มช. นำร่องดันโรงเรียนสาธิต สู่ "Digital School" รับการศึกษายุคโควิด

22 ก.ค. 2564 | 11:52 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.ค. 2564 | 19:04 น.

มช. นำร่อง โรงเรียนสาธิต มช.นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ควบคู่กับการลงมือปฏิบัติจริง สไตล์ Active Learning ช่วยให้ผู้เรียน เรียนรู้ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น พร้อมก้าวสู่ Digital School

การผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพนั้น เป็นภารกิจสำคัญของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านศาสตร์การสอน จึงเป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กำเนิดขึ้นเพื่อเป็นหน่วยส่งเสริมและการบริหารงานด้านวิชาการ ซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินการของคณะศึกษาศาสตร์ มช. มีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นแหล่งฝึกประสบการณ์ให้กับนักศึกษาของคณะฯ และเป็นแหล่งสำหรับค้นคว้าวิจัย ศาสตร์และวิธีการด้านการจัดการเรียนการสอนแนวใหม่ ซึ่งช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 โรงเรียนสาธิตมช. ได้มุ่งพัฒนาการเรียนการสอนที่มีคุณภาพและก้าวทันต่อสภาวการณ์ โดยมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ควบคู่กับการลงมือปฏิบัติจริง สไตล์ Active Learning ช่วยให้ผู้เรียน เรียนรู้ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และพร้อมรับกับสังคมในยุค New-normal โดยเป้าหมายสูงสุด คือ ให้นักเรียนได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นทั้งในและนอกห้องเรียนอย่างเต็มที่ บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่าผู้เรียนทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ตามศักยภาพของตน

การเข้าสู่ยุคดิจิทัลและสถานการณ์ COVID-19  ทำให้การเรียนการสอนต้องเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก อ.ดร.ศักดา สวาทะนันทน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า “ทางโรงเรียนได้ปรับโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศให้พร้อมรับกับการบริหารจัดการและการเรียนรู้ที่อาศัยเทคโนโลยีเป็นฐาน โดยมีการนำระบบออนไลน์เข้ามาใช้ควบคู่กับการเรียนแบบออนไซต์ในการบริหารจัดการโรงเรียน ตั้งแต่ระบบจัดการฐานข้อมูลนักเรียน การลงทะเบียนเรียน การประเมินการสอน การติดตามผลการเรียน การตรวจสอบการเข้าชั้นเรียนและการบันทึกพฤติกรรมนักเรียน ควบคู่ไปกับ การปรับเปลี่ยนบทบาทของครูที่จำเป็นต้องมีการปรับตัว และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสอนโดยใช้สื่อดิจิทัลรูปแบบต่างๆ ที่เหมาะสม เพื่อดึงดูดความสนใจ และสร้างความเข้าใจแก่นักเรียน โดยโรงเรียนได้จัดให้มีการพัฒนาสมรรถนะการสอนของครูให้มีการบูรณาการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการจัดการสอน ตลอดจนได้พัฒนา Application Satit CMU ที่รวบรวมฟังก์ชั่นการทำงานต่างๆ ในโรงเรียนแบบครบวงจร เพื่อความสะดวก รวดเร็ว สำหรับครู ผู้ปกครอง และนักเรียนในการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก ไม่จำกัดด้านสถานที่ เวลา และอุปกรณ์”

มช. นำร่องดันโรงเรียนสาธิต สู่ \"Digital School\" รับการศึกษายุคโควิด

ด้านการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โรงเรียนได้มีการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบตามนโยบายการสนับสนุนศาสตร์การสอนแนวใหม่ โดยปลูกฝังความรู้ความสามารถและสร้างทักษะความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) อย่างถูกต้องกับนักเรียนทุกคนเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพการเรียนรู้อย่างเต็มที่ มีการปรับการเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์เต็มรูปแบบในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 มีความรุนแรง รวมถึงให้ความสำคัญกับการสร้างสภาพแวดล้อมที่อำนวยต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน (Learning Ecology) นอกเหนือจากนี้ ล่าสุดโรงเรียนได้มีความร่วมมือกับ วิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดให้มีหลักสูตรการศึกษาแบบตามอัธยาศัย เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ตามความถนัดและสอดคล้องกับศักยภาพของตนเอง โดยเปิดวิชาสาระเพิ่มเติมอิสระ ภายใต้โครงการพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนเพื่อรองรับระบบการสะสมหน่วยกิตของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่(ธนาคารหน่วยกิต:Credit Bank) โดยเปิดลงทะเบียนวิชาเรียนร่วม/หลักสูตรระยะสั้นในปีการศึกษา 2564 ทั้งหมด 28 วิชา มีนักเรียนมัธยมปลายที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 80 คน ซึ่งนักเรียนสามารถสะสมหน่วยกิตเพื่อใช้สำหรับการศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในอนาคตได้ อีกทั้งเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจเลือกศึกษาต่อในรายวิชาที่หลากหลายตามความสนใจ ความพร้อมและศักยภาพตนเอง รวมทั้งยังเป็นการส่งเสริมทักษะในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตให้แก่นักเรียนอีกด้วย

มช. นำร่องดันโรงเรียนสาธิต สู่ \"Digital School\" รับการศึกษายุคโควิด

ด้วยบริบทความพร้อมทั้งของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศักยภาพของผู้บริหาร คณาจารย์ ศาสตร์การสอนแนวใหม่ สื่อการเรียนรู้ และ เทคโนโลยีที่ทันสมัย ย่อมบ่งชี้ได้ว่าสถาบันการศึกษาที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการบริหารจัดการและเสริมพลังแห่งการเรียนรู้แห่งนี้ สามารถเป็นต้นแบบของสถานศึกษาต่างๆ ในการสร้างผู้เรียนที่เก่ง ดี และมีคุณภาพ สามารถเติบโตไปเป็นพลเมืองไทย และพลเมืองโลก (World Citizen) ที่ถึงพร้อมด้วยทักษะแห่งอนาคต (Future Skills)