นายคริสเตียน อัลกอต อีนีโวลด์เซน ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการ ECCA Family Foundation กล่าวว่า “ECCA Family Foundation รู้สึกภูมิใจที่มีส่วนสนับสนุน The Incubation Network เนื่องจากเรามั่นใจว่า The Incubation Network จะสามารถนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติก พัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคลากรที่มีหน้าที่จัดการขยะ และสนับสนุนการเดินหน้าสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน เราเห็นถึงความพยายามของประเทศไทยในการจัดการกับความท้าทายด้านปัญหาขยะพลาสติก โดยองค์กรอย่าง The Incubation Network จะสามารถให้การสนับสนุนด้านเทคนิค สร้างเครือข่ายธุรกิจ และเงินทุนเพื่อส่งเสริมระบบนิเวศด้านนวัตกรรมและผู้ประกอบการของไทย ให้สามารถพัฒนาวิธีการแก้ปัญหาที่สามารถนำมาใช้งานได้จริงในเชิงพาณิชย์ได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
ประเทศไทยก่อให้เกิดมลพิษจากขยะพลาสติกในมหาสมุทรมากเป็นอันดับ 6 ของโลก คิดเป็นขยะราว 322,000 ตัน จากขยะจำนวนทั้งสิ้น 8-12 ล้านตันที่ไหลลงสู่มหาสมุทรทั่วโลกในแต่ละปี ขยะส่วนใหญ่ในประเทศไทยมีการกำจัดอย่างไม่ถูกต้อง โดยถูกเผาและฝังกลบในพื้นที่ที่ไม่ถูกหลักสุขาภิบาล หรือรั่วไหลปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม
The Incubation Network เป็นโครงการที่เน้นแก้ปัญหาผลกระทบเชิงสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก SecondMuse และ The Circulate Initiative โดยเริ่มเข้ามามีบทบาทในประเทศไทยรวมถึงประเทศในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ปลายปี 2562 สำหรับความร่วมมือล่าสุดกับพันธมิตร 3 ราย ได้แก่ Seedstars, Alliance to End Plastic Waste และ STEAM Platform ในวันนี้ ได้รับเงินลงทุนเชิงกลยุทธ์จำนวน 2 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 68 ล้านบาท) จาก ECCA Family Foundation เพื่อสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยจัดการปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทย ด้วยการลดการใช้ การใช้ซ้ำ หรือนำไปรีไซเคิล
โครงการของภาครัฐและเอกชนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อจัดการกับปัญหาขยะในปัจจุบันสามารถต่อยอดและขยายผลได้ด้วยการเพิ่มการลงทุนเชิงกลยุทธ์ในระบบนิเวศด้านนวัตกรรมและการสนับสนุนเชิงเทคนิคเพื่อพัฒนาวิธีการแก้ปัญหาที่สามารถปรับให้เหมาะกับขนาดของปัญหา ดร.ศิรินทร์ชญา ปรีชาภัฏสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของบริษัท SecondMuse กล่าว
“The Incubation Network ให้ความสนใจกับประเทศไทย เนื่องจากเสียงเรียกร้องของประชาชนเพื่อให้มีการแก้ปัญหามลพิษทางทะเลจากขยะพลาสติก และจากการที่ภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับการสนับสนุนโครงการด้านความยั่งยืน ซึ่งการสนับสนุนดังกล่าวทำให้สตาร์ทอัพและผู้พัฒนานวัตกรรมในประเทศไทยมีโอกาสที่จะช่วยขับเคลื่อนโครงการตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนของภูมิภาค”
The Incubation Network และพันธมิตรทั้ง 3 องค์กรในประเทศไทยมุ่งหวังที่จะช่วยผลักดันระบบนิเวศด้านนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนผ่านโครงการความร่วมมือต่าง ๆ เช่น Thailand Plastics Circularity Accelerator ซึ่งเป็นโครงการที่ให้การสนับสนุนด้านเทคนิคที่ออกแบบเฉพาะสำหรับธุรกิจที่ได้รับการเลือกให้ร่วมโครงการ Thailand Waste Management & Recycling Academy Program ซึ่งเป็นโปรแกรมบ่มเพาะธุรกิจระยะเวลา 3 เดือนสำหรับธุรกิจที่อยู่ในระยะเริ่มต้น รวมถึงการสร้างเครือข่าย Waste Action Network ระดับประเทศ ทั้งนี้ The Incubation Network จะสนับสนุนเงินทุนและช่วยสร้างเครือข่ายความร่วมมือภาครัฐและเอกชน เพื่อให้สตาร์ทอัพเข้าถึงคำปรึกษาและแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ
การเปิดตัวพันธมิตรครั้งนี้ ได้มีการจัดทำรายงานที่ระบุถึงช่องโหว่ของห่วงโซ่คุณค่าในการจัดการขยะของประเทศไทย ซึ่งยังมีโอกาสแก้ไข หากได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนและนวัตกรรม ตัวอย่างเช่น ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ของไทยก่อให้เกิดการรั่วไหลของพลาสติกเกือบร้อยละ 60 ของจำนวนพลาสติกทั้งหมดที่รั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อม เนื่องจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกมีอายุการใช้งานสั้น จึงเป็นโอกาสสำหรับการการพัฒนาโซลูชันเพื่อเพิ่มกำลังในการรีไซเคิลขยะ เพิ่มความต้องการในผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล และส่งเสริมให้ผู้บริโภคตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของการรีไซเคิล
รายงานดังกล่าวระบุถึงโอกาส 5 ด้าน เพื่อช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศไทย ซึ่งจะนำไปสู่การออกแบบระบบ ผลิตภัณฑ์ และบริการที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดของเสียให้ได้มากที่สุด และลดขยะพลาสติกไปพร้อม ๆ กัน โอกาสทั้ง 5 ด้าน ประกอบด้วย หนึ่ง คือ การช่วยผู้ประกอบการธุรกิจรีไซเคิลให้เข้าถึงความต้องการผลิตภัณฑ์รีไซเคิล สอง คือ การใช้วัสดุที่มีนวัตกรรมช่วยลดการใช้งานพลาสติกผลิตใหม่ สาม คือ การให้ความช่วยเหลือแก่แรงงานจัดเก็บขยะนอกระบบ สี่ คือ การรณรงค์ให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และ ห้า คือ การส่งเสริมให้หน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดเก็บขยะมีระบบงานที่สามารถนำขยะเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล
The Incubation Network ได้ให้ความช่วยเหลือสตาร์ทอัพมาแล้วกว่า 75 รายในการขยายธุรกิจ ผ่านโครงการบ่มเพาะที่เน้นแก้ปัญหาขยะพลาสติกในแต่ละประเทศ สำหรับตัวอย่างความสำเร็จของโครงการในสิงคโปร์และอินโดนีเซียเป็นการเจาะลึกถึงประเด็นปัญหาเช่น เพราะเหตุใดบรรจุภัณฑ์ชนิดอ่อนตัว (Flexible Packaging) ไม่เป็นที่นิยมนำมารีไซเคิลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ วิธีแนะนำหลักการพื้นฐานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนให้แก่สตาร์ทอัพ