นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Park Thailand) ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมความเห็นของนักลงทุน เกี่ยวกับร่างเอกสารการคัดเลือกเอกชนที่ปรับ แก้ไขแล้วและความเห็นเกี่ยวกับกำหนดการเปิดขายซองที่นักลงทุนเห็นว่าเหมาะสม เพื่อคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนของโครงการฯ ซึ่งภายใน 2 เดือนคาดว่าจะสามารถประกาศเงื่อนไขการลงทุน (ทีโออาร์) เพื่อเชิญชวนบริษัทต่างๆ เข้ามายื่นประมูลบนพื้นที่ 700 ไร่ ใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ทั้งนี้กระทรวงดีอีเอส ได้มีการหาลูกค้าต่างชาติให้กับผู้ชนะการประมูลไว้แล้ว โดยเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่จากประเทศสหรัฐอเมริกา 2 ราย มูลค่าการลงทุนบริษัทละ 30,000-40,000 ล้านบาท ซึ่งจะจูงใจให้มีกลุ่มบริษัทอื่นสนใจเข้ามายื่นซองประมูลมากขึ้น
นอกจากนี้กระทรวงดีอีเอส ยังได้มอบหมายให้บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) หรือ CAT ดำเนินการโครง การเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน หรือ ASEAN Digital Hub เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เกิดความเชื่อมั่นและเข้ามาลงทุน ซึ่งประกอบด้วย 1. การขยายความจุโครงข่ายภายในประเทศ 2,300 Gbps เชื่อมโยงชายแดนกัมพูชาลาว และเมียนมา ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2562 2. การขยายความจุระบบโครงข่ายเคเบิลใต้นํ้าระหว่างประเทศที่ใช้เชื่อมต่อในเส้นทางสิงคโปร์ จีน (ฮ่องกง) และสหรัฐอเมริกา จำนวน 3 ระบบคือ AAG, APG, FLAG ดำเนินการติดตั้งแล้วเสร็จทั้ง 3 ระบบ รวมความจุที่ขยายเพิ่ม 1,770 Gbps 3. การสร้างเคเบิลใต้นํ้าระหว่างประเทศระบบใหม่ เชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมของภูมิภาคอาเซียนสนับสนุนไทยสู่ ASEAN Digital Hub โดยมอบหมายให้ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคทดำเนินโครงการ ซึ่งได้ร่วมกับภาคีสมาชิกลงนามสัญญาจ้างก่อสร้างระบบเคเบิล Asia Direct Cable (ADC) เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 ทั้งนี้ระบบเคเบิล ADC มีความยาว 9,400 กม. เชื่อมโยง 6 ประเทศในเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ ไทย จีน (ฮ่องกง) สิงคโปร์ เวียดนามฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2565
สำหรับโครงการก่อสร้างอาคาร Thailand Digital Valley บนพื้นที่ 30 ไร่ด้วยงบประมาณกว่า 3,000 ล้านบาท ในพื้นที่ Digital Park Thailand (EECd) กระทรวงดีอีเอสได้มอบหมายให้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ดำเนินการ ซึ่งขณะนี้อาคารหลังแรกหรือ DEPA Digital One Stop Service นั้นก่อสร้างบนพื้นที่ 1,500 ตารางเมตร ใช้งบประมาณ 48 ล้านบาท ดำเนินการสร้างแล้วเสร็จและมีดิจิทัลสตาร์ทอัพเข้าจองเต็มพื้นที่แล้วขณะที่อาคารที่ 2 Digital Startup Knowledge Exchange Centre บนพื้นที่ 4,500 ตารางเมตรใช้งบประมาณ 168 ล้านบาท เป็นที่ตั้งของสถาบันไอโอทีและนวัตกรรมดิจิทัล ต่อยอดธุรกิจรองรับชุมชนของบรรดาผู้ประกอบการ สตาร์ทอัพ (Startup Community) คาดจะก่อสร้างเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และอาคารหลัง 3 Digital Innovation Centre ใช้งบประมาณ1,300 ล้านบาท พื้นที่ 40,000 ตารางเมตร อยู่ระหว่างการดำเนินการประกวดราคาจ้างก่อสร้างอาคาร นอกจากนี้อาคารที่ 4 Digital Edutainment Centre และอาคาร 5 Digital Go Global Centre จะเริ่มก่อสร้างภายในปี 2565 บนพื้นที่อาคารละ 20,000 ตารางเมตร ใช้งบประมาณอาคารละ 800 ล้านบาท
ขณะที่ดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) และดาวเทียมไทยคม 6 จะสิ้นสุดสัมปทานลงในเดือนกันยายน 2564 โดยจะกลับคืนเป็นสินทรัพย์ของภาครัฐ คือ กระทรวงดีอีเอส จึงได้มอบหมายให้แคทรับหน้าที่บริหารจัดการทรัพย์สินดาวเทียม ตามอายุทางวิศวกรรมของดาวเทียมที่เหลือ อยู่หลังสิ้นสุดสัญญา โดยดาวเทียมไทยคม 4 มีอายุทางวิศวกรรมถึงปี 2566 และดาวเทียมไทยคม 6 มีอายุทางวิศวกรรมถึงปี 2572 โดยแคทได้ส่งทีมเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรกิจดาวเทียม 24 นาย เข้าฝึกอบรมปฏิบัติการกับไทยคมตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา โดยเป็นการฝึกอบรมล่วงหน้า 1 ปี ก่อนสิ้นสุดสัมปทาน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมบุคลากร และอยู่ระหว่าง ดีอีเอสนำเสนอ ครม. อนุมัติแผนบริหารจัดการดาวเทียมแห่งชาติแบบจีทูจี ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ และบอร์ดดีอีแล้วเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา
: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,610 หน้า 16 วันที่ 17-19 กันยายน 2563