ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัลQ3ทรงตัว

21 ต.ค. 2564 | 06:25 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ต.ค. 2564 | 13:41 น.

ดีป้า เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล ไตรมาส 3 ปี 2564 พบทรงตัว หลังได้รับผลกระทบแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว จีดีพีหดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ยังผลให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดิจิทัลขาดความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจโดยภาพรวม

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า  เผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล (Digital Sentiment Index) ไตรมาส 3 ประจำปี 2564 ใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรมย่อย ประกอบด้วย กลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ กลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ และกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม โดยดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ระดับ 45.0 ทรงตัวจากระดับ 45.6 ของไตรมาส 2 ในเกือบทุกองค์ประกอบ ทั้งด้านปริมาณ การผลิต และการลงทุน

ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัลQ3ทรงตัว

โดย ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่ระดับ 45.0 เป็นผลมาจากการผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) อย่างต่อเนื่อง และขาดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชัดเจนและตรงจุดจากภาครัฐ ส่งผลให้เศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัว จีดีพีหดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน กระทบต่ออุตสาหกรรมดิจิทัล เนื่องจากลูกค้าขาดกำลังซื้อ ชะลอการจ่ายเงิน ผู้ประกอบการดิจิทัลประสบภาวะขาดสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้ผู้ประกอบการดิจิทัลขาดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยภาพรวม

ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัลQ3ทรงตัว

หากแยกตามกลุ่มอุตสาหกรรมจะเห็นว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงจากผลประกอบการ และต้นทุนการประกอบการ มีเพียงกลุ่มอุตสาหกรรมบริการด้านดิจิทัล (Digital Service) ที่ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ระดับ 52.9 กลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) อยู่ที่ระดับ 46.3 และกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (Telecommunication) อยู่ที่ระดับ 44.7 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่ระดับความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงคือ กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ (Software) อยู่ที่ระดับ 45.4 และกลุ่มอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะ (Hardware and Smart Device) อยู่ที่ระดับ 41.6

ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัลQ3ทรงตัว

 

“ทั้งนี้ ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมดิจิทัลไทยคาดหวังให้ภาครัฐดำเนินนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล ทั้งด้านการจ้างงานและเงินเดือน เพราะปัจจุบันมีการแข่งขันที่สูงขึ้น จึงทำให้ฐานเงินเดือนเพิ่มขึ้น ในส่วนของมาตรการช่วยเหลือการลงทุนของผู้ประกอบการ รวมทั้งการปรับปรุงกฎหมายกฎระเบียบยังคงเป็นอุปสรรค ควรมีความผ่อนคลาย และมีความชัดเจนในการบังคับใช้ในการสนับสนุนด้านการตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะเดียวกันควรเปิดโอกาสการเข้าถึงฐานข้อมูลของภาครัฐ รวมถึงการแชร์ข้อมูล เพื่อให้เกิดความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในอนาคต” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว