Insure Tech ดิสรัปต์ ธุรกิจประกัน หลังโควิดเปลี่ยนพฤติกรรม ผู้ใช้รถ เอไอเอส เดินหน้าจับมือ MSIG เปิดตัว “ประกันขับดี” ชูเทคโนโลยี Car Informatics ติดตามการขับขี่ จ่ายเบี้ยตามการใช้งาน
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมประกันภัยการเข้ามาของ Insure Tech ทำให้เกิดการตื่นตัวในแวดวงธุรกิจประกันภัยเป็นอย่างมาก ธุรกิจประกันภัยต่างเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ขณะที่ผู้บริโภคก็สามารถเข้าถึงบริการและผลิตภัณฑ์ประกันภัยได้มากขึ้นเช่นเดียวกัน เมื่อเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ธุรกิจประกันภัยก็เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบส่งผลให้มีการปรับตัวทั้งในเรื่องของการบริหารจัดการภายในองค์กรและการพัฒนาสินค้าหรือบริการที่จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งในเรื่องของช่องทางในการเข้าถึงบริการที่หลากหลาย การประเมินประกันภัย กระบวนการในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ที่มีการอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ปัจจุบันลูกค้าที่ซื้อประกันภัยรถยนต์นั้นอาจจ่ายเบี้ยประกันภัยรถยนต์ที่ไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมในการใช้รถของตนเอง ประกันภัยจำเป็นต้องมีวิธีการ มีข้อมูลที่สามารถประเมินพฤติกรรมการขับขี่ของลูกค้า ทั้งนี้บทบาทของสำนักงาน คปภ. ที่สำคัญ คือ การส่งเสริมธุรกิจประกันภัยให้นำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาปรับปรุงให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงานและการให้บริการประชาชน รวมถึงส่งเสริมให้ประเทศ ไทยพัฒนาเป็น InsurTech Hub
ด้านนายรัชพล กิตติศักดิ์ชัยกุล กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็มเอสไอจี ประกันภัยประเทศไทย จำกัด มหาชน กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาพรวมของประกันภัยในปี 2563 มีเบี้ยประกันภัยรับประมาณ 2.54 แสนล้านบาท เติบโตอยู่ที่ประมาณ 3.9% โดยแบ่งเป็นประกันภัยรถยนต์ประมาณ 1.45 แสนล้านบาท หรือ 57% เติบโตราว 1.4% ซึ่งจะเห็นได้ว่าตัวเลขของประกันภัยรถยนต์มีจำนวนที่ค่อนข้างสูง ปริมาณรถยนต์ในประเทศก็ยังขายได้อยู่เพียงแต่ในปีที่ผ่านมาตัว เลขของเบี้ยประกันลดลง เนื่องจากมีการล็อกดาวน์ ทำให้คนใช้รถน้อยลงเป็นอย่างมาก ประกัน ภัยรถยนต์จึงมีอัตราความเสียหายลดลง ทำให้ได้เห็นผลกำไรเป็นปีแรกจากที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
ล่าสุด AIS Insurance Service ได้ผนึกกำลัง กับ MSIG ภายใต้การสนับสนุนจาก คปภ. เปิดตัว “ประกันขับดี” ประกันภัยรถยนต์รูปแบบใหม่ สำหรับผู้ขับรถที่ใช้รถน้อยและขับดี โดยจะคิดเบี้ยแบบรายวันตามพฤติกรรมการขับขี่จริงของผู้ใช้งาน ด้วยการติดตั้งอุปกรณ์ MSIG Car Informatics ผ่าน OBD Port ภายในตัวรถยนต์ ซึ่งจะคำนวนเบี้ยประกันผ่าน 5 ตัวแปรหลัก ได้แก่ 1. ระยะทาง คิดจากระยะทางในการขับขี่จริงในแต่ละวัน เช่น หากวันไหนอยู่บ้าน ไม่ได้มีการขับรถ ก็จะไม่คิดค่า เบี้ยประกันภัย 2. ความเร็วเฉลี่ย คิดเป็นหลักกิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยจะสัมพันธ์กับสภาพการจราจร ความว่างบนท้องถนน โดยคิดเป็นทริปจากวินาทีแรกที่สตาร์ทรถจนถึงวินาทีที่ดับรถ 3. ระยะเวลา คิดตามระยะทางที่ขับจริง 4. ช่วงเวลา 07.00-20.00 น. คือ ช่วงที่มีการใช้รถยนต์โดยปกติ มีแสงและทัศนวิสัยที่ดีในการขับขี่ แต่หลังเวลา 22.00 น. สถิติแสดงให้เห็นว่ามีอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น เนื่องจากความมืด และความเหนื่อยล้า (Fatigue) 5. พื้นที่ที่ขับ คิดเบี้ยต่างกันตามจังหวัดที่ขับ โดยใช้สถิติจากสถานที่ที่เกิดอุบัติเหตุ ย้อนหลัง 5 ปี
นายอลิสแตร์ เดวิด จอห์นสตั้น กรรมการผู้จัดการหน่วยธุรกิจพัฒนาธุรกิจใหม่ เอไอเอส กล่าวเพิ่มเติมว่า AIS Insurance Service จะทำหน้าที่เป็นตัวกลาง คัดสรรบริการประกันภัยที่ดีที่สุดจากพาร์ทเนอร์ด้วยจุดแข็งจากการเป็น ผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล โดยครั้งนี้ได้ร่วมพัฒนาอุปกรณ์ MSIG Car Informatics ที่ฝังอุปกรณ์ IoT ให้สามารถส่งสัญญาณผ่านโครงข่ายของเอไอเอส และประ มวลผลเข้าสู่ระบบ Cloud ของ MSIG ได้อย่างแม่นยำ รวมถึงสนับสนุนช่องทางการชำระค่าบริการรายเดือนผ่านระบบ Digital Payment Gateway ถือเป็นต้นแบบของ Insure Tech
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,654 หน้า 16 วันที่ 18 - 20 กุมภาพันธ์ 2564