ดีอีเอส-สตช.รับลูกนายกฯ เร่งเครื่องปราบมิจฉาชีพออนไลน์

06 ต.ค. 2564 | 09:53 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ต.ค. 2564 | 16:55 น.

ดีอีเอส หารือร่วม สตช. รับลูกข้อสั่งการนายกฯ เร่งหาแนวทางป้องปราบมิจฉาชีพออนไลน์ ยกระดับศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาซื้อขายออนไลน์ OCC 1212 ดึงผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ร่วมหารือแก้ไขปัญหา พบคนร้องเรียนปัญหาจากการซื้อสินค้าผ่านเฟซบุ๊กมากสุด

วันนี้ (6 ต.ค. 64) นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ร่วมกับ พล.ต.ต.ภาณุมาศ บุญญลักษม์ รองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (รอง ผบช.สอท.) และพล.ต.ต.ชรินทร์ โกพัฒน์ตา ผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 5 (ผบก.สอท.5) แถลงการหารือแนวทางป้องปราบมิจฉาชีพออนไลน์ เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการสืบสวนรวบรวมหลักฐาน และความเข้มข้นในการดำเนินคดีกับมิจฉาชีพและผู้กระทำผิด ที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมาเป็นช่องทางหลอกลวง ฉ้อโกง ซ้ำเติมความเดือดร้อนให้กับประชาชน โดยเฉพาะในท่ามกลางความยากลำบากจากสถานการณ์โควิด-19

 

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า จากที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความห่วงใยประชาชนที่ไม่รู้เท่าทันมิจฉาชีพทางออนไลน์ จนตกเป็นเหยื่อกลโกงรูปแบบต่างๆ ที่พัฒนาขึ้นตามเทคโนโลยีการสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น เอสเอ็มเอส ไลน์ เฟซบุ๊ก แอปเงินกู้ และโทรศัพท์หลอกลวง โดยกำชับให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และกระทรวงดิจิทัลฯ ให้ดำเนินการตามกฎหมายสูงสุดหากพบหลักฐานกระทำความผิด  เพราะถือว่าเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ

 

ที่ผ่านมา กระทรวงดิจิทัลฯ ร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) กองบังคับการปราบปรามการการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บก.ปอท.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดทรัพย์ (กลต.) และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพทางออนไลน์ รวมถึงรวบรวมหลักฐานติดตามผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายให้เร็วที่สุด

 

 

 

ดีอีเอส-สตช.รับลูกนายกฯ เร่งเครื่องปราบมิจฉาชีพออนไลน์  

โดยตั้งแต่เดือนตุลาคม ปีที่ผ่านมา พบปัญหาอาชญากรรมทางออนไลน์ที่ประชาชนร้องเรียน ร้องทุกข์ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น การหลอกลวงทางออนไลน์ เช่น สั่งซื้อสินค้าแล้วไม่ได้ของ หรือไม่ได้คุณภาพตามที่โฆษณา หลอกลงทุนออนไลน์ แชร์ออนไลน์ กู้เงิน แฮกบัญชี  ปลอมแปลงบัญชี หลอกโอนเงิน SMS หกลอกกู้เงิน มีผู้เสียหายนับหลายพันคดี มูลค่าความเสียหายหลายร้อยล้านบาท

 

ปัจจุบันยังได้ยกระดับการให้บริการประชาชนผ่านสายด่วน 1212 เว็บไซต์ https://www.1212occ.com หรือ email: [email protected] ดำเนินการการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบหรือความเสียหายจากภัยออนไลน์ รวมทั้งจะมีการส่งเสริมให้ความรู้กับประชาชนเพิ่มขึ้นด้วย

 

“วันนี้ได้มีการเชิญผู้ให้บริการแพลต์ฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เข้ามาร่วมหารือ เช่น เฟซบุ๊ก กูเกิล ไลน์ ช้อปปี้ Tiktok เจดีเซ็นทรัล และลาซาด้า เพื่อหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาการซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่เกิดขึ้น” นายชัยวุฒิกล่าว

 

ทั้งนี้ จากสถิติการรับแจ้งปัญหาการซื้อขายออนไลน์ ผ่านสายด่วน 1212 พบว่าแต่ละปีมีปริมาณร้องเรียนเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับด้วยสถานการณ์โควิด-19 ผู้บริโภคนิยมเน้นการซื้อของผ่านออนไลน์เป็นที่นิยมต่อเนื่อง โดยสถิติร้องเรียนในปีนี้ (1 ม.ค. – 4 ต.ค. 64) มากสุด 3 อันดับแรก คือ ได้รับสินค้าไม่ตรงตามข้อตกลง (ผิดสีผิดขนาด) ไม่ได้ตามโฆษณา ตามมาด้วย ไม่ได้รับสินค้า (หลอกลวง) และได้รับสินค้าชำรุด

 

สำหรับช่องทางการซื้อขายที่มีสถิติการร้องเรียนจากผู้ซื้อสินค้าออนไลน์มากสุด ได้แก่ การซื้อผ่านเฟซบุ๊ก คิดเป็นสัดส่วนถึง 82.4% จำนวนการร้องเรียน 19,296 ครั้ง ตามมาด้วย เว็บไซต์ 4.6% และอินสตาแกรม 4.3%

 

 

ดีอีเอส-สตช.รับลูกนายกฯ เร่งเครื่องปราบมิจฉาชีพออนไลน์

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า สำหรับข้อกำหนดลงโทษผู้กระทำผิดกฎหมาย กรณีฉ้อโกงต่อประชาชนจะเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีโทษสูงขึ้นจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

นอกจากนี้ ยังเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 11 ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่นโดยปกปิดหรือปลอมแปลงแหล่งที่มาของการส่งข้อมูลดังกล่าว อันเป็นการรบกวนการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นโดยปกติสุข ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท

 

และหากการกระทำใดเข้าข่ายหลอกลวง ก็มีความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจมีความผิดตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

 

ด้านพล.ต.ต.ภาณุมาศ บุญญลักษม์ รองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (รอง ผบช.สอท.) กล่าวว่า ด้านสถิติการหลอกลวงออนไลน์ ตั้งแต่มีการจัดตั้งสำนักงานตำรวจไซเบอร์ขึ้นมา มีการจับกุมดำเนินคดีไปแล้วกว่า 3,000 คดี รวมมูลค่าความเสียหาย 1.000 กว่าล้านบาท ขณะที่ ตั้งแต่ 22 ธ.ค. 63 - ปัจจุบัน ในส่วน บช.สอท. มีการจับกุมเอง ดำเนินการไปแล้ว 9 คดี 40 หมายจับ รวมทั้งสิ้น 49 คดี ซึ่งไม่เกี่ยวกับที่มีการไปร้องทุกข์แจ้งความตาม สภอ. ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ

 

ล่าสุด บช.สอท. ยังได้ร่วมกับสำนักงาน กสทช. และค่ายมือถือต่างๆ วางแนวทางจัดการปัญหา SMS และโทรศัพท์หลอกลวงประชาชน   โดยผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทุกราย จะทำการบล็อก SMS ที่มีเนื้อหาชัดเจนว่าเป็นการหลอกลวง เว็บพนันออนไลน์ หรือลามกอนาจารทันที และเร่งตรวจสอบ กำกับดูแลกันเองอย่างเคร่งครัด และให้ทุกค่ายเริ่มทำการ Backlist ผู้ส่งที่ส่งข้อความหลอกลวง หลังจากที่ได้การแชร์ข้อมูล SMS หลอกลวงระหว่างกันแล้วพบว่ามาจากผู้ส่งรายเดียวกัน

 

 

ดีอีเอส-สตช.รับลูกนายกฯ เร่งเครื่องปราบมิจฉาชีพออนไลน์

ในกรณีการโทรหลอกลวงประชาชนโดยตรง ผู้ให้บริการมือถือทุกราย สามารถตรวจสอบการกระทำความผิดได้ชัดเจนเนื่องจากเบอร์โทรศัพท์มือถือที่มิจฉาชีพใช้สามารถตรวจสอบจากการลงทะเบียนได้ว่าใครเป็นเจ้าของเบอร์นั้น ถือเป็นหลักฐานที่ระบุต้นทางที่มา ประกอบกับข้อมูลที่ประชาชนให้ข้อมูลการหลอกลวง ส่งคลิป หรือแจ้งเบอร์โทรศัพท์เข้ามาเพื่อเป็นข้อมูล บช.สอท.จะตรวจสอบกับค่ายมือถือ และสำนักงาน กสทช. เพื่อดำเนินการตามกฎหมายในการดำเนินคดีเอาผิดกับมิจฉาชีพต่อไป

 

 

ส่วนทางด้าน "คิง ก่อนบ่าย" ได้แคปภาพ SMS ที่มีข้อความระบุว่า "ต้องการสินเชื่อฉุกเฉินเยียวยา รับเงินทันใจกดรับ...." พร้อมโพสต์ลงใน IG ส่วนตัว  kingkonbai รวมถึงเขียนแคปชั่นเตือนภัยว่า....

 

"เตือนภัย ใครเจอ SMS แบบนี้อย่าหลงเข้าไปกู้เงินเด็ดขาดนะครับ แม่เลี้ยงผมตกเป็นเหยื่อมาแล้ว ถูกหลอกให้โอนเงินไปเกือบสองหมื่นแล้วครับ ตอนนี้กำลังรวบรวมหลักฐานไปแจ้งความฝากตำรวจไซเบอร์ จัดการพวกหากินบนความลำบากของประชาชนด้วยครับ".