นายอเล็กซานเดอร์ เฟลเดอร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟู้ดแพนด้า (ประเทศไทย) จำกัดและผู้ร่วมก่อตั้ง foodpanda เปิดเผยว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมฟู้ดดีลิเวอรีนั้นมีการเติบโตอย่างรวดเร็วโดยในช่วงปี 2561-2562 เติบโตกว่า 8-9 เท่า และในปีหน้าคาดการณ์ว่ายังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันตลาดฟู้ดดีลิเวอรีมีจำนวนออเดอร์ราว 1.5 ล้านออเดอร์ต่อวัน จะเห็นว่าประเทศไทยนั้นมีศักยภาพในการเติบโตจากประชากรกว่า 60 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งบริการฟู้ดดีลิเวอรียังสามารถเข้าถึงประชากรได้มากกว่าครึ่งนึงของประชากรทั้งประเทศ ขณะที่ฟู้ดแพนด้า ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา มีพาร์ทเนอร์ร้านอาหารเพิ่มขึ้นกว่า70,000 ร้าน รวมแล้วกว่า 120,000 ร้าน และคนขับ (Rider) หลักแสนคน ให้บริการครอบคลุมพื้นที่ 27 จังหวัด
“สำหรับปี 2563 นั้นเป็นปีแห่งความท้าทายของธุรกิจนี้ เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากการระบาดของโรคโควิด-19 โดยความต้องการสั่งสินค้าที่มีความสะดวก รวดเร็ว ส่งถึงบ้านเพิ่มสูงขึ้น ครอบคลุมตั้งแต่การสั่งอาหารไปจนถึงสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งฟู้ดแพนด้าได้ยกระดับการให้บริการให้มีหมวดสินค้าเพิ่มมากขึ้นเพื่อสอด คล้องกับความต้องการของผู้บริโภค จนส่งผลให้ยอดคำสั่งซื้อของ 4 เดือนแรกในปี 2563 พุ่งสูงกว่ายอดคำสั่งซื้อตลอดทั้งปีของปี 2562 ทำให้ระยะเวลาเฉลี่ยของการส่งสินค้าต่อครั้งในปัจจุบันลดลงตํ่ากว่า 20 นาที”
ทั้งนี้ฟู้ดแพนด้ายังคงเดินหน้ากลยุทธ์ Hyperlocalization ที่เน้นการขยายบริการให้ครอบคลุมความต้องการของผู้บริโภคและเพิ่มจำนวนพาร์ทเนอร์ร้านอาหารให้ได้มากที่สุด รวมถึงมีส่วนช่วยสร้างรายได้แก่ไรเดอร์ ผลักดันให้ร้านอาหารท้องถิ่นมีการเข้าถึงเศรษฐกิจดิจิทัล และกระตุ้นยอดคำสั่งซื้ออาหารเพิ่มสูงขึ้น 10 เท่า รวมทั้งขยายบริการให้ครอบคลุมหัวเมืองใหญ่ทั้ง 77 จังหวัดภายใน 12 เดือน บนความท้าทายในการสร้างการเติบโตให้กับชุมชนท้องถิ่น และเข้าถึงลูกค้ากลุ่มที่อยู่ห่างไกลจากหัวเมืองใหญ่ๆปัจจุบันฟู้ดแพนด้ามีสัดส่วนพาร์ทเนอร์ร้านอาหารรายเล็กอยู่ที่ 90% และอีก 10% เป็นร้านอาหารเชน
“สำหรับกลยุทธ์ในการขยายบริการที่โฟกัสร้านอาหารขนาดเล็ก เพราะจุดมุ่งหมายคือการทำให้ฟู้ดแพนด้าเป็นบริการที่ลูกค้าใช้ทุกวัน การเข้าสู่ตลาดร้านอาหารขนาดเล็กเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้าได้มากขึ้น ซึ่งการขยายบริการไปยัง 77 จังหวัดนั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้น หลังจากนี้เป้าหมายคือการทำให้บริการเข้าถึงผู้บริโภคในทุกพื้นที่ไม่เฉพาะแค่หัวเมืองใหญ่ แต่จะขยายไปในทุกๆ เมืองในแต่ละจังหวัดโดยตั้งเป้าเพิ่มพาร์ทเนอร์ร้านอาหารให้ได้ 3-4 แสนร้าน หรือมากกว่า ซึ่งสิ่งที่โฟกัสคือการช่วยสร้างอาชีพให้ทั้งพาร์ทเนอร์ร้านอาหารและไรเดอร์”
ขณะที่โมเดลการเก็บค่าคอมมิชชัน หรือ GP (Gross Profit) หลายคนอาจมองว่ามีเปอร์เซ็นต์ที่สูงเกินไปเมื่อเทียบกับเจ้าอื่นในตลาด แต่ฟู้ดแพนด้ามองว่ามีความสมเหตุสมผลกับทุกคนที่มีส่วนร่วมทั้งพาร์ทเนอร์ร้านอาหารไรเดอร์และผู้ใช้บริการ เป็นอัตราที่ยังสร้างกำไรให้กับร้านค้าได้ และราคาที่ลูกค้าสามารถเข้าถึงบริการดีลิเวอรีได้ โดยเปอร์เซ็นต์ค่าคอมมิชชันนั้นขึ้นอยู่กับยอดคำสั่งซื้อด้วย ซึ่งถูกกว่าการที่ร้านอาหารไปเปิดบริการฟู้ดดีลิเวอรีและจ้างไรเดอร์เอง
: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,627 หน้า 16 วันที่ 15-18 พฤศจิกายน 2563