หลังจาก "หมอวรงค์ เดชกิจวิกรม” หัวหน้าพรรคไทยภักดีและเครือข่ายนักวิชาการ ออกมาทวงคืนดาวเทียม ไทยคม 7 และไทยคม 8 โดยอ้างว่า รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในอดีตให้ใบอนุญาตประเคนกลุ่มทุนต่างชาติชุบมือเปิบ ทั้งที่ควรเป็นระบบสัมปทานที่รัฐต้องเป็นเจ้าของทรัพย์สินเหล่านี้
แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า ทั้งหมอวรงค์ และเครือข่ายนักวิชาการเหล่านี้ น่าจะไม่เข้าใจในบริบทของ พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯปี 2553 (พรบ.กสทช.) และที่แก้ไขเพิ่มเติม เสียมากกว่า จึงเข้าใจว่าประเทศไทยยังคงมีระบบสัมปทานได้อยู่ ซึ่งในข้อเท็จจริงนั้น ประเทศไทยได้เปิดเสรีโทรคมนาคมไปตั้งแต่ปี 2549 ตามข้อผูกพันที่ไทยมีอยู่กับองค์การการค้าโลก(WTO) การเปลี่ยนผ่านและประกอบกิจการดิจิทัลทีวี และประกอบกิจการโทรคมนาคม 3G , 4G และ 5G ในปัจจุบัน ล้วนเป็นระบบใบอนุญาตมาที่ให้ตรงแก่ผู้ประกอบการ ไม่สามารถจะไปให้ใครอื่นประกอบกิจการแทนได้ ซึ่งก็รวมไปถึงกิจการดาวเทียมด้วย
“เราไม่สามารถย้อนเวลากลับไป เอาระบบสัมปทานกลับมาประมูลให้สัมปทานดาวเทียมได้ดั่งเดิมอีกแล้ว หน่วยงานรัฐที่เคยให้สัมปทาน ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงดีอีเอส บมจ.ทีโอที จำกัด(มหาชน) และ กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน)ในอดีต หรือบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ(NT) ในปัจจุบัน ต่างไม่สามารถให้สัมปทานกับใครได้อีก เพราะ กม.โทรคมนาคมปี 2544 และพรบ.กสทช. ได้ยกเลิกบทบัญญัติกฎหมายผูกขาดเดิมไปหมดแล้ว อำนาจในการกำกับดูแลกิจการวิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคมต่างๆ ถูกถ่ายโอนไปยัง กสทช.หมดสิ้นแล้ว”
ส่วนกรณีที่นักวิชาการบางคนออกมาระบุว่า ตำแหน่วงวงโคจรดาวเทียมถือเป็นสมบัติของชาติ และดาวเทียมไทยคม 7-8 เป็นดาวเทียมนอกสัมปทาน มีการนำเอาดาวเทียมสื่อสารต่างประเทศเข้ามาสวมสิทธิ์รับใบอนุญาตขัดกฏหมายรัฐธรรมนูญนั้น
แหล่งข่าวกล่าวว่า เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนของนักวิชาการท่านนั้นมากกว่า เพราะหาก วงจรดาวเทียมเป็นสมบัติของชาติแล้ว เหตุใดกระทรวงดีอีเอสถึงดอดไปถอนไฟล์ลิ่งการจองตำแหน่งยิงดาวเทียมจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ(ITU) เมื่อ 2-3 ปีก่อน จนทำให้ไทยต้องปล่อยวงโคจรออกไปให้ประเทศอื่นได้ และโดยข้อเท็จจริงนั้นทุกประเทศต่างมีสิทธิ์ใช้ตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมได้ทัดเทียมกัน และวงโคจรดาวเทียมบางตำแหน่งที่มีการยื่นขอจองเอาไว้มากกว่า 1 ประเทศ ก็อาจใช้งานร่วมกัน อย่างกรณีไทยคม7 และเอเซียแซท6 ของจีนที่ใช้วงโคจรดาวเทียมร่วมกัน จึงร่วมมือกันสร้างดาวเทียมและเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกัน
“เหมือนการสร้างบ้านแฝด 2 หลังบนโฉนดผืนเดียวกันนั่นแหะต่างฝ่ายต่างก็มีกรรมสิทธิ์ในบ้านตนเองอย่างพร้อมมูล ซึ่งเป็นเรื่องปกติของอุตสาหกรรมดาวเทียมอยู่แล้ว จึงหาใช่การไปลากเอาดาวเทียมต่างประเทศเข้ามาสวมสิทธิ์ขอใบอนุญาตอย่างที่เข้าใจกัน"
แหล่งข่าวยังกล่าวด้วยว่า ที่จริงหากหมอวรงค์และเครือข่ายอยากพิทักษ์ผลประโยชน์ของประเทศอย่างแท้จริง ก็น่าลงไปไล่เบี้ยการบริหารกิจการดาวเทียมที่ผิดพลาดของกระทรวงดีอีเอส และรัฐบาลเสียมากกว่า ในอดีตนั้น ประเทศไทยเคยได้ชื่อว่าเป็นมหาอำนาจด้านอวกาศ มีตำแหน่งดาวเทียมสื่อสารของชาติมากถึง 3 ดวงจาก 180 ดวงทั่วโลก เทียบเท่ามหาอำนาจยักษ์ทั้งหลายอย่างจีนและอินเดีย และเหนือกว่าประเทสอื่นใดในภูมิภาคนี้ เคยมีดาวเทียมสื่อสารไทยคม 3 ที่ขึ้นชื่อว่าใหญ่ และทันสมัยที่สุดในโลก (ตอนยิงปี 2540) และไทยคม 4-ไอพีสตาร์ ที่มีต้นทุนต่ำที่สุดกว่าดวงอื่นๆถึง 60 เท่า และมีรัศมีทำการครอบคลุมไปถึง 2 ใน 3 ของโลกที่ไม่มีใครเคยทำได้มาก่อน
การดำเนินนโยบายของกระทรวงดีอีเอส จึงทำให้ไทยสูญเสียศักยภาพด้านอวกาศไปทั้งหมด และการไปถอน ไฟล์ลิ่งจองตำแหน่งยิงดาวเทียมจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ(ITU) จึงทำให้ไทยสูญเสียตำแหน่งวงโคจรดาวเทียมบางดวงออกไป สูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจสร้างความเสียหายให้ประเทศมหาศาล
ยังไม่นับถึงความสูญเสีย จากการที่ดีอีเอส ไม่ยอมตัดสินใจอะไรเกี่ยวกับดาวเทียมสื่อสารของชาติคือ ไทยคม-5 ที่เสื่อมสภาพก่อนหมดอายุสัมปทาน ซึ่งก่อนหน้าบริษัทเอกชนผู้รับสัมปทานได้ทำเรื่องขออนุมัติติดตั้งเครื่องเพาเวอร์แบงก์ เพื่อชาร์จแบตยืดอายุการใช้งานดาวเทียมออกไปอีก 4-5 ปีแลกกับการขยายอายุสัมปทาน แต่กระทรวงดีอีเอสกลับไม่ยอมตัดสินใจ สุดท้ายได้แต่ปล่อยให้ดาวเทียมดังกล่าวหมดสภาพไปก่อนสัมปทานสิ้นสุดลงร่วมปี ยังความเสียหายนับพันล้านบาท ก่อนที่ ครม.จะสั่งตั้งกรรมการหาผู้รับผิดชอบ และไล่เบี้ยความเสียหายที่เกิดขึ้น จนขณะนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้า
"ที่เห็นก็มีแต่เพียงการฟ้องร้องระหว่างกระทรวงดีอีเอสและไทยคมที่ต่างก็อ้างว่าตนเองทำถูกต้อง ไทยคมต้องส่งมอบดาวเทียมพร้อมสถานีและอุปกร์ที่พร้อมใช้งานให้รัฐ ขณะเอกชนก็ยืนยันได้ดำเนินการตามสัญญาแล้ว เมื่อดาวเทียมเกิดความเสียหายก็ได้เยียวยาตามสัญญาแล้ว”.