เอสเอ็มอีเสี่ยงถูกโจมตีทางไซเบอร์ 76%สูญเสียข้อมูลลูกค้า

04 ต.ค. 2564 | 08:50 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ต.ค. 2564 | 16:01 น.

ซิสโก้ เผยผลการศึกษาล่าสุดเอสเอ็มอี กำลังเผชิญกับความเสี่ยงหรือถูกโจมตีทางไซเบอร์ และมีความกังวลเกี่ยวกับภัยคุกคามด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้มากขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดย 65% ของเอสเอ็มอีถูกโจมตีทางไซเบอร์ในปีที่ผ่านมา และ 76% สูญเสียข้อมูลลูกค้าหลังถูกโจมตี

นายทวีวัฒน์ จันทรเสโน กรรมการผู้จัดการ ซิสโก้ ประเทศไทยเปิดเผยว่า ผลการศึกษาล่าสุดของซิสโก้ชี้ให้เห็นว่าธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอีในไทยกำลังเผชิญกับความเสี่ยงหรือถูกโจมตีทางไซเบอร์ และมีความกังวลเกี่ยวกับภัยคุกคามด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้มากขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดย 65% ของเอสเอ็มอีในไทยถูกโจมตีทางไซเบอร์ในปีที่ผ่านมา และ 76% สูญเสียข้อมูลลูกค้าหลังถูกโจมตีทางไซเบอร์

ด้วยเหตุนี้ เอสเอ็มอีจึงมีความวิตกกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับความเสี่ยงทางด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ โดย 76% ระบุว่า ปัจจุบันมีความกังวลเรื่องไซเบอร์ซีเคียวริตี้มากกว่าเมื่อ 12 เดือนที่แล้ว และ 97% รู้สึกว่าตกอยู่ในความเสี่ยงต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ อย่างไรก็ตาม เอสเอ็มอีในภูมิภาคนี้ไม่ยอมแพ้ต่อปัญหา โดยผลการศึกษาของซิสโก้ชี้ว่า เอสเอ็มอีกำลังดำเนินมาตรการอย่างจริงจังในหลายๆ ด้าน เช่น การสร้างแบบจำลองภัยคุกคามทางไซเบอร์ เพื่อซ้อมรับมือกับการโจมตีและปรับปรุงความสามารถในการป้องกันภัยไซเบอร์

เอสเอ็มอีเสี่ยงถูกโจมตีทางไซเบอร์ 76%สูญเสียข้อมูลลูกค้า

รายงานผลการศึกษา: ไซเบอร์ซีเคียวริตี้สำหรับเอสเอ็มอี: การเตรียมพร้อมขององค์กรธุรกิจในเอเชีย-แปซิฟิกสำหรับการป้องกันภัยทางดิจิทัล (Cybersecurity for SMBs: Asia Pacific Businesses Prepare for Digital Defense) อ้าง อิงผลการสำรวจความคิดเห็นแบบ double-blinded ของผู้บริหารธุรกิจและผู้บริหารไอทีที่ดูแลเรื่องไซเบอร์ซีเคียวริตี้กว่า 3,700 คนจาก 14 ประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก ผลสำรวจชี้ว่าเอสเอ็มอีในไทยได้เผชิญหลากหลายวิธีการที่คนร้ายใช้ในการเจาะเข้าสู่ระบบขององค์กร ซึ่งการโจมตีด้วยมัลแวร์ ครองอันดับหนึ่งในไทยส่งผลกระทบต่อเอสเอ็มอี 91% ตามด้วยฟิชชิ่ง (Phishing) 77% ในปีที่ผ่านมา

เอสเอ็มอีในไทยเกือบครึ่งหนึ่ง (49%) ที่ถูกโจมตีทางไซเบอร์ระบุว่า สาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้องค์กรถูกโจมตีเป็นเพราะว่าโซลูชั่นด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะตรวจจับ หรือป้องกันการโจมตี ขณะที่ 25% ระบุว่าสาเหตุหลักคือองค์กรไม่ได้ติดตั้งโซลูชั่นด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ และไม่ได้ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกๆ

ปัญหาดังกล่าวส่งผลเสียอย่างมากต่อธุรกิจ โดยเกือบครึ่งหนึ่ง (47%) ของเอสเอ็มอีในไทยที่เคยถูกโจมตีทางไซเบอร์ช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาระบุว่าเหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความเสียหายต่อธุรกิจคิดเป็นมูลค่าอย่างน้อย 500,000 ดอลลาร์(ประมาณ 16 ล้านบาท) ขณะที่ 28% ได้รับความเสียหาย 1 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 32 ล้าน บาท) หรือมากกว่านั้น

เอสเอ็มอีในไทยเร่งดำเนินการปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่ดิจิทัลในช่วง 18 เดือนที่ผ่านมา เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสำหรับการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และตอบสนองความต้องการของลูกค้าโดยเป็นผลมาจากการแพร่ระบาด การปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลดังกล่าวทำให้เอสเอ็มอีจำเป็นต้องลงทุนในเทคโนโลยีและโซลูชันที่จะช่วยปกป้ององค์กรให้รอดพ้นจากภัยคุกคามด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ทั้งนี้เพราะยิ่งธุรกิจเป็นรูปแบบดิจิทัลมากเท่าไรก็จะยิ่งตกเป็นเป้าหมายการโจมตีของคนร้ายมากขึ้นเท่านั้น”

นอกเหนือจากการสูญเสียข้อมูลลูกค้าแล้ว เอสเอ็มอีในไทยที่ถูกโจมตียังสูญเสียข้อมูลของพนักงาน (69%), อีเมลภายในองค์กร (65%), ทรัพย์สินทางปัญญา(53%), ข้อมูลด้านการเงิน (57%) และข้อมูลธุรกิจที่สำคัญ (49%) นอกจากนี้ 56% ประสบปัญหาการดำเนินงานหยุดชะงักอันเนื่องมาจากการโจมตีทางไซเบอร์

การหยุดชะงักของธุรกิจที่เป็นผลมาจากการโจมตีทางไซเบอร์อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเอสเอ็มอี โดยกว่า 8 ใน 10 (81%) ของเอสเอ็มอีในไทยระบุว่า การที่ระบบใดก็ตามหยุดทำงานเกินกว่าหนึ่งชั่วโมงจะทำให้การดำเนินธุรกิจหยุดชะงักอย่างรุนแรง และ 86% ระบุว่ากรณีเช่นนี้จะส่งผลให้องค์กรสูญเสียรายได้ และยิ่งไปกว่านั้น 29% ระบุว่า ถ้าระบบหยุดทำงานเกินกว่าหนึ่งวัน จะทำให้องค์กรต้องยุติการดำเนินงานอย่างถาวร

ปัญหาท้าทายนี้มีขอบเขตและระดับความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากมีผู้ตอบแบบสอบถามในไทยเพียง 13% เท่านั้นที่ระบุว่าตนเองสามารถตรวจจับการโจมตีทางไซเบอร์ได้ภายในหนึ่งชั่วโมง และจำนวนองค์กรที่สามารถแก้ไขปัญหาการโจมตีทางไซเบอร์ได้ภายในหนึ่งชั่วโมงอยู่ที่ 7% เท่านั้น

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,719 หน้า 19 วันที่ 3 - 6 ตุลาคม 2564