ดีอีเอส กระจายอำนาจ สน.ตำรวจทั่วประเทศ รับคดี พ.ร.บ.คอมพ์-ไซเบอร์

18 พ.ย. 2564 | 09:58 น.
อัปเดตล่าสุด :18 พ.ย. 2564 | 17:06 น.

“ชัยวุฒิ” เพิ่มกลไกแก้ไขปัญหาประชาชนในคดี พ.ร.บ.คอมพ์ และ พ.ร.บ.ไซเบอร์ เตรียมกระจายอำนาจให้สถานีตำรวจทั่วประเทศรับคดี เพิ่มความรวดเร็วในการดำเนินดคีและช่วยเหลือผู้เสียหาย เล็งเจรจาแบงก์ชาติ เข้ามาผนึกกำลังป้องกันปัญหาซื้อสินค้าไม่ตรงปก และการฉ้อโกงทางออนไลน์

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า วันนี้ (18 พ.ย. 64) ได้มีการประชุมร่วมกับทางตำรวจ เพื่อหารือแนวทางดำเนินการในคดีสืบสวนสอบสวนเกี่ยวกับคดีตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อดูแลแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนในคดีที่เกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพ์ รวมถึงการหลอกลวง ฉ้อโกง และธุรกิจผิดกฎหมายทางออนไลน์

ดีอีเอส กระจายอำนาจ สน.ตำรวจทั่วประเทศ รับคดี พ.ร.บ.คอมพ์-ไซเบอร์

โดยข้อสรุปจากการหารือจะมีการกระจายอำนาจรับผิดชอบเกี่ยวกับการสอบสวนคดีด้านนี้ ไปยังสถานีตำรวจทุกแห่ง ซึ่งรวมถึงสถานีตำรวจภูธรทั่วประเทศ เพื่อให้ช่วยรับคดี ประชาชนสามารถเข้าไปแจ้งความได้ เพื่อลดจำนวนคดีสะสมที่อยู่ในความรับผิดชอบของกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ที่ส่วนกลาง

 “รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ มีอำนาจตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะมอบอำนาจให้ตำรวจในพื้นที่ สามารถดำเนินการได้ตามคดีที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพ์ฯ ที่ผ่านมาได้ลงนามมอบอำนาจนี้ให้กับตำรวจไซเบอร์ ของบช.สอท. ขั้นตอนจากนี้ก็จะมอบอำนาจให้ถึงระดับตำรวจภูธร เพื่อรองรับเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลงไปของการซื้อขายผ่านอี-คอมเมิร์ซที่ขยายตัวอย่างมาก ส่งผลให้จำนวนคดีด้านนี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก” นายชัยวุฒิกล่าว

 

ขณะเดียวกัน กระทรวงดิจิทัลฯ และตำรวจ ยังให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกัน มีการรวบรวมปัญหาที่เกี่ยวกับคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และ พ.ร.บ.ไซเบอร์ฯ เพื่อสรุปภายในเวลา 10.00 น.และส่งต่อเคสที่มีการกระทำความผิดมายังกระทรวงฯ เพื่อดำเนินงานประสานขอคำสั่งศาลให้มีการปิดกั้น รวมถึงประสานไปยังแพลตฟอร์มผู้เกี่ยวข้องกรณีมีการละเมิด community standard ของแพลตฟอร์มนั้นๆ เพื่อเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีต่อไปภายในวันนั้นเลย เพื่อให้มีการดำเนินคดีได้รวดเร็วขึ้น

นอกจากนี้ ยังเตรียมหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขป้ญหาความล่าช้าในการประสานขอข้อมูลเส้นทางการเงินผู้กระทำผิด หรือฉ้อโกงในการซื้อขายออนไลน์จากธนาคารบางแห่ง ส่งผลกระทบกับความเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนผู้เสียหาย

 

ทั้งนี้ คาดว่าที่ผ่านมา ธปท. ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลธนาคารในประเทศไทย อาจไม่ได้กำชับในประเด็นดังกล่าว ทำให้ธนาคารบางแห่งไม่ให้ข้อมูลรวดเร็วเพียงพอ ทำให้สอบสวนล่าช้า

 

นายชัยวุฒิ กล่าวว่า นอกจากการแก้ไขปัญหาแล้ว กระทรวงฯ และสตช. ยังมองว่าแนวทางป้องกันปัญหาควบคู่กันไปด้วย โดยมองว่าในการซื้อขายออนไลน์นั้น ผู้ทำธุรกรรมควรมีการใช้ระบบบัญชี Escrow ที่มีระบบคนกลาง อย่างเช่น ธนาคาร เป็นตัวกลางในการรับเงินจากผู้ซื้อสินค้าออนไลน์ และเมื่อมีกรณีร้องเรียนสินค้าไม่ตรงปก ตรวจสอบพบผู้ขายหลอกลวงฉ้อโกง ก็ต้องโอนเงินคืนให้กับลูกค้า โดยปัจจุบันระบบนี้มีแล้วในหลายประเทศ ได้แก่ ระบบ Paypal ของสหรัฐอเมริกา โดยคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ระบบนี้ควรเกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งธนาคารสามารถให้บริการได้โดยคิดค่าธรรมเนียมเพียงเล็กน้อย หรือไม่คิดเลย เพื่อสร้างความมั่นใจในการทำธุรกรรมทางออนไลน์ให้กับประชาชน