นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวปาฐกถาพิเศษ EEC Future : อีอีซี เดินหน้าขยายโครงสร้างพื้นฐาน 5G ในงานสัมมนา “EEC Future : 5G... ดันศักยภาพไทยแข่งขันเวทีโลก”จัดโดย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจว่า เข็มทิศที่จะนำทางประเทศไทยก้าวสู่การเป็นดิจิทัลไทยแลนด์ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระยะที่ 2 ที่เรียกว่า Digital Inclusive ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีเป็นระยะที่ต้องเร่งให้เกิด “การเปลี่ยนแปลงเชิงดิจิทัล” ผ่านการส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนของประเทศเกิดการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการขับเคลื่อนธุรกิจในปัจจุบัน รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อสร้างความเข้มแข็งในระยะยาวให้กับประเทศ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันในไทยมีการใช้งานโทรศัพท์มือถือ 90.66 ล้านรายคิดเป็น 129.7% ต่อจำนวนประชากร มีการใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศแล้ว 48.59 ล้านราย และมีการใช้งานแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย 55 ล้านบัญชี พร้อมกันนี้ไทยก้าวสู่สังคมไร้เงินสดอย่างเต็มรูปแบบคนไทยใช้โมบาย แบงก์กิ้งเป็นอันดับ 1 ของโลกคนไทยมีโอกาสในการค้าขายผ่านอี-คอมเมิร์ซและโซเชียล มีเดียผ่านโทรศัพท์มือถือมากเป็นอันดับ 2 ของโลก
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา รัฐบาลพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลผ่านโครงการสำคัญ คือ 1.โครงการเน็ตประชารัฐที่มีเชื่อมต่อแล้ว 74,987 หมู่บ้าน มีอาสาสมัครดิจิทัล (อสด.) ลงทะเบียนใช้ งานแล้วกว่า 9 ล้านคน 2. โครงการอาเซียน ดิจิทัลฮับ ทั้งเครือข่ายภายในประเทศที่เชื่อมโยงกับนานาประเทศผ่านเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศของประเทศไทยที่มีอยู่ และร่วมมือสร้างโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำแห่งใหม่เพิ่มเส้นทางตรงสู่ศูนย์กลางสำคัญในภูมิภาคนี้ เช่น จีน (ฮ่องกง) สิงคโปร์ และญี่ปุ่น”
นายชัยวุฒิ กล่าวอีกว่า ส่วนขับเคลื่อนระดับนโยบายผ่านคณะกรรมการ 5G เพื่อให้การบริหารจัดการการขับเคลื่อน 5G ทั้งระบบ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการบูรณาการและเป็นเอกภาพ และได้มีการจัดทำ “แผนปฏิบัติการว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G” โดยเชื่อว่าการประยุกต์ใช้ 5จีมีแนวโน้มขยายตัวและส่งผลกระทบต่อประชากรไทยกว่า 75-80% ภายในปี 2573 โดยมีปัจจัยหนุน จากแบนด์วิธเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนต่อกิกะไบต์ต่ำลง และรองรับการใช้งานรูปแบบใหม่ การสร้างงานใหม่ คาดว่าภายในปีดังกล่าว เทคโนโลยี 5G จะสร้างงานใหม่กว่า 130,000 งานในประเทศไทย ครอบคลุมการผลิต 5G จะเป็นฐานให้กับเทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูง เช่น เออาร์/วีอาร์ ไอโอที เอไอ และบิ๊ก ดาต้า ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้พลิกโฉมการพัฒนา เช่น ภาคอุตสาหกรรม การศึกษา การแพทย์และสาธารณสุข การเงิน การท่องเที่ยว เป็นต้น
5จีดันเม็ดเงินสะพัด6.5แสนล้าน
ในแง่ของขนาดตลาดประมาณการณ์ไว้ว่า ตลาด 5G ของประเทศไทยจะมีมูลค่ากว่า 6.5 แสนล้านบาท และ 5จีจะช่วยเพิ่มมูลค่า GDP ให้กับประเทศไทย 5.5 เท่า ภายในปี 2578 และไทยจะเผชิญค่าเสียโอกาสประมาณ 2.3 ล้านล้านบาท หากไม่สามารถใช้งาน 5G ได้ภายในปี 2573 โดยอุตสาหกรรมการผลิตจะได้รับผลกระทบสูงสุดคาดว่าจะสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 7 แสนล้านบาท ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่า 5G มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเทคโนโลยีในการพัฒนาประเทศไทยให้เป็น ‘ศูนย์กลางของเมืองอัจฉริยะแห่งภูมิภาคอาเซียน’ ได้อย่างแท้จริง
“ดิจิทัลไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นอนาคตของประเทศ” การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลจึงต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ผ่านการสร้างเครือข่าย เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้พร้อม รวมทั้งการสร้างโอกาสจากเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในการสร้างสรรค์ความก้าวหน้าให้กับประเทศไทยในทุกมิติ
เป้าหมายสู่อาเซียนดิจิทัลฮับ
สำหรับการคิกออฟ 5G ปี 2564 ที่ผ่านมานั้น รัฐมนตรีดีอีเอส กล่าวว่า มีนโยบายสนับสนุนให้เกิดการนำเทคโนโลยีโทรคมนาคมยุคใหม่ (Next Generation Telecom) หรือ 5G มาประยุกต์ใช้ได้จริง ทั้งการสนับสนุนให้เกิดการประมูล 5G โดยหน่วยงานรัฐวิสาหิจในกำกับของกระทรวงเข้าร่วมประมูลด้วย ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดการนำ 5G มาประยุกต์ใช้ได้จริง โดยการทดสอบการใช้งาน 5G ที่ 5G เทสเบส มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ EECd โดย ดีป้า ร่วมกับ ศูนย์ทดสอบ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และผู้ให้บริการโทรคมนาคม
อีกทั้งยังมีการจัดตั้งศูนย์ Thailand 5G Ecosystem Innovation Center (5G EIC) ณ อาคารดีป้า ลาดพร้าว ซึ่งเป็นพื้นที่กำกับดูแลเป็นการเฉพาะ (Regulatory Sandbox) เป็นพื้นที่ให้ผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมดิจิทัลได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G ในการสร้างสรรค์นวัตกรรม พัฒนาบริการใหม่ ๆ ผ่านโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี 5G
นอกจากนี้ ยังมีการวางนโยบายแห่งอนาคต เร่งขับเคลื่อนไทยสู่อาเซียนดิจิทัลฮับ การเตรียมความพร้อมสู่อนาคตของประเทศ จำเป็นต้องมีนโยบายที่ชัดเจน และการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม รัฐบาลโดยกระทรวงฯ เร่งดำเนินการให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลของอาเซียน (ASEAN Digital Hub) ในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) โดยเร่งรัดสร้างเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล หรือ Digital Park Thailand ตลอดจนพัฒนาโครงการปฏิบัติการอย่างเป็นรูปธรรม เช่น Smart Cities และ Thailand Digital Valley ซึ่งเป็นโครงการที่จะทำให้ประเทศเกิดเป้าหมายการพัฒนาที่ชัดเจน โดยเฉพาะในยุคของ Digital Disruption ที่ถูกเร่งกระบวนการให้เร็วยิ่งขึ้น