ปรากฎการณ์เทคโนโลยีปี 63 โควิดตัวเร่งสู่วิถีชีวิตดิจิทัล

02 ม.ค. 2564 | 08:25 น.

ปี 2563 มีปรากฏการณ์สำคัญเกิดขึ้นมากมาย การระบาดของโควิด-19 เป็นตัวขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีของคนไทย และภาคธุรกิจ เพื่อปรับตัวไปสู่วิถีชีวิตใหม่ในยุค New Normal

ปรากฎการณ์ที่เด่นชัดภายหลังเกิดโควิด ภาครัฐมีมาตรการล็อกดาวน์ประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด  ขณะที่ภาคธุรกิจมีนโยบาย ให้พนักงานทำงานที่บ้าน Work From Home ทำให้คนไทยคุ้นเคยกับการใช้งานแอพพลิเคชันประชุมทางไกล ทั้ง ZOOM, Microsoft Team, Google Hangout หรือ Webex ในการประสานการทำงานไม่ให้ธุรกิจสะดุด

 

ขณะเดียวกันการแพร่ระบาดของโควิด และมาตรการล็อกดาวน์ ยังทำให้คนหันมาใช้บริการออนไลน์ทั้ง ช็อปปิ้งออนไลน์ ทำให้เกิดนักช็อปหน้าใหม่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลส และเกิดปรากฎการณ์แบรนด์หันมาใช้ช่องทางออนไลน์ขายสินค้าเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ลาซาด้าในช่วงที่มีการล็อกดาวน์นั้นตั้งแต่เดือนมีนาคมลาซาด้ามีนักช็อปรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนหลายล้านราย โดยพบว่ามีการใช้เวลาบนแพลตฟอร์มลาซาด้าเฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่า 30%

 

 

ปรากฎการณ์เทคโนโลยีปี 63 โควิดตัวเร่งสู่วิถีชีวิตดิจิทัล

 

 

ส่วนช้อปปี้ลูกค้าใช้ระยะเวลาอยู่ในแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้นกว่า 20% และ ฟีเจอร์ Shopee Live มียอดผู้ชมถึง 60 ล้านวิว ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ส่งผลให้กลุ่มสินค้า 4 ประเภทที่เติบโตสูงขึ้นในช่วงโควิด ได้แก่ คอนซูเมอร์ โปรดักต์, สินค้าดูแลสุขภาพ, ของตกแต่งบ้าน อุปกรณ์จัดสวนและต้นไม้และยังทำให้ช้อปปี้มีฐานลูกค้านักช็อปออนไลน์หน้าใหม่เกิดขึ้นจำนวนมากโดยเฉพาะกลุ่มคนมีอายุราวตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป กลุ่มผู้ชายและกลุ่มคนต่างจังหวัด จากเดิมที่ฐานตลาดใหญ่สุดของช้อปปี้คือกลุ่มอายุ 18-35 ปี

อีกบริการออนไลน์ที่เติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญจากวิกฤติิการระบาดของไวรัสโควิด-19 และไทยต้องใช้มาตรการเข้ม งวดจำกัดการให้บริการของภาคธุรกิจเป็นการชั่วคราว ในช่วงล็อกดาวน์ ซึ่งธุรกิจร้านอาหารเหลือเพียงช่องทางการซื้อกลับและการจัดส่งอาหารไปส่งยังที่พัก แอพพลิเคชัน Food Delivery ต่างๆ จึงกลายเป็นช่องทางสำคัญ ของทั้งผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารและผู้บริโภค

 

จากข้อมูลของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์พบว่า มีร้านอาหารขนาดเล็ก-กลาง สมัครเข้าร่วมกับแพลตฟอร์มจัดส่งอาหาร ไม่น้อยกว่า 20,000 รายต่อสัปดาห์ ส่งผลทำให้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 จำนวนครั้งของการจัดส่งอาหารไปยังที่พัก เติบโตสูงถึงประมาณ 150% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

 

การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้ผู้ประกอบการภาคธุรกิจต่างๆ จำเป็นต้องปรับตัวหันมาพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลกันมากขึ้น เพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้โดยไม่สะดุด ทั้งรองรับการทำงานของพนักงานที่บ้าน การประชุมออนไลน์ รวมถึงการขยายช่องทางจำหน่ายผ่านทางออนไลน์ ทำให้จำเป็นต้องมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไอทีเพื่อรองรับ ทำให้ธุรกิจให้บริการเช่าใช้ หรือบริการคลาวด์โซลูชันมากขึ้น (Cloud Solutions) มีการเติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญ

 

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ในปี 2563 ตลาดบริการคลาวด์โซลูชันจะมีมูลค่าประมาณ 15,718 ล้านบาท เติบโตราว 19.4% ซึ่งปัจจัยการเติบโตมาจากองค์กรไม่ต้องลงทุนระบบเอง สามารถขยายระบบตามปริมาณการใช้งาน โดยการเติบโตส่วนใหญ่น่าจะได้รับแรงหนุนจากกลุ่มสถาบันการเงิน ธุรกิจพลังงาน และธุรกิจสั่งอาหารออนไลน์ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีธุรกิจดิจิทัล อย่างบริการวิดีโอ สตรีมมิ่ง หรือวิดีโอ ออนดีมานด์ ที่มียอดการเติบโต 40-50% ในช่วงมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” เพื่อป้อง กันการแพร่กระจายเชื้อโควิด อีกหนึ่งปรากฏ การณ์ที่น่าสนใจ คือ กระแสความนิยม “โครง การคนละครึ่ง” ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

 

โครงการดังกล่าวถือเป็นจุดเริ่มต้นในการดึงคนไทยจำนวนมหาศาลและร้านค้ารายย่อยนับล้านรายเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างแท้จริง โดยแอพฯเป๋าตังส์ และเป๋าตุงของภาครัฐ

 

ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานระบบชำระเงินทางอิเล็ก ทรอนิกส์ที่สำคัญและเป็นจุดเริ่มต้นของสังคมไร้เงินสด หรือ Cashless Society โดยสามารถเปิดให้ภาครัฐ และเอกชน เข้ามาเชื่อมต่อระบบเพื่อก้าวไปสู่ซูเปอร์แอพฯ ของคนไทยอย่างแท้จริง ลดการพึ่งพา หรือข้อมูลของคนไทยรั่วไหลออกสู่ผู้ให้บริการต่างประเทศ

 

ปรากฎการณ์สุดท้ายที่ไม่เกี่ยวข้องกับโควิด คือ กระแสคนไทยแห่ซื้อ iPhone12 โดยยอดการเปิดขายวันแรก 27 พฤศจิกายน iPhone12 ก็สร้างสถิติถล่มทลายสูงกว่า iPhone11 รุ่นขายดีของแอปเปิลมากกว่า 50% นักวิเคราะห์ตลาดไอทีคาดการณ์ว่า iPhone12 จะเป็นฮีโรโปรดักส์ ที่ช่วยผลักดันส่วนแบ่งการตลาดของ Apple ขึ้นไปแตะ 15% จากปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาดเพียง 10% 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,640 หน้า 16 วันที่ 31 ธันวาคม 2563 - 2 มกราคม 2564