นายมิเชล ดูเอิสท์ รองประธานฝ่ายวิจัย การ์ทเนอร์ บริษัทวิจัยตลาดไอที เปิดเผยว่า“การตอบสนองแรกต่อการแพร่ระบาดทั่วโลกของผู้ผลิตหลายรายคือการเร่งนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานให้รวดเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แม้ว่าการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในกระบวนการผลิตจะเป็นแนวทางที่ถูกต้อง แต่นั่นยังไม่เพียงพอ การ์ทเนอร์ วิเคราะห์เทรนด์ที่สามารถช่วยซีไอโอและผู้บริหารด้านไอทีในอุตสาหกรรมการผลิตเตรียมพร้อมกับการหยุดชะงักในอนาคตที่คล้ายคลึงกันได้ในระยะยาวและรับมือกับความท้าทายต่างๆ อาทิ จุดบริการลูกค้าที่ไม่เพียงพอ การเข้าสู่ตลาดหรือสินค้าไลน์ใหม่ๆ และปัญหาการเงิน
ทั้งนี้การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่า การใช้จ่ายด้านไอทีของภาคอุตสาหกรรมการผลิตฯ ปี 2564 จะมูลค่า 75,015 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.80% และปี 2565 จะมีมูลค่า 78,325 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.41%
โดยซีไอโอและผู้บริหารด้านไอทีสามารถสร้างกลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อขับเคลื่อนองค์กรและปรับปรุงประสิทธิ ภาพการดำเนินงานเพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีขึ้นให้แก่ลูกค้าได้ โดยประยุกต์ใช้ 5 เทรนด์ธุรกิจ ประกอบด้วย เทรนด์ 1 : ผสานประสบการณ์ดิจิทัลเข้ากับตัวสินค้า (Digital + Product Experience) เพื่อนำเสนอประสบการณ์ในรูปแบบใหม่อย่างมีเอกลักษณ์ให้แก่ลูกค้ากลุ่มธุรกิจและผู้บริโภคทั่วไป การแพร่ระบาดทำให้การสร้างปฏิสัมพันธ์และการติดต่อกับลูกค้ามีข้อจำกัดเนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดและส่งผลกระทบไปทั่วโลก ดังนั้นการผสานรวมเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับตัวสินค้าจะช่วยลดอุปสรรคด้านการจัดการแพลตฟอร์มให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงบริการเสริมแต่ยังสามารถเพิ่มรูปแบบการทำธุรกิจดิจิทัลใหม่ๆ ให้ผู้ผลิตสามารถรักษาความสัมพันธ์กับผู้บริโภคได้อย่างต่อเนื่องหลังการขาย โดยติดต่อแบรนด์ได้มากขึ้นเช่นเดียวกับผู้เชี่ยวชาญต่างๆ ของแบรนด์นั้นๆ รวมถึงลูกค้ารายอื่นๆ และผู้ใช้ที่มีประสบการณ์ดิจิทัล
การ์ทเนอร์คาดการณ์ในปี 2568 บริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำ 50 อันดับแรกจะลงทุนในแอพ ของแบรนด์ตนเองโดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และฝังเทคโนโลยีลงไปในสินค้า เพิ่มวิดีโอที่เป็นหนึ่งในข้อมูลดิจิทัล และ/หรือ ผสมผสานนวัตกรรมเข้ากับไอทีและทีมวิจัยและพัฒนา
เทรนด์ 2 : ประสบการณ์ครบจบในที่เดียว (Total Experience) โดย Total Experience คือ วิธีการที่ซีไอโอและผู้บริหารด้านไอทีใช้เทคโนโลยีและการโต้ตอบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ พร้อมมอบอำนาจและความกล้าในการตัดสินใจให้แก่ทั้งลูกค้าและพนักงานเพื่อใช้เวลาได้อย่างคุ้มค่า ซึ่งการใช้แนวทางดังกล่าวนี้ ผู้บริหารด้านไอทีสามารถเลือกใช้แพลตฟอร์มที่เหมาะสมสำหรับเชื่อมต่อกับลูกค้า พันธมิตรและพนักงาน ตัวอย่างเช่น พนักงานที่มีบทบาทเป็นผู้เชี่ยวชาญแบรนด์หรือเจ้าหน้าที่ให้บริการลูกค้าและตอบคำถามต่างๆ การ์ทเนอร์คาดการณ์ในปี 2567 องค์กรที่มุ่งเน้น Total Experience จะทำผลงานได้ดีกว่าคู่แข่ง 25% โดยเฉลี่ยจากการวัดความพึงพอใจของลูกค้าและพนักงาน
เทรนด์ 3 : ความร่วมมือของพันธมิตรในระบบนิเวศ (Ecosystem Partnerships) โดยองค์กรระดับโลกหลายรายสามารถใช้ประโยชน์จากความร่วมมือในระบบนิเวศสร้างโอกาสการเติบโตที่มากกว่าและไม่จำกัดอยู่ในตลาดขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมแต่ยังรวมไปถึงตลาดที่กำลังพัฒนา ในอุตสาหกรรมการผลิตการร่วมมือในระบบนิเวศสามารถสร้างสรรค์ไอเดียเพื่อริเริ่มอะไรใหม่ๆ ได้หลากหลาย ตัวอย่างเช่น บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อโลก เปิดโอกาสให้ชุมชนใหม่ๆที่ยังพัฒนาได้อีกและยังเข้าไม่ถึงโอกาส และลดการปล่อยมลพิษผ่านการทำงานระยะไกล การ์ทเนอร์คาดการณ์ในปี 2567 ประมาณ 75% ของบริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำ 20 อันดับแรกจะจับมือร่วมกันในระบบนิเวศที่มุ่งสู่เป้าหมายการเติบโตและสร้างความยั่งยืน
เทรนด์ 4 : การสร้างรายได้จากข้อมูล (Data Monetization) โดย Data Monetization ช่วยซีไอโอและผู้บริหารด้านไอทีในอุตสาหกรรมการผลิตวางแผนเพิ่มรายได้จากการแปลงสินค้าและให้บริการในรูปแบบดิจิทัล ซึ่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลอย่างรวดเร็วขององค์กรภาคการผลิตจะเกิดการสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ผู้บริหารด้านไอทีสามารถแบ่งปันและสร้างรายได้เพิ่มจากข้อมูลจำนวนมหาศาลนี้ผ่านเครือข่ายระบบนิเวศขององค์กร ซึ่งแนวทางนี้จะช่วยให้สามารถแปลงข้อมูลเป็นทรัพย์สินและสร้างบริการใหม่ๆ หรือนำองค์กรไปสู่ธุรกิจรูปแบบใหม่ ที่สามารถสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องแม้ธุรกิจจะหยุดชะงักจากปัจจัยภายนอกต่างๆ ตัวอย่างเช่น ความท้าทายในด้านห่วงโซ่อุปทาน หรือการขาดแคลนทรัพยากรมนุษย์ การ์ทเนอร์คาดการณ์ภายในสิ้นปี 2567 ครึ่งหนึ่งของสินทรัพย์ขององค์กรภาคการผลิตขนาดใหญ่ระดับโลกจะประสบความสำเร็จจากการสร้างรายได้ด้วยข้อมูล
และ เทรนด์ 5 : การให้บริการผ่านอุปกรณ์ (EaaS) โดย Equipment as a Service (หรือ EaaS) เป็นโมเดลเชิงพาณิชย์ที่หลายธุรกิจใช้สำหรับชำระค่าธรรมเนียมในขั้นตอนการดำเนินงานของสินทรัพย์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำแทนที่การจัดซื้ออุปกรณ์ รูปแบบลักษณะนี้ ซีไอโอจะฝังเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) เพื่อใช้ประโยชน์จากการออกแบบทั่วไปและปรับเฟรมเวิร์กให้เข้ากับอุตสาหกรรมเพื่อให้แน่ใจในประสิทธิภาพของสินทรัพย์และค้นหาทางแก้ไขในสินทรัพย์ที่ไม่มีประสิทธิภาพ การ์ทเนอร์ คาดว่าในปี 2566 ประมาณ 20% ของผู้ผลิตเครื่องมือในอุตสาหกรรมจะสนับสนุนการให้บริการผ่านอุปกรณ์ (EaaS) ด้วยการเพิ่มความสามารถการควบคุมอุตสาหกรรมระยะไกล (Industrial IoT) จากโรงงานที่เป็นฐานการผลิต ณ ปัจจุบันที่แทบจะเป็นศูนย์
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,711 หน้า 19 วันที่ 5 - 8 กันยายน 2564