Loops เร่งขยายบริการ สร้างมาตรฐาน ‘ขนส่งสาธารณะ’

08 ต.ค. 2563 | 02:43 น.
อัปเดตล่าสุด :08 ต.ค. 2563 | 09:46 น.

        จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของปัญหาการเดินทางด้วยรถโดยสารเพื่อไปชมคอนเสิร์ต ก่อเกิดเป็นความต้องการในการยกระดับการเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะของคนไทย “โมสต์-อิทธิกร อัฑฒพงษ์” CEO และผู้ก่อตั้ง Loops เปิดเผยผ่านบทสัมภาษณ์ของ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงที่มาของแพลตฟอร์มสำหรับการหารถตู้หรือรถโดยสารล่วงหน้าเพื่อความสะดวกในการเดินทางไปชมคอนเสิร์ตพร้อมแนวคิดในการขยายการเติบโตไปยังกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ

อิทธิกร อัฑฒพงษ์” CEO และผู้ก่อตั้ง Loops 

ที่มาของ Loops

       เนื่องจากในพื้นที่ กรุงเทพฯและปริมณฑลมีการจัดงานอีเวนต์หรือคอนเสิร์ตอย่างต่อเนื่อง โดยใน 1 ปีจะมีการจัดคอนเสิร์ตกว่า 1,500 งาน ซึ่งการเดินทางไปกลับค่อนข้างลำบากเพราะงานส่วนใหญ่เลิกดึกต้องรอคิวขึ้นรถนาน จึงเป็นที่มาของความต้องการที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว สำหรับบริการของ Loops คือ การจองที่นั่งล่วงหน้าด้วยการเลือกจุดหมายที่ต้องการเดินทางและจุดนัดรับผ่านเว็บแอพพลิเคชันหรือ LINE Official Account และชำระเงินผ่านโมบายแบงกิ้ง ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับผู้โดยสารที่ไม่ต้องไปรอคิวรถ ขณะที่ผู้ให้บริการเดินรถก็สามารถจัดรถให้เพียงพอกับจำนวนผู้โดย สารในการเดินทางแต่ละครั้งได้ ซึ่งรถที่ให้บริการนั้นหลักๆ จะเป็นรถตู้ซึ่งเป็นการพาร์ทเนอร์กับบริษัทเดินรถต่างๆ ทั้งรถสาธารณะ และบริษัทเช่ารถทั่วไป

จ่ายตํ่ากว่าเดินทางปกติ

     สำหรับโมเดลรายได้ของ Loops คือ ส่วนแบ่งจากค่าโดยสารตั้งแต่ 0-15% ขึ้นอยู่กับเส้นทาง หากเดินทางด้วยรถสาธารณะทั่วไปจะต้องต่อรถหลายต่อ ทั้งมอเตอร์ไซค์ รถเมล์ รถไฟฟ้า เมื่อเปรียบเทียบภาพรวมอัตราค่าโดยสารการเดินทางกับ Loops จะทำให้ค่าโดยสารตลอดเส้นทางถูกลง โดยปัจจุบัน Loops ให้บริการในพื้นที่หลักๆ คือ เมืองทองธานี-กรุงเทพฯ รวมถึงการจับคู่กับกลุ่มบริษัทต่างๆ เพื่อรับส่งพนักงานและขยายบริการออกไปยัง พื้นที่อื่นๆ เพิ่มเติม

Loops เร่งขยายบริการ สร้างมาตรฐาน ‘ขนส่งสาธารณะ’

ปรับแผนฝ่าโควิด

    ทั้งนี้ในช่วงสถานการณ์โควิดนั้น Loops ก็ได้รับผลกระทบเช่น เดียวกับธุรกิจอื่นๆ เนื่องจากการงดจัดงานอีเวนต์และคอนเสิร์ตต่างๆ โดยยังพยายามที่จะรักษาฐานลูกค้ากลุ่มเดิมไว้ และได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น การทำระบบโควิดแทร็กกิ้งเพื่อติดตามการเดินทางของผู้โดยสาร ซึ่งมีผู้ใช้มากกว่า 800 ที่นั่งต่อวัน แต่หลังจากที่แพลตฟอร์มไทยชนะเข้ามาก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนเป็นระบบการชำระเงินแบบไร้เงินสด รวมถึงมีการพัฒนาบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาให้บริการ ขณะที่แผนการดำเนินงานในปีนี้ยังคงเป็นการทดลอง การให้บริการไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมายใหม่เพื่อปูทางธุรกิจไปสู่ การเติบโตที่แข็งแกร่งในปีหน้า

ขยายสู่คนทำงาน

      ที่ผ่านมาปัญหาของระบบ การขนส่งสาธารณะในไทยมีค่อนข้างมาก ในความเป็นจริง Loops ไม่ได้ตั้งเป้าหมายธุรกิจแค่เพียงรถโดยสารเพื่อไปชมคอนเสิร์ตเท่านั้นแต่ยังมองไปถึงเรื่องการแก้ไขปัญหาการขนส่งสาธารณะที่ทุกคนใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ในสถานการณ์โควิด- 19 Loops ได้มีขยายการให้บริการไปยังกลุ่มพนักงานออฟฟิศมากขึ้น

“กลุ่มผู้ชมคอนเสิร์ตเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการสร้างแพลตฟอร์มนี้ สุดท้าย Loops ตั้งใจที่จะแก้ปัญหาของคนที่เดินทางด้วยรถสาธารณะจริงๆ ในกรุงเทพ ซึ่งมีวันละหลายล้านคนที่จะเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของธุรกิจ”

       ขณะที่ในปีที่ผ่านมา Loops มีผู้ใช้บริการกว่า 10,000 ที่นั่ง เติบโตขึ้นประมาณ 7 เท่า และผู้ใช้รวมทั้งหมดกว่า 30,000 ที่นั่ง ทั้งนี้ในปี 2564 Loops ตั้งเป้าที่จะเพิ่มยอดผู้ใช้งานให้ได้วันละ 1,400 ที่นั่ง จากปัจจุบันมีผู้ใช้งาน 50 ที่นั่งต่อวัน

 

มาตรฐานการเดินทางใหม่

     อย่างไรก็ตาม Loops มีเป้าหมายที่จะเข้ามาช่วยยกระดับมาตรฐานการเดินทางของผู้โดยสารในกรุงเทพฯ ให้มีการใช้งานที่เป็นระบบมากขึ้น เช่น ในอนาคตการโดยสารผ่านรถตู้จะไม่ต้องใช้เงินสด แต่เป็นการเติมเที่ยวเดินทางล่วงหน้า ยกเลิกการเก็บเงินผ่านตะกร้าที่รถตู้ใช้กันในปัจจุบัน การยืนเข้าคิวรอรถตู้ก็จะหายไป เมื่อมีการจองล่วงหน้าก็จะทำให้สามารถจัดระเบียบหรือบริหารจัดการจำนวนรถที่เพียงพอต่อผู้โดยสาร สามารถปรับเปลี่ยนสถานที่ ในการรับผู้โดยสารไปยังจุดอื่นๆ ได้ตามต้องการ ลดจำนวนผู้โดยสารหนาแน่นและแออัดบริเวณท่ารถ  ทำให้การเดินทางในกรุงเทพฯมีความสะดวกมากขึ้น สภาพการจราจรติด ขัดน้อยลงและระบบขนส่งสาธารณะที่จะมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

 

: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,616 หน้า 16 วันที่ 8-10 ตุลาคม 2563 

 

โดย : ภาพิมล ภูมิถาวร