สถานการณ์การระบาดของโรค โควิด-19 นั้นส่งผลให้เทคโนโลยีด้านบริการทางการแพทย์มีแนวโน้มการเติบโตอย่างมาก ทั้งนี้ในปี 2562 ภาพรวมการให้บริการแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine ทั่วโลกมีมูลค่าอยู่ที่ 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และคาดว่าจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นถึง 1.75 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2569 โดยมีอัตราเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 19.3% เช่นเดียวกับประเทศไทยที่หลายหน่วยงานมีการเร่งผลักดันเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมด้านดิจิทัลเฮลท์แคร์ให้เติบโตยิ่งขึ้น
ศ.นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ล่าสุดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ ซิสโก้ ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ภายใต้ “โครงการร่วมพัฒนานวัตกรรมด้านสาธารณสุขและเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Med Tech Co-innovation)” เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และสนับสนุนเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาสาธารณสุข โดยได้มีการพัฒนาใน 2 ระบบคือ 1. ระบบติดตามการจ่ายยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ทำให้บริหารจัดการงบประมาณคลังยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 2. ระบบติดตามสถานะการให้บริการทางการแพทย์ ที่ผู้ป่วยสามารถเรียกดูข้อมูลสถานะการให้บริการผ่านแอพพลิเคชันของโรงพยาบาล รวมถึงการให้คำปรึกษาจากแพทย์ผ่านระบบทางไกล (Tele- consulting) ที่ในระยะยาวจะสามารถลดจำนวนผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลได้ราว 30%
ทั้งนี้จากกรณีของโรงพยาบาลที่ถูกโจมตีจากแฮ็กเกอร์และก่อให้เกิดความเสียหายของข้อมูลที่ผ่านมาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น ก็ได้เคยเจอเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกัน ทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของการสำรองข้อมูล (Backup) โดยอาจจะต้องมีการแบ็กอัพข้อมูลหลายชั้นเพื่อลดความเสี่ยงหากข้อมูลในชั้นแรกเสียหายหรือไม่สามารถเข้าถึงได้ ทั้งนี้หลังจากตรวจสอบแล้วคาดว่าเกิดจากการที่บุคลากรนำอุปกรณ์อื่นเข้ามาใช้ในระบบของโรงพยาบาลที่เป็นระบบปิดทำให้มีการเข้าถึงข้อมูลจากภายนอกได้ดังนั้นการให้ความรู้แก่ บุคลากรถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ รวมทั้งมีการจัดตั้งบุคลากรและระบบป้องกันที่มีการแจ้งเตือนเมื่อเกิดภัยคุกคามจากไซเบอร์ ซึ่งมีการลงทุนติดตั้งระบบไซเบอร์ซิเคียวริตี้แล้วกว่า 50 ล้านบาท ในเฟสแรกและจะมีเฟสที่ 2 ตามมา ซึ่งโรงพยาบาลต้องมีการ เตรียมพร้อมที่จะเผชิญกับภัยคุกคามทางไซเบอร์
ด้านนายวัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศ ไทยของซิสโก้ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ยังได้มีการพัฒนานวัตกรรมสาธารณสุขต่างๆ ได้แก่ 1. โครงการพัฒนาคัดกรองผู้ป่วยวัณโรค เพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วยวัณโรคที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลด้วย AI และ Deep Learning 2. โครงการดูแลผู้ป่วยประคับประคองผ่านระบบการสื่อสารทางไกล ดูแลผู้ป่วยติดเตียงโดยไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล และ 3. โครงการดูแลผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวานโดยเจ้าหน้าที่ อสม.ให้ความรู้เจ้าหน้าที่ อสม. ผ่าน Cisco Webex
อย่างไรก็ตามความร่วมมือ ในครั้งนี้มุ่งพัฒนา การให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อรองรับผู้ป่วยจาก 17 จังหวัดในเขตภาคเหนือ ขณะที่มาตรฐานด้านความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนตัวของคนไข้นั้น ได้ดำเนินการตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่นำมาใช้เป็นกรอบ ในการออกแบบ ขณะเดียวกันอุปกรณ์ที่ใช้ในการเชื่อมต่อก็จะมีการเสริมเรื่องของไซเบอร์ ซิเคียวริตี้ที่สามารถตรวจจับอุปกรณ์แปลกปลอมที่เข้ามาในระบบ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการออกแบบโซลูชันที่คำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลที่ทางซิสโก้ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก เพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะไม่มีการล่วงละเมิดความเป็น ส่วนตัวข้อมูลคนไข้ของโรงพยาบาล
“เรื่องของดิจิทัลเฮลท์แคร์ นั้นเป็นสิ่งที่หลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ โดยเฉพาะหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 การ นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับการแพทย์และการให้บริการด้านสาธารณสุขจะช่วยลดความเหลื่อมลํ้าของการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ของประชาชนได้”
: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,609 หน้า 16 วันที่ 13-16 กันยายน 2563