มจธ. นำร่องตั้ง “สถานีอัดประจุไฟฟ้า” เดินหน้าสังคมไร้มลพิษ

02 ต.ค. 2564 | 05:30 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ต.ค. 2564 | 12:44 น.

มจธ. เดินหน้าสังคมไร้มลพิษ เปิดตัวสถานีอัดประจุไฟฟ้า สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า นำร่องใช้เป็นสนามทดสอบ ก่อนลดคาร์บอนเป็นศูนย์ ภายในปี 2040

รศ. ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เปิดเผยว่า มจธ. มีนโยบายอย่างชัดเจนและได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องในการมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่ยั่งยืน (Sustainable University) โดยมีนโยบายส่งเสริมการเดินทางแบบไร้มลพิษ

 

เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญในการลดการปลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์สุทธิของ มจธ. ภายในปี ค.ศ. 2040 (KMUTT Carbon Neutrality  2040) ที่จะส่งเสริมให้บุคลากรเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และการส่งเสริมการแบ่งปันและการใช้รถยนต์ร่วมกันภายในมหาวิทยาลัย

มจธ. นำร่องตั้ง “สถานีอัดประจุไฟฟ้า” เดินหน้าสังคมไร้มลพิษ

นอกจากนี้ยังสามารถใช้มหาวิทยาลัยเป็นสนามทดสอบ (Test Bed) และแหล่งเรียนรู้และวิจัยในวิถีชีวิต (Living Lab) ในเรื่องการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะภายในมหาวิทยาลัย

 

ล่าสุดได้ร่วมกับอาจารย์ธนิตสรณ์ จิระพรชัย รองอธิการบดีฝ่ายแผนและสารสนเทศ และ รศ. ดร.ยศพงษ์ ลออนวล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความยั่งยืน เข้าเยี่ยมชมสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า สถานีบริการรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในรูปแบบแชร์ริ่ง (EV sharing) โดยมีนายปรีชา อาการศ สำนักบริหารอาคารและสถานที่ นำเยี่ยมชม

มจธ. นำร่องตั้ง “สถานีอัดประจุไฟฟ้า” เดินหน้าสังคมไร้มลพิษ

และนายกฤษฏิ์ วิชัยวัฒนาพาณิชย์ CEO และ Co-founders บริษัท ฮ้อปคาร์ จำกัด บริษัท Startup ด้าน Mobility Sharing แรกของประเทศไทยและทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยตั้งแต่ปี 2560 ที่ผ่านมา ให้คำแนะนำขั้นตอนการใช้บริการ ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พร้อมให้บริการสำหรับบุคลากรและนักศึกษา โดยการสมัครใช้บริการและชำระเงินผ่านแอปพลิเคชัน HAUP

 

ทั้งนี้ศูนย์วิจัย Mobility and Vehicle Technology Research Center (MOVE) มจธ. ได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้าชนิด DC ขนาด 25 กิโลวัตต์ ซึ่งสามารถอัดประจุไฟฟ้าผ่านหัวจ่ายประเภท CCS2 และ CHAdeMO ภายในสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าเดียวกัน

มจธ. นำร่องตั้ง “สถานีอัดประจุไฟฟ้า” เดินหน้าสังคมไร้มลพิษ

ซึ่งจะมีการเก็บข้อมูลการใช้พลังงานของยานยนต์ไฟฟ้า ภายใต้การศึกษาโครงการวิจัย “การศึกษาความเป็นไปได้ในการทดแทนรถที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลในปัจจุบันด้วยยานยนต์ไฟฟ้า ยานยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ และยานยนต์ที่ได้มาตรฐานค่าไอเสียยูโร 6 ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในบรรยากาศ”

 

ที่ดำเนินการร่วมกับ กรมควบคุมมลพิษ และสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (นิด้า) โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมีแผนภายหลังสิ้นสุดโครงการวิจัยที่จะส่งมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทางมหาวิทยาลัยเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการให้บริการการอัดประจุสาธารณะต่อไป