“แอร์บัส” เผยโฉม เครื่องบินพาณิชย์ ไร้มลพิษครั้งแรกของโลก

04 ต.ค. 2563 | 04:46 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ต.ค. 2563 | 11:57 น.

การใช้ “ไฮโดรเจน” มาเป็นพลังงานหลักในการขับเคลื่อน เราอาจเห็นกันอยู่แล้วสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ แต่วันนี้ในอุตสาหกรรมการบิน ก็มีโซลูชั่นการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคที่ใช้ไฮโดรเจน เป็นแหล่งพลังงานหลักในเครื่องบินเช่นกัน

      ล่าสุด “แอร์บัส” ได้เปิดตัว เครื่องบินพาณิชย์ต้นแบบ จำนวน 3 รุ่น ที่จะเป็นเครื่องบินรุ่นที่ ไม่ปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศครั้งแรกของโลก ซึ่งจะสามารถนำมาให้บริการได้ภายในปี 2578

       เครื่องบินพาณิชย์ต้นแบบ ทั้ง 3 รุ่น มีรหัสชื่อ “ZEROe” ซึ่งแต่ละแนวคิดมีวิธีการนำเสนอที่ต่างกัน โดยแอร์บัสได้คิดค้นเทคโนโลยีหลากหลายรูปแบบ และการปรับด้านอากาศพลศาสตร์เพื่อให้รองรับความพยายามและมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำเรื่องการใช้พลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรมการบิน บรรลุเป้าหมายในการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Climate neutral)

“แอร์บัส” เผยโฉม เครื่องบินพาณิชย์ ไร้มลพิษครั้งแรกของโลก

       เครื่องบินพาณิชย์ต้นแบบ ทั้ง 3 รุ่น ประกอบไปด้วย

เครื่องบินแบบเครื่องยนต์เทอร์โบแฟน (Turbofan)

       1. เครื่องบินแบบเครื่องยนต์เทอร์โบแฟน (Turbofan)  บรรทุกผู้โดยสารตั้งแต่ 120 ถึง 200 คน สามารถบินข้ามทวีปได้ด้วยระยะทางกว่า 2,000 ไมล์ทะเล และขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์กังหันก๊าซแบบดัดแปลงโดยใช้ไฮโดรเจนผ่านการสันดาปแทนนํ้ามันเครื่องบิน ไฮโดรเจนเหลวจะถูกเก็บและจ่ายผ่านตัวถังที่อยู่ด้านหลังแผงกั้นแรงดันท้าย

       2. เครื่องบินแบบเครื่องยนต์เทอร์โบพร็อป (Turbo prop)  บรรทุกผู้โดยสารจำนวนไม่เกิน 100 คน ใช้เครื่องยนต์เทอร์โบพร็อปแทนเครื่องยนต์เทอร์โบแฟน และขับเคลื่อนด้วยการสันดาปไฮโดรเจนในเครื่องยนต์กังหันก๊าซแบบดัดแปลง ซึ่งสามารถเดินทางด้วยระยะทางมากกว่า 1,000 ไมล์ทะเล ถือได้ว่าเป็นทางเลือกที่สมบูรณ์แบบเหมาะแก่การบินในระยะสั้น

เครื่องบินแบบเครื่องยนต์เทอร์โบพร็อป (Turbo prop)

       3. เครื่องบินแบบ “blended-wing body”  มีจุดเด่นตรงที่ตัวถังของเครื่องกับปีกผสานเป็นชิ้นเดียวกัน บรรทุกผู้โดยสารจำนวนไม่เกิน 100 คน เป็นแนวคิดที่ปีกเครื่องบินผสมผสานรวมเข้ากับลำตัวเครื่องบิน มีลักษณะเป็นสามเหลี่ยม สามารถเดินทางด้วยระยะทางเช่นเดียวกับแนวคิดการออกแบบเครื่องยนต์แบบเทอร์โบแฟน ลำตัวที่กว้างเป็นพิเศษทำให้เกิดทางเลือกหลายช่องทางในการจัดเก็บและการจ่ายไฮโดรเจน รวมถึงทางเลือกของรูปแบบห้องโดยสาร

. เครื่องบินแบบ “blended-wing body”

          นายกิลโยม โฟว์รี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทแอร์บัส กล่าวว่า สิ่งนี้ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ภาคการบินพาณิชย์ ที่เราตั้งใจขอรับหน้าที่เป็นผู้นำทางสู่ยุคเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในอุตสาหกรรมการบิน และแสดงถึงความมุ่งมั่นที่เราได้ขับเคลื่อนวิสัยทัศน์อันแน่วแน่ เพื่ออนาคตของการบินที่ปล่อยมลภาวะเป็นศูนย์ ซึ่งผมเชื่อเหลือเกินว่าการใช้ไฮโดรเจนกับเครื่องบินพาณิชย์ ทั้งรูปแบบเชื้อเพลิงสังเคราะห์และแหล่งพลังงานหลัก มีศักยภาพในการลดผลกระทบด้านสภาพอากาศของการบินได้เป็นอย่างมาก

        อีกทั้งการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคที่ใช้ ไฮโดรเจน เป็นแหล่งพลังงานหลักในเครื่องบิน จำเป็นต้องอาศัยการดำเนินการขั้นเด็ดขาดด้วยความร่วมมือของระบบอุตสาหกรรมการบินทั้งระบบ ซึ่งต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาครัฐและพันธมิตรในอุตสาหกรรม เพื่อให้เราสามารถก้าวผ่านความท้าทายนี้ที่จะทำการใช้พลังงานหมุนเวียนและไฮโดรเจนเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของอุตสาหกรรมการบินขยายวงกว้างขึ้น

“แอร์บัส” เผยโฉม เครื่องบินพาณิชย์ ไร้มลพิษครั้งแรกของโลก

      ในการรับมือกับความท้าทายนี้ ท่าอากาศยานต่างๆ ต้องให้ความสำคัญกับการใช้ยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจน ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานของระบบเติมเชื้อเพลิงเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของการใช้งานในแต่ละวัน การให้การสนับสนุนจากรัฐบาลจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้บรรลุความมุ่งหวัง ด้วยการสนับสนุนเงินทุนเพื่อพัฒนางานวิจัยและเทคโนโลยี กระบวนการในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล) และกลไกที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้พลังงานที่ยั่งยืน รวมไปถึงการต่ออายุการใช้งานของฝูงบิน และทำให้สายการบินสามารถปลดระวางเครื่องบินรุ่นเก่าที่ไม่ค่อยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ3614 วันที่ 1-3 ตุลาคม 2563

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
The Future Of Flight เทคโนโลยีไร้คนขับ“แอร์บัส”
แอร์บัส“Keep Trust in Air Travel”
‘แอร์บัส’เผยโฉม MAVERICเครื่องบินแห่งอนาคต​​​​​​​
​​​​​​​