดยการขัด เป็นอีกทางเลือกใหม่ในยุค “New Normal”
หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,605 วันที่ 30 - 2 กันยายน พ.ศ. 2563