นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยกับ”ฐานเศรษฐกิจ”ว่าขณะนี้กำลังรอคำตอบจากผู้ให้บริการมือถือ และผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต ได้แก่ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) เอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟ และทริปเปิลทรี บรอดแบนด์ (3BB) รวมทั้งผู้ให้บริการแอปพลิเคชันสนับสนุนการเรียนการสอนออนไลน์
ได้แก่ ไมโครซอฟท์ ซิสโก้ ไลน์ และ Zoom เพื่อพิจารณารูปแบบและค่าบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง แบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้นักเรียน นักศึกษา เข้าถึงอินเตอร์เน็ตและแอพพลิเคชันเพื่อการศึกษา ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19
โดยเบื้องต้นในที่ประชุมเมื่อวันที่ 26 เมษายน ที่ผ่านมาผู้ให้บริการมือถือทุกรายได้รับในหลักการจะไปพิจารณาร่วมกัน ในการออกแพคเกจรายเดือน 5GB ในความเร็วไม่ตํ่ากว่า 4 Mbps ไม่จำกัดปริมาณการใช้งาน (Unlimited Data) อัตราค่าบริการ 100 บาทต่อเดือน (รวม Vat)
ทั้งนี้คาดว่าจะได้ข้อสรุปทั้งหมดจากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ สัปดาห์หน้า หลังจากได้ข้อสรุปดีอีเอส จะนำเสนอหลักการดังกล่าวต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป และพิจารณาการนำเงินจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมาสนับสนุน
ขณะเดียวกัน ดีอีเอส จะเร่งประสานกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อสรุปผู้ได้รับสิทธิ์ ทั้งรายชื่อนักเรียนกลุ่มเป้าหมาย และหมายเลขโทรศัพท์ เพื่อจัดทำฐานข้อมูล สำหรับการลงทะเบียนใช้สิทธิ์การสนับสนุนเรียนการสอนออนไลน์ในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 โดยธนาคารกรุงไทย จะเข้ามาสนับสนุนในเรื่องระบบการลงทะเบียน
นายชัยวุฒิ กล่าวต่อไปอีกว่าส่วนการให้การสนับสนุนเครือข่ายอินเตอร์เน็ตและแพ็กเกจอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง สำหรับกลุ่มคนทำงาน หรือข้าราชการ เพื่อรองรับการทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home นั้นขณะนี้กำลังพิจารณา และทำการศึกษารูปแบบอยู่ เนื่องจากเข้าใจว่าการใช้งานแอปพลิเคชันประชุมทางไกลนั้นต้องใช้อินเตอร์เน็ตปริมาณสูง อย่างไรก็ตามเบื้องต้นขอให้ได้ข้อสรุปรูปแบบและค่าบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง สำหรับกลุ่มนักเรียนนักศึกษาก่อน
หนึ่งในภารกิจของดีอีเอส ในการขับเคลื่อนให้เกิดการนำเทคโนโลยี เข้ามาบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ช่วยแก้ไขหรือเยียวยาความเดือดร้อนเสียหายในการเรียนการสอน ที่ส่งผลกระทบต่อการศึกษาของประเทศ นักเรียน-นักศึกษากว่า 8 ล้านคน ต้องหยุดการเรียนการสอนในโรงเรียน สถานศึกษาต้องมีการปรับเปลี่ยนสู่รูปแบบการเรียนการสอนทางไกล โดยอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วย และหลายคนต้องปรับตัวกับระบบการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ทั้งที่ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยี และบริการอินเตอร์เน็ต”
หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,675 วันที่ 2 - 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2564