บูมศก.เกม ยุค Metaverse ‘กิลด์ฟาย’ ระดมทุน 4.7พันล. สร้างรายได้คนรุ่นใหม่

10 ธ.ค. 2564 | 22:30 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ธ.ค. 2564 | 19:20 น.

GuildFi โปรเจกต์ Metaverse และ GameFi ระดับโลกที่คนไทยร่วมก่อตั้ง เร่งสร้างอีโคซิสเต็ม เชื่อมผู้เล่นเกม เกม NFT นักลงทุน หลังรระดมทุน 4.7 พันล้านบาท หนุนคนไทยสร้างรายได้เศรษฐกิจบนเกมจักรวาลนฤมิต ปัจจุบันผู้เล่นเกมลงทะเบียน 2 แสนราย รายได้เฉลี่ย 5,000-10,000 บาทต่อเดือน

 นายจรินทร ฐิตะดิลก คนไทยผู้ค้นคิด และร่วมก่อตั้ง GuildFi (กิลด์ฟาย) โปรเจกต์ด้าน Metaverse และ GameFi ระดับโลก เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภายหลังจากเปิดระดมทุนจากนักลงทุนทั่วโลก เพื่อให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ GuildFi เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม และสิ้นสุดเมื่อวันที่ 4 ธันวาคมที่ผ่านมา สามารถระดมทุนได้ 4,700 ล้านบาท โดยเหรียญ GF token มีราคาอยู่ที่ประมาณ 4.03 เหรียญสหรัฐ หรือ ประมาณ 134 บาท

บูมศก.เกม ยุค Metaverse ‘กิลด์ฟาย’ ระดมทุน 4.7พันล. สร้างรายได้คนรุ่นใหม่

สำหรับเม็ดเงินที่ได้รับจากการระดมทุนนั้น GuildFi จะนำไปลงทุนในเกมทั่วโลก เพื่อสร้างระบบนิเวศ หรืออีโคซิสเต็ม เชื่อมต่อนักลงทุนกับเกม NFT (Non-Fungible Token) รวมถึงกลุ่มผู้เล่นเกมบนโลกสินทรัพย์ดิจิทัล หรือคริปโท แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะเข้าไปลงทุนเกมจำนวนเท่าไร โดยต้องขึ้นอยู่กับคุณภาพของเกม ซึ่งที่ผ่านมามีการลงทุนเกม NFT ไปแล้ว 10 ราย โดยส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคเอเชีย แต่ยังไม่มีการลงทุนเกมไทย เนื่องจากคุณภาพยังไม่ได้ เล่นแล้วไม่สนุก

อย่างไรก็ตาม มองว่าขณะนี้ตลาดเกมฟาย (GameFi) หรือ เกม NFT เกมยุคใหม่บนโลกของบล็อกเชนด้วยคอนเซ็ปต์ Play to Earn เล่นแล้วสร้างรายได้อยู่ช่วงเริ่มต้น และมีการเติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยปี 2565 จะมีเกมใหม่ๆ ที่มีคุณภาพ เล่นสนุก และน่าสนใจออกมาสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก และยังเป็นโอกาสของนักพัฒนาเกมฟายในไทย

บูมศก.เกม ยุค Metaverse ‘กิลด์ฟาย’ ระดมทุน 4.7พันล. สร้างรายได้คนรุ่นใหม่

เป้าหมายของ GuildFi พัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อมาเป็นสะพานเชื่อมโลกเข้าด้วยกันและให้ทุกคนสามารถท่องโลก Metaverse ได้อย่างง่าย รวมถึงช่วยให้ผู้เล่นสามารถลงทุนใน NFT และให้ผู้เล่นเกมเริ่มเล่นเกมได้อย่างง่ายขึ้น ผู้สร้างเกมสามารถหาผู้เล่นได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ยังต้องการช่วยผลักดันโปรเจ็กต์เกมทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อไปสู่ระดับสากล และเป็นผู้นำแพลตฟอร์มการเล่นเพื่อหารายได้ (play to earn) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

 “ยอมรับว่าเกมฟาย ที่มีอยู่ปัจจุบันนั้น 80-90% มีความเสี่ยงการลงทุนสูง ซึ่งหน้าที่ของเราคือพยายามให้ความรู้ และให้คำแนะนำผู้เล่นเกม และเลือกเข้าไปลงทุนในเกมที่สร้างรายได้ให้กับผู้เล่นจริง”

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา GuildFi ได้รับเงินลงทุนรอบ Seed มูลค่า 200 ล้านบาท (6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) จาก DeFiance Capital และ Hashed โดย GuildFi เป็นโครงการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อเชื่อมต่อเกม NFT ที่สร้างขึ้นบนระบบบล็อกเชน หรือ Web3.0 โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มผลตอบแทนสูงสุดแก่ผู้เล่นเกมในโลก Metaverse (เมตาเวิร์ส)

 

นอกจากนี้ ยังมีพันธมิตรในเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็น Exchange ในไทยเช่น Bitkub, Zipmex หรือ Broker ในไทยเช่น Bitazza รวมไปถึงพันธมิตรในต่างประเทศเช่น Binance NFT และเกมต่างๆ อีกมากมาย

 

GuildFi เริ่มต้นแพลตฟอร์มด้วยเกมที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอย่าง Axie Infinity ถือเป็นจุดกำเนิดและเป็นรากฐานสำคัญสำหรับแพลตฟอร์ม GuildFi แสดงให้เห็นถึงความต้องการของตลาด นอกจากนี้ ยังได้มีการพาร์ทเนอร์กับเกมอีกมากมายเช่น CyBall , Thetan Arena และ BigTime

 

นายจรินทร กล่าวต่อไปอีกว่า “ผู้เล่นและผู้ที่ชื่นชอบเกมยังไม่สามารถค้นหาเกมได้ง่าย ผู้เล่นเผชิญกับค่าใช้จ่ายสูงในการเริ่มเล่น โดยเฉพาะเกมประเภท play-to-earn ที่ผู้เล่นต้องซื้อ NFT เพื่อเล่นเกม รวมทั้งเงินทุนสำหรับซื้อ NFT ทำให้เกิดระบบที่เรียกว่า Scholarship อย่างไรก็ตาม การเข้าถึงเงินทุนนี้ยังทำได้ยาก นอกจากนี้ ประวัติการเล่นเกมของผู้เล่นยังถูกจำกัดอยู่ภายในเกมนั้น ๆ ทำให้รางวัลหรือรายได้ที่ผู้เล่นสร้างขึ้นในเกมต่าง ๆ ถูกจำกัดอยู่เพียงในเกมที่เล่นเเละไม่สามารถเชื่อมต่อระหว่างเกมใหม่ ๆ ได้ ในขณะที่ผู้เล่นในโลก Metaverse ควรจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างไม่มีข้อจำกัดเสมือนโลกแห่งความจริง GuildFi จึงถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นตัวเชื่อมจิ๊กซอว์ที่หลากหลายในโลก Metaverseเข้าด้วยกัน”

 

“ในฐานะของคนไทยที่ร่วมก่อตั้ง GuildFi (กิลด์ฟาย) โปรเจ็กต์ ต้องการสร้างเศรษฐกิจบนเกมขึ้นมาให้กับผู้เล่นเกมคนไทย เพื่อให้มีรายได้จากการเล่นเกม โดยปัจจุบันมีกลุ่มผู้เล่นเกมที่ลงทะเบียนใช้เครื่องมือของ “GuildFi” เล่นเกม NFT ยอดนิยมมากสุดในตลาดอย่าง” Axie Infinity” ทั้งหมด 200,000 ราย มีรายได้จากการซื้อขายไอเทม หรือสิ่งของในเกม เฉลี่ย 5,000-10,000 บาทต่อเดือน”