การแข่งขัน CTF ในปีนี้มีทีมเข้าร่วมแข่งขันทั้งสิ้น 87 ทีม จาก 34 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ โดยผู้เข้าร่วมแข่งขันต้องมีความรู้ความสามารถด้านต่างๆ เช่น การระบุปัญหาด้านความปลอดภัยและการกำหนดค่าที่ไม่ถูกต้องในสภาพแวดล้อมบนคลาวด์สาธารณะ ผ่านการทดสอบในหลายแง่มุมด้านการรักษาความปลอดภัยข้อมูล รวมถึง การเข้ารหัสข้อมูล การวิเคราะห์ไบนารี และวิศวกรรมย้อนกลับ โดยคำถามที่ทำการทดสอบมีระดับความยาก-ง่ายตามระดับของการแข่งขัน การแข่งขัน CTF ช่วยให้แยกทักษะ และกลุ่มของผู้เข้าร่วมแข่งขันได้
น.อ. อมร ชมเชย รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช) และ ดร.ธัชพล โปษยานนท์ ผู้อำนวยการ บริษัท พาโล อัลโต เน็ตเวิร์ค ประเทศไทย และอินโดจีน แสดงความยินดีกับทีมชนะเลิศ และรองชนะเลิศ โดยทีมชนะเลิศ คือ ทีมไฟเบอร์ซีเคยวริตี้ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รองชนะเลิศอันดับ 1คือ ทีม Confused30 จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ ทีม Ro_bocop จากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ โดยทีมที่ชนะการแข่งขันจะได้รับใบรับรองจาก สมกช. รางวัลเงินสด และบัตรคูปองสำหรับการสอบใบรับรองจากพาโล อัลโต เน็ตเวิร์กส์ และรางวัลสำหรับทีมที่เข้ารอบ 10 ทีมสุดท้ายได้รับผลิตภัณฑ์ไฟร์วอลล์ Palo Alto Networks PA-200 Next-Generation Firewall และรางวัลเงินสดรวมสำหรับทุกรางวัลมูลค่า 110,000 บาท
น.อ.อมร กล่าวเพิ่มเติมว่า “เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยกำลังอยู่ในระหว่างจุดเปลี่ยน และเราจำเป็นต้องจัดการกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์จำนวนมาก เพื่อให้เราสามารถวางแนวทางป้องกันภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นต่อความมั่นคงของประเทศ ผมมั่นใจว่าโครงการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยไซเบอร์ระดับโลกของพาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์ จะช่วยฝึกอบรมและเตรียมผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในภาคส่วนนี้ได้”
นอกเหนือจากนี้แล้ว ในปีนี้ พาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์ ตั้งเป้าในการสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยไซเบอร์ 1,000 คน จากผู้จบหลักสูตรในโครงการฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญด้านระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ (Palo Alto Networks Cybersecurity Academy) เป็นโครงการระดับโลกที่ริเริ่มโดยพาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านความปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญในการปกป้องเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยในประเทศไทยเข้าร่วมโครงการ 15 แห่ง
ดร. ธัชพล กล่าวว่า “เรามุ่งมั่นทำงานอย่างใกล้ชิดกับภาครัฐเพื่อให้แน่ใจว่าความปลอดภัยทางไซเบอร์ของไทยจะได้รับการจัดการอย่างรัดกุมมากที่สุด การระบาดใหญ่ของโควิด-19 เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทุกภาคส่วนเร่งปรับขบวนการสู่ดิจิทัล ระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์จึงเป็นวาระเร่งด่วนของภาครัฐ เราจำเป็นต้องลงทุนในการพัฒนาและเพิ่มทักษะให้กับคนรุ่นใหม่ เพื่อรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ทวีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ”
พาโล อัลโต้ เน็ตเวิร์กส์ สนับสนุนวิสัยทัศน์ของรัฐบาลจากโครงการ Cybersecurity Academy Program ซึ่งประกอบด้วย ชุดหลักสูตรทางวิชาการและชุดหลักสูตรทางเทคนิค ด้านระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์รวมถึงการฝึกอบรมภาคปฏิบัติ หลังจากอบรมจนจบหลักสูตร นักศึกษาหรือผู้เข้าอบรมจะได้รับใบประกาศนักเทคนิคระดับเริ่มต้นด้านระบบรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ (Palo Alto Networks Certified Cybersecurity Entry-Level Technician (PCCET)) หรือใบประกาศผู้ดูแลระบบรักษาความปลอดภัยเครือข่าย (Palo Alto Networks Certified Network Security Administrator (PCNSA)) ในปีที่ผ่านมา มีผู้ที่ผ่านการรับรอง PCCET จำนวน 60 คน (ก่อนหน้านี้เรียกใบรับรอง PCCSA) และ PCNSA จำนวน 61 คน ทั้งนี้ มีนักศึกษาได้รับใบรับรอง PCCET 2,280 คนจากทั่วโลกในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งนักศึกษาไทยก็อยู่ในจำนวนนี้ด้วย