เซินเจิ้น ประเทศจีน, 18 มิถุนายน 2564 – ภายในงานสัมมนา Huawei's Better World Summit for 5G + AR ซึ่งเป็นการประชุมเกี่ยวกับ 5G และเทคโนโลยี AR ที่จัดโดยหัวเว่ย นายบ๊อบ ไซ ผู้บริหารฝ่ายการตลาดของกลุ่มธุรกิจผู้ให้บริการเครือข่ายของหัวเว่ย (Huawei Carrier BG CMO) ได้กล่าวเปิดงานในหัวข้อ “เปลี่ยนความฝันสู่ความจริงด้วยเทคโนโลยี 5G และ AR” (5G + AR, Turning Dreams into Reality)
นายไซ ได้กล่าวว่า 5G จะเป็นเทคโนโลยีที่เปิดทางให้เทคโนโลยี AR และในขณะเดียวกัน AR ก็จะทำให้ 5G มีความสำคัญมากขึ้น นอกจากนี้ เขายังได้เปิดตัวสมุดปกขาวชื่อ “ข้อมูลเชิงลึก และการนำแอปพลิเคชัน AR ไปใช้งาน” (AR Insight and Application Practice) ซึ่งให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับอุตสาหกรรม AR ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอุปกรณ์ แอปพลิเคชัน และการเชื่อมต่อ โดยเรียกร้องให้ทั้งอุตสาหกรรมทำงานร่วมกันเพื่ออนาคตที่สดใสของอีโคซิสเต็มของทั้ง 5G และ AR
AR ช่วยขยายขอบเขตใหม่ๆ ให้แก่ภาคอุตสาหกรรม
ข้อมูลจากหัวเว่ย และองค์กรอิสระ ได้คาดการณ์ว่าตลาดของ AR จะมีมูลค่ากว่า 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 9.3 ล้านล้านบาท ภายในปี พ.ศ. 2568 “ในช่วงแรก เราจะได้เห็นการนำ AR ไปใช้งานอย่างแพร่หลายใน 5 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ ภาคการศึกษา เครือข่ายสังคมออนไลน์ ช้อปปิ้ง การท่องเที่ยวและการเดินทาง และเกมส์ โดย AR จะสามารถเชื่อมต่อโลกแห่งความเป็นจริงเข้ากับโลกดิจิทัลได้อย่างสมบูรณ์แบบ ซึ่งจะทำให้ความฝันกลายเป็นความจริงได้” นายไซ กล่าว
AR จะทำให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ภายในงาน นายไซได้เล่าถึงกรณีศึกษาที่หัวเว่ยนำเทคโนโลยี AR มาใช้งาน เช่น เนื่องด้วยข้อจำกัดจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ลูกค้าจากทั่วโลกของหัวเว่ยไม่สามารถพบพนักงานด้วยตนเองได้ หัวเว่ยจึงนำ AR เข้ามาช่วยในการสาธิตการใช้งานอุปกรณ์และโซลูชันของหัวเว่ยผ่านออนไลน์ ทำให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพขึ้นมาก นอกจากนี้ยังนำ AR เข้ามาช่วยในขั้นตอนการส่งมอบสถานีฐานของ 5G ให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่การส่งมอบผลิตภัณฑ์และโซลูชันต่างๆได้เป็นอย่างมาก
หัวเว่ย ช่วยทำให้การใช้งาน AR เรียบง่ายขึ้น
ภายในงาน นายไซ ได้สาธิตถึงวิธีการที่หัวเว่ยใช้ในการสร้างสรรค์ AR เช่น โปรแกรม Air Photo ของหัวเว่ย ใช้งานอัลกอริทึมอันเป็นเอกลักษณ์ในการแปลงให้ภาพสองมิติกลายเป็นโมเดลสามมิติ ซึ่งช่วยให้กระบวนการสร้างโมเดลสามมิติโดยใช้ AR ง่ายขึ้นมาก
นายไซยังได้แนะนำ Huawei AR Engine ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการพัฒนา AR ของหัวเว่ย เน้นที่อุปกรณ์มือถือ โดยเมื่อใช้งาน Huawei AR Engine แล้ว นักพัฒนาสามารถสร้างเอฟเฟ็กต์ AR ขึ้นมาด้วยการเขียนโค้ดเพียงแค่ 10 บรรทัดเท่านั้น ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการพัฒนาแอปพลิเคชัน AR ได้เป็นอย่างมาก
ภาคอุสาหกรรมควรทำงานร่วมกันเพื่อสร้างอีโคซิสเต็มของ 5G และ AR อย่างยั่งยืน
นาย ฮี เชงเจียน คณะกรรมการการจัดการด้านการสื่อสารเมืองเซินเจิ้น กล่าวว่าเซินเจิ้นเป็นเมืองแรกของโลกที่มีการใช้งานเทคโนโลยี 5G SA ครอบคลุมอย่างเต็มรูปแบบ โดยภาคอุตสาหกรรมต่างๆสามารถนำบริการด้าน ICT ที่แสดงผลผ่านเทคโนโลยี AR มาประยุกต์ใช้ได้อย่างกว้างขวางในภาคอุตสาหกรรมการผลิต อีคอมเมิร์ซ อสังหาริมทรัพย์ การตกแต่งบ้าน สังคมและวัฒนธรรม กีฬา การท่องเที่ยว การดูแลสุขภาพ และการศึกษา นอกจากนี้การนำแอปพลิเคชัน AR มาใช้งานถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะเร่งขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล และส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อระบบอุตสาหกรรมการผลิต รวมถึงวิถีชีวิตของเราอีกด้วย
นายไซ ได้กล่าวสรุปตอนท้ายว่า "หากคุณต้องการไปต่อให้เร็วที่สุด จงไปคนเดียว แต่หากคุณต้องการไปต่อให้ไกลที่สุด จงไปด้วยกันกับคนอื่น เทคโนโลยี AR จำเป็นต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาและเกิดการสร้างคุณค่าในภาพรวมของ 5G และ AR ที่ยั่งยืน ซึ่งการผสมผสานเทคโนโลยี 5G เข้ากับเทคโนโลยี AR เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสม กล่าวคือ 5G ได้เข้ามาปลดล็อคศักยภาพของ AR และ AR ก็เสริมศักยภาพของ 5G ด้วยเช่นกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
หัวเว่ยเผยรายงานสมุดปกขาวย้ำผู้นำนวัตกรรม- 5G
หัวเว่ยกางแผน รุก 5G-ดาต้าเซ็นเตอร์