พาณิชย์ เซ็นหัวเว่ย“Upskill & Reskill” ผู้ประกอบการรับมือค้าออนไลน์

05 ก.ค. 2564 | 10:21 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ค. 2564 | 17:35 น.

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ โดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ หรือสถาบัน NEA จับมือ หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านวิชาการ (MOU) ในการร่วมมือพัฒนาหลักสูตรด้านดิจิทัล ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจภาคธุรกิจ

โดยในการลงนามความร่วมมือดังกล่าวได้รับเกียรติจาก นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์  รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และ นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีฯ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์  รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าขอบคุณบริษัทหัวเว่ย ที่ได้ให้เกียรติลงนามทำ MOU กับกระทรวงพาณิชย์ ในการพัฒนาหลักสูตรให้ความรู้ด้านดิจิทัลเทคโนโลยีแก่ SMEs และผู้ประกอบการไทยที่สนใจ โดยตั้งเป้าหมายยกระดับความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการจำนวนกว่า 1,000 ราย ทั่วประเทศ เพื่อนำไปต่อยอดธุรกิจของตนเอง สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในตลาดการค้าโลก ซึ่งจะเป็นฐานกำลังในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศต่อไปในยุค New Normal และสะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการไทยสามารถพลิกวิกฤตทางเศรษฐกิจให้เป็นโอกาสได้

ดังนั้นสถาบัน NEA และบริษัทหัวเว่ย จึงได้จัดอบรม “โครงการยกระดับผู้ประกอบการสู่เศรษฐกิจกระแสใหม่ (Upskill & Reskill)” โดยดำเนินการตามนโยบายของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อยกระดับขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการไทย โดยจัดอบรมทั้งหมด 4 ครั้ง ครั้งละ 250 ราย รวมทั้งสิ้น 1,000 ราย โดยการอบรมครั้งที่ 3 ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ผู้เข้าอบรมส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการ SMEs จากหลากหลายสาขาอาชีพ อาทิ กลุ่มธุรกิจพัฒนาเทคโนโลยี โทรคมนาคม อาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มโลจิสติกส์ รวมถึง Gen Z นักศึกษามหาวิทยาลัยที่ให้ความสนใจกันอย่างล้นหลาม

พาณิชย์ เซ็นหัวเว่ย“Upskill & Reskill” ผู้ประกอบการรับมือค้าออนไลน์

ซึ่งเนื้อหาในการอบรมมีหลายหลักสูตรที่น่าสนใจ อาทิ  ICT Market Trends and Business Innovation Cloud Services, Internet of Things (IoT) และ 5G Services ที่กำลังเป็นเทคโนโลยีที่ขับเคลื่อนโลกใบนี้อย่างแท้จริง โดยอบรมในรูปแบบออนไลน์ผ่านระบบ Huawei Welink อย่างไรก็ตามสถาบัน NEA คาดว่าผู้ประกอบการจะสามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการอบรมไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจของตนเอง และสามารถพัฒนาต่อยอดนำไปสู่การเป็นผู้ประกอบการส่งออกที่มีศักยภาพของไทยได้ต่อไปในอนาคต