ธุรกิจการขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์เป็นธุรกิจที่มีการเติบโต 200-300% ช่วงโควิดที่ผ่านมา โดยรายงานการวิจัยติดตามการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำปี 2563 ของ Google, Temasek และ Bain & Company ระบุว่าบริการขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์ ของไทยปี 2563 มีมูลค่า 1.1 พันล้านดอลลาร์ หรือ 3.41 หมื่นล้านบาท คาดว่าในปี 2568 จะมีมูลค่า 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ หรือประมาณ 2.17 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตามพบว่าท่ามกลางการเติบโตของธุรกิจ เกิดกรณีการร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากกลุ่มร้านอาหารว่ามีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มบางรายฉวยโอกาสปรับขึ้นค่าบริการจากร้านค้า จนเป็นเหตุให้ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 พ.ย.2563 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เรื่องแนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มรับและส่งอาหารกับผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร โดยสาระสำคัญของประกาศดังกล่าวระบุถึงการเรียกเก็บค่าส่วนแบ่งรายได้ (Commission Fee หรือ Gross Profit (GP)) โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรหรือมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติ อันมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดเช่น การเรียกเก็บค่าส่วนแบ่งรายได้ในอัตราที่เพิ่มสูงขึ้น โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรจากอัตราที่เคยเรียกเก็บ โดยประกาศดังกล่าวมีผลวันที่ 23 ฝธ.ค.2563
ด้านนางสาวจันต์สุดา ธนานิตยะอุดม ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด แกร็บ ประเทศไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าด้วยรูปแบบของธุรกิจฟู้ดดิลิเวอรีที่ต้องอาศัยความสามารถในการปรับตัวอย่างรวดเร็ว และเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนหลากหลาย แกร็บมองว่ากฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ควรพิจารณาภาพรวมของธุรกิจส่งอาหาร ซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่แพลตฟอร์มและร้านอาหารเท่านั้น แต่ยังมีคนขับและผู้บริโภคอีกด้วย ดังนั้น หากโครงสร้างการเก็บค่ารายได้สามารถนำไปสู่การกระจายผลประโยชน์แก่กลุ่มคนทั้งหมดในอีโคซิสเต็ม กล่าวคือ ผู้บริโภคได้รับบริการที่สะดวกรวดเร็วในราคาที่เอื้อมถึง คนขับมีรายได้ที่สม่ำเสมอและอิสระในการปฏิบัติงาน และร้านอาหารมีเครื่องมือในการทำการตลาดที่มีประสิทธิภาพ ก็น่าจะเป็นโมเดลที่เหมาะสมสำหรับธุรกิจฟู้ดดิลิเวอรีในระยะยาว
“การเก็บค่า GP ของร้านค้าที่อยู่บนแพลตฟอร์มนั้น เมื่อเทียบเคียงกับระบบที่ร้านอาหารเข้าไปขายในห้างสรรพสินค้า ซึ่งจะต้องมีการจ่ายค่า GP ที่ 20-40% อยู่แล้ว การที่ร้านอาหารเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มและต้องจ่ายค่า GP% อยู่ที่ 30% อยากให้ดูว่าแพลตฟอร์มคิดค่าส่งอาหารจากผู้บริโภคอยู่ที่ 10 บาท หรือส่งฟรี แต่รายได้ที่จ่ายให้พาร์ทเนอร์คนขับอยู่ที่ 30-50 บาท ยกตัวอย่างให้เห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อสั่งอาหาร 1 ออเดอร์เป็นเงินรวม 150 บาท เมื่อคิดค่า GP% ด้วยอัตราที่มากสุด จะอยู่ที่ 45 บาท แกร็บจ่ายค่าส่งให้คนขับ 40 บาท นั่นหมายความว่าจะเหลืออยู่ที่แพลตฟอร์มเพียง 5 บาทต่อ 1 ออเดอร์ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วแกร็บก็ยังมีค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ค่าพัฒนาเทคโนโลยี ค่าพนักงาน เป็นต้น”
ภาพรวมของธุรกิจส่งอาหารออนไลน์ไม่ได้มีเพียงแค่แพลตฟอร์ม และร้านอาหาร ซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้อง ทั้งคนขับ และผู้บริโภคอีกด้วย โดยสภาพการแข่งขันของธุรกิจส่งอาหารออนไลน์มีสภาพการแข่งขันสูง และร้านอาหารมีสิทธิเลือกแพลตฟอร์มในการใช้บริการ จากข้อเท็จจริง มีผู้เล่นรายใหม่เข้าในตลาดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี ที่แพลตฟอร์มทั้งหมดจะแข่งขันกันเพื่อให้สิ่งที่ดีที่สุดแก่ร้านอาหาร คนขับและผู้บริโภค
นางสาวจันต์สุดา กล่าวต่อไปอีกว่า ที่ผ่านมาแกร็บ ได้มีการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด โดยได้มีการพูดคุย และนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจมาโดยตลอด เพื่อใช้เป็นแนวทางให้การปรับกฏข้อบังคับต่างๆ ให้เหมาะสมและใช้งานได้จริง