นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ….อยู่ระหว่างการตรวจสอบจากกฤษฎีกา หลัง ครม.ผ่านความเห็นชอบในหลักการไปเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ทั้งนี้คาดว่า พรฎ. ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ราวต้นปี 2565
โดยระหว่างนี้จะมีการหารือกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรือ เอ็ตด้า และโซเชียลมีเดีย เพื่อกำหนดมาตรการการยืนยันตัวตน การมีตัวแทนในประเทศไทยที่รับผิดชอบต่อประชาชน มาตรการโอนเงินต้องมีระบบยืนยันตัวตน 2 ชั้น เป็นต้น เช่นเดียวกับช่องทางการจดแจ้งอาจใช้ช่องทางออนไลน์ แต่ในครั้งแรกต้องมาแสดงตัว รวมถึงช่องทางร้องเรียนออนไลน์ ซึ่งจะต้องมีการหารือและกำหนดให้ชัดเจนออกมา
ด้าน ดร.ชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) กล่าวว่าเอ็ตด้า จะทยอยเชิญผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติ ทั้งโซเชียลมีเดีย อีมาร์เก็ตเพลส เข้ามาชี้แจงความจำเป็นของการมีกฎหมายดังกล่าว เริ่มต้นจาก Facebook
ขณะที่ตัวแทนจาก Facebook ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่าเราทราบว่าขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวได้รับการอนุมัติโดยหลักการแล้วและอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาต่อไป และเรามุ่งหวังที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการหารือร่วมกับภาคเอกชน นักวิชาการ และภาคประชาสังคม สำหรับ Facebook เราให้การสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและมีการหารือกับภาครัฐ เอกชนและภาคธุรกิจ รวมถึงผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมในประเด็นที่เกี่ยวข้องต่อไป
ส่วนนายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com กล่าวว่าผู้ได้รับประโยชน์จากพรฎ.ดังกล่าว คือผู้บริโภค เพราะได้รับการคุ้มครองการซื้อขายสินค้า หรือใช้บริการจากแพลตฟอร์มดิจิทัล แต่ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็กของไทย มีภาระเพิ่มขึ้น และมีความซ้ำซ้อน โดยปัจจุบันผู้ประกอบการไทยมีการจดแจ้งการดำเนินธุรกิจกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์อยู่แล้ว เป็นไปได้หรือไม่ที่หน่วยงานรัฐจะมีการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูล ผู้ประกอบการสามารรถจดแจ้งธุรกิจ ผ่านช่องทางบริการจดแจ้งแบบเบ็ดเสร็จ หรือ One Stop Service เพียงช่องทางเดียว นอกจากนี้ยังมีความกังวลเรื่องการให้อำนาจกับเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งอาจเป็นช่องทางในการเรียกรับผลประโยชน์ หรือ คอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐ
อนึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ที่ผ่านมาได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. .... เพื่อรักษาความมั่นคงทางการเงินและการพาณิชย์ เสริมสร้างความน่าเชื่อถือและยอมรับในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งเพื่อป้องกันความเสียหายแก่สาธารณชนหรือประชาชนที่ใช้บริการ ร่างกฎหมายนี้กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล (Digital Platform) ต้องแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจและการให้บริการแพลตฟอร์มฯ ให้สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ทราบก่อนการประกอบธุรกิจ