“Innovation” เปลี่ยนโลก

11 ม.ค. 2564 | 18:30 น.

การแพร่ระบายของโควิดสร้างคนไทยเข้าถึงเทคโนโลยีมากขึ้น ด้วยปริมาณผู้ใช้บริการและผู้ประกอบการที่มากขึ้น ทำให้เทคโนโลยีในปี 2564 จะเป็น New Normal ที่คนไทยมีประสบการณ์ และความคุ้นเคยการใช้งานในชีวิตประจำวัน “นวัตกรรม”ยังคงมีความสำคัญและมีบทบาทต่อวิถีชีวิตผู้คน ด้วยการเปลี่ยนแปลงที่ไม่หยุดนิ่ง ทำให้ผู้ประกอบการเองก็ต้องเร่งพัฒนาและเรียนรู้ที่จะใช้เทคโนโลยีเหล่านี้มาต่อยอดธุรกิจ ซึ่งจะมีอะไรบ้างนั้น “ฐานเศรษฐกิจ” รวบรวมมาไว้ที่นี่

 

- IoHTเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ

 

บทบาทของเทคโนโลยีที่เข้ามามีอิทธิพลหลากหลาย เชื่อมโยงและรับส่งข้อมูลด้วยอินเตอร์เน็ต ทำให้ IoT (Internet of Things) เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ขณะที่การเข้ามาของโควิด-19 ทำให้ผู้คนตระหนก และหันมาตระหนักเรื่องของ “สุขภาพ”

 

การยกระดับทั้งด้านการบริการและการรักษา ทำให้ถูกพัฒนาเป็น “IoHT” (Internet of Health Things, IoHT) ที่ถูกต่อยอดมาจาก IoT ในการใช้งานด้านการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น โดยเทคโนโลยี 5G ที่จะเกิดขึ้นนั้น สามารถรองรับการทำงานของอุปกรณ์ IoT จำนวนมากๆ ได้พร้อมๆ กัน (massive IoT) ทำให้การติดตามสุขภาพผู้ป่วยผ่านอุปกรณ์สวมใส่ (mobile medical devices) ต่างๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้นตามไปด้วย

 

การทำงานของระบบ IoT ทางด้านสุขภาพ หรือ Internet of Health Things, IoHT ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ส่วนแรกคือ เซนเซอร์ ที่อยู่ในอุปกรณ์สวมใส่หรือเครื่องมือแพทย์ต่างๆ เพื่อใช้วัดสัญญาณชีพของผู้ป่วย เช่น ความดันโลหิต อุณหภูมิ อัตราการเต้นหัวใจ สัญญาณคลื่นไฟฟ้าหัวใจ โดยส่งข้อมูลผ่านระบบเครือข่ายไปเก็บยังส่วนที่สอง คือ ฐานข้อมูลสุขภาพ ที่เก็บข้อมูลสุขภาพของแต่ละบุคคล และส่วนสุดท้าย คือ ซอฟต์แวร์วิเคราะห์ข้อมูล ที่ทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูล สำหรับแพทย์ตรวจติดตามและวินิจฉัย รวมทั้งแสดงผลกลับไปยังตัวผู้ป่วย

 

ปัจจุบันบริษัท Startup ในต่างประเทศหลายแห่งออกผลิตภัณฑ์ IoHT ในการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังและผู้สูงอายุบ้างแล้ว เช่น ตรวจติดตามโรคหัวใจ ตรวจติดตามโรคเบาหวาน ที่ใช้ตรวจติดตามในช่วงการกักตัวในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19

 

สำหรับประเทศไทยก็มีหลายหน่วยงานวิจัยพัฒนาในเรื่องนี้ เช่น ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ A-MED สวทช. ที่นำ IoHT มาประยุกต์ใช้ในการป้องกันการหกล้มของผู้สูงอายุ โดยพัฒนาเป็นอุปกรณ์เซนเซอร์สำหรับสวมใส่หรือติดไว้บนร่างกาย เซนเซอร์จะส่งสัญญาณไปแจ้งเตือนผู้ดูแล ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาให้เซนเซอร์มีขนาดเล็กลง ทนทานต่อการใช้งาน และมี data analytics ที่แม่นยำมากยิ่งขึ้น

 

- Service Robots ผู้ช่วยมืออาชีพ

 

การเติบโตของอี-คอมเมิร์ซ ยังผลักดันให้ธุรกิจในระบบนิเวศ หรืออีโคซิสเต็ม “อี-คอมเมิร์ซ” เติบโตขึ้นด้วย ทั้ง ระบบอี-โลจิสติกส์ ที่ผู้ประกอบการมีการแข่งขันค่าบริการกันดุเดือด และมีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในตลาดต่อเนื่อง เช่นเดียวกับบริการเช่าพื้นที่จัดเก็บสินค้า แพ็ค และ เตรียมจัดส่ง (fulfilment) ที่มีการเติบโต รวมไปถึงบริการการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งอี-เพย์เมนต์ และ อี-วอลเล็ต

 

อีกหนึ่งธุรกิจบริการดิจิทัล ที่ร้อนแรงในปี 2563 และ กลายเป็น New Normal ที่คนไทยคุ้นชินในปี 2564 คือ แอพฯ สั่งอาหาร หรือ ฟู้ดเดลิเวอรี่ ด้วยจำนวนผู้ใช้บริการสั่งอาหารผ่านแอพ มากขึ้น และร้านอาหาร ที่เข้ามาในแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรี่ รวมถึงการขยายบริการของผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม ไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น และการเข้ามาของผู้ให้บริการรายใหม่ ทำให้มองว่าธุรกิจยังมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง แม้ไม่ร้อนแรงเหมือนปี 63 แต่ยังมีการเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก

 

เทรนด์ที่น่าสนใจในปี 2564 อีกหนึ่งเทรนด์คือ หุ่นยนต์ ปีที่ผ่านมาคนไทยคุ้นเคยกับหุ่นยนต์ (Robot) ในฐานะผู้ช่วยแพทย์ ที่ช่วยให้แพทย์สามารถเข้าถึงผู้ป่วยได้โดยไม่ต้องสัมผัสหรืออยู่ใกล้โดยการรักษาทางไกลด้วยระบบ Telemedicine ผ่านโครงข่าย 5G สำหรับดูแลผู้ติดเชื้อ หรือ หุ่นยนต์ส่งยา ส่งอาหาร ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ส่วนในปี 2564 จะเห็นเทรนด์หุ่นยนต์บริการ (Service Robots) เพื่อนำไปใช้งานจริงในการบริการด้านต่างๆ รวมถึงเข้าไปอยู่ในที่พักอาศัยมากขึ้น อาทิ หุ่นยนต์รักษาความปลอดภัย, หุ่นยนต์ต้อนรับ, หุ่นยนต์โฆษณา, หุ่นยนต์ส่งของ, หุ่นยนต์เพื่อน/ผู้ช่วยส่วนตัว เป็นต้น

 

“Innovation” เปลี่ยนโลก

- NDIDเปลี่ยนโลกการเงิน

 

NDID หรือ เนชั่นแนล ดิจิทัล ไอดี เป็น 1ใน แพลตฟอร์มที่รองรับการพิสูจน์และยืนยันตัวตน ยกระดับของการทำความรู้จักลูกค้าผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-KYC(e-Know Your Customer) และ e-Consentที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์นำร่องทดสอบและใช้ข้อมูลข้ามธนาคารในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเปิดบัญชีเงินฝากออนไลน์แบบ Non Face to Face โดยไม่ต้องเดินทางไปยังสาขาหรือสำนักงานของธนาคาร จะเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่มาเปลี่ยนโลกธุรกิจการเงิน

 

NDID เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ 4 หน่วยงาน ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือธปท. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัยพย์หรือก.ล.ต. สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยหรือและสำนักงานพฒนาธุรกรรมทางอิเล็คทรอนิกส์หรือสพธอ. ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบ Regulatory Sandbox ของธปท.สำหรับบริการยืนยันตัวตนทางดิจิทัลข้ามหน่วยงานเพื่อเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ เปิดบัญชีกองทุน ซื้อกรมธรรม์ประกันภัยและขอข้อมูลเครดิตจากบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติหรือNCB

 

มีผู้สนใจเข้าร่วมทดสอบกว่า 100 บริษัท ประกอบด้วยธนาคาร สถาบันการเงิน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บริษัทประกันภัย บริษัทประกันชีวิต ประกันวินาศภัย บริษัทผู้ให้บริการเกี่ยวกับระบบชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ และอื่นๆ เพื่อยกระดับการยินยันตัวตนของการเปิดบัญชีเพื่อทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้อง อนาคตบริการนี้จะขยายต่อไปยังธุรกรรมอื่นๆ ทั้งภาคการเงิน การลงทุน ประกันภัย สาธารณสุข รวมถึงรองรับ นิติบุคคล ชาวต่างชาติในอนาคต โดยเฉพาะการเชื่อมต่อกับสากลสร้างโอกาสทางการค้าระหว่างประเทศ(NDTP: National Digital Trade Platform)

 

“กิตติ โฆษะวิสุทธิ์” ประธานกรรมการศูนย์ประสานงานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศภาคการธนาคาร (Thailand Banking Sector CERT หรือ TB-CERT) กล่าวว่า แนวโน้มที่คนหันมาใช้ออนไลน์มาขึ้น จึงเป็นไปได้ที่ เมล์ฟิชชิง หรือแฮกเกอร์จะโฟกัส ออนไลน์ช้อปปิ้ง และภาคการเงินเช่น แบงก์ยังไม่เห็นเคสอื่นนอกจากเมล์ฟิชชิง ในแง่ของลูกค้า แต่การแฮกระบบแบงก์ไม่เจอมานานแล้ว ส่วนใหญ่จะหันมาหลอกลูกค้าเป็นหลัก

 

 

“พาสปอร์ต ดิจิทัล”  เปลี่ยนโลกการเดินทาง

 

ยุคหลังโควิด-19 การเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ นอกจากจะต้องมีพาสปอร์ต วีซ่า (สำหรับบางประเทศ) และตั๋วเครื่องบินแล้ว สิ่งที่สายการบินและเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจะต้องขอตรวจเพิ่มขึ้นมาอีกก็คือ ผลตรวจเชื้อ และ ใบรับรองการฉีดวัคซีน

 

หากต้องพกสองสิ่งนั้นเพิ่มขึ้นมาเป็นกระดาษ ก็มีโอกาสที่จะเกิดปัญหาตามมามากมาย ทั้งเรื่องการปลอมแปลงเอกสาร รวมถึงมาตรฐานของการตรวจและการฉีดวัคซีน ด้วยเหตุนี้ทางสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาต้า) หรือ IATA หน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลสายการบินทั่วโลก จึงประกาศว่าได้พัฒนาแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนขึ้นมา เพื่อรองรับกับความต้องการเหล่านั้น

 

แอปฯ ตัวนี้มีชื่อว่า “Travel Pass” ซึ่งจะทำหน้าที่บันทึกข้อมูลสุขภาพของผู้โดยสารแต่ละคน โดยจะสามารถนำข้อมูลทั้งเอกสารส่วนตัว และเอกสารสุขภาพ มาเก็บไว้ในที่เดียวได้ สำหรับตรวจสอบว่าผู้โดยสารคนนี้มีผลตรวจเชื้อเป็นอย่างไร และได้รับวัคซีนชนิดใดมาแล้วบ้าง เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก

 

จุดมุ่งหมายหลักคือการสร้าง “พาสปอร์ต ดิจิทัล” บนมือถือ ที่นอกจากจะสะดวกในการพกพาแล้ว ยังลดการสัมผัสที่อาจเป็นเหตุให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสอีกด้วย ตอนนี้ไออาต้า ได้ขอความร่วมมือ ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือกัน เพื่อทำให้โครงการนี้เป็นจริงขึ้นมาได้

 

อันดับแรกคือสายการบิน ที่น่าจะมีปัญหาน้อยที่สุด เพราะต้องติดต่อกับ ไออาต้า โดยตรงอยู่แล้ว อีกทั้งยังสามารถดึงระบบตัวนี้เข้าไปอยู่ในแอปฯ ของสายการบินที่มีอยู่เดิมได้ ต่อมาคือหน่วยงานทางการแพทย์ ที่จะต้องมีระบบเฉพาะแยกออกมา ในการส่งข้อมูลเข้าสู่แอปฯ ของผู้โดยสารได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย เพื่อนำไปใช้ยืนยันผลตรวจเชื้อและระบุข้อมูลการฉีดวัคซีน

 

หากโครงการนี้เป็นจริงตามแผนที่วางไว้ ในอนาคตเราอาจไม่ต้องพกเอกสาร 4-5 ฉบับ เพียงแค่แสดงหน้าจอสมาร์ทโฟนให้เจ้าหน้าที่สแกน ข้อมูลที่ต้องการตรวจสอบก็จะถูกดึงไปในทันที

 

ปัจจุบันไออาต้า พัฒนาแอปฯ ไปถึงขั้นตอนสุดท้ายแล้ว คาดว่าจะนำมาใช้ได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 โดยเปิดให้ดาวน์โหลดผ่านทาง Google Play และ App Store 

 

หน้า 18 หนังสืออพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,641 วันที่ 3 - 6 มกราคม พ.ศ. 2564  

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับตาเทรนด์นวัตกรรมอนาคตในอีก 5 ปีข้างหน้า