นายพันธ์ธวัช นาควิสุทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ล็อตเตอรี่ออนไลน์ จำกัด ผู้จัดทำเว็บไซต์กองสลาก.com และ กองสลากพลัส.com เว็บไซต์ขาย ล็อตเตอรี่ออนไลน์ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าภายหลังจากประสบความสำเร็จในการทำตลาดล็อตเตอรี่ผ่านทางออนไลน์ โดยมียอดขายเติบโตขึ้นต่อเนื่อง
ซึ่งในเดือนสิงหาคม 2564 มียอดขายสลากออนไลน์ทั้งหมด 1.5 ล้านฉบับ งวดวันที่ 30 ธันวาคม 2564 มียอดขายสลากออนไลน์ 2 ล้านฉบับ และงวดวันที่ 17 มกราคม 2565 มียอดขาย 2.2 ล้านฉบับ เติบโตขึ้น 10% ทั้งนี้ภายในระยะเวลา 3 เดือนจะมียอดขายราว 3 ล้านฉบับ โดยมีฐานสมาชิกอยู่ราว 1.5-2 ล้านราย
“ปีที่ผ่านมาเราประสบความสำเร็จ สร้างการรับรู้ และการให้บริการลูกค้า โดยระบบมีความน่าเชื่อถือมีการกว้านซื้อสลากมาสแกนเข้าระบบ ส่วนสลากต้นฉบับมีการเก็บไว้ในตู้นิรภัย เมื่อลูกค้าถูกรางวัลมีการโอนเงินเร็ว จ่ายเงินเต็มโดยมีหักภาษี”
สำหรับทิศทางปีนี้ จะมุ่งการพัฒนาคอนเทนต์ควบคู่กับกับการขายสลากออนไลน์ เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมของคนไทย ที่นิยมการเสี่ยงโชค และชื่นชอบความบันเทิง โดยได้เตรียมผลิตคอนเทนต์ ที่ได้นำเอาเรื่องราวของโชคลาภการเสี่ยงดวง ความเชื่อ ความศรัทธา และเรื่องราวลี้ลับต่างๆ นำมาผลิตเป็นคอนเทนต์บันเทิง รูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น sitcom กองสลากคอมเมดี้, รายการเลข/ผี/เฮี้ยน, CEO ข้างทาง, CEO เปรี้ยวตีน ที่เผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งเนื้อหาเหล่านี้นอกจากจะช่วยสร้างความบันเทิงให้ลูกค้าเก่ามีฐานสมาชิกอยู่ราว 1.5-2 ล้านราย ยังช่วยดึงกลุ่มผู้บริโภครายใหม่เข้ามาในแพลตฟอร์ม นอกจากนี้ยังได้เปิดตัวพรีเซ็นเตอร์ “ปู่จ๋าน ลองไมค์” ที่แต่งเพลง “เอาอีกแล้ว” ให้เป็นเพลงประจำกองสลากพลัส และ “อ๋อม-สกาวใจ พูนสวัสดิ์” ซึ่งเป็นดาราที่ถูกรางวัลบ่อย
นายพันธ์ธวัช กล่าวต่อไปอีกว่าบริษัทยังมุ่งศึกษา และพัฒนาการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ให้การจำหน่ายสลากผ่านทางออนไลน์ ทั้งเทคโนโลยีบล็อกเชน หรือการเปลี่ยนล็อตเตอรี่ ให้อยู่ในรูปแบบของ NFT รวมไปถึงการเปิดชำระค่าสลากด้วยคริปโต โดยมีพันธมิตรระบบชำระเงินที่สำคัญ คือ ธนาคารซีไอเอ็มบี
สำหรับการแข่งขันในตลาดที่ผ่านมามีผู้ให้บริการสลากออนไลน์เปิดให้บริการ 25 ราย ขณะนี้เหลือเพียง 2 รายที่ให้บริการอยู่ คือกองสลากพลัส กับมังกรฟ้า ซึ่งขณะนี้กองสลากพลัส ถือเป็นผู้ให้บริการจำหน่ายสลากออนไลน์ที่มียอดขายสูงสุดในตลาด คือมากกว่า 2 ล้านฉบับ โดยกองสลากพลัส มีรูปแบบการจำหน่ายโดยตรงไปยังผู้บริโภค ทำให้มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าคู่แข่งที่ขายผ่านตัวแทน ขณะเดียวกัน ซีอีโอ มีความชัดเจนมีการนำรางวัลไปมอบให้กับลูกค้าเอง คาดว่าภายในไตรมาสแรกของปีนี้ จะมียอดขายสลากออนไลน์ 3 ล้านฉบับ และมียอดขายสลากออนไลน์อยู่ที่ประมาณ 6,000 ล้านบาท
ส่วนกรณีที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ต้องการจำหน่ายสลากผ่านทางออนไลน์เองเพื่อแก้ปัญหาสลากเกินราคา 80 บาท นั้นเชื่อว่าไม่สามารถทำได้ เพราะต้นทุนสลากในตลาดปัจจุบันอยู่ที่มากกว่า 90 บาท ท้ายสุดตัวแทนจำหน่ายสลากจะไม่นำสลากไปขายผ่านทางออนไลน์กับทางสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เพราะไม่มีกำไร และนำสลากมาขายให้กับผู้ให้บริการสลากออนไลน์อย่าง กองสลากพลัส
ด้านนายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต ในฐานะประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล (บอร์ดสลากฯ) ว่าบอร์ดสำนักงานสลากฯ เห็นชอบในหลักการให้จัดทำระบบจำหน่ายสลากผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ ภายใต้ชื่อ “แพลตฟอร์มจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล (Digital Lottery)” เพื่อเป็นแพลตฟอร์มกลาง ให้ผู้ค้าที่มีโควตาสลากฯ ในมือ สามารถนำสลากมาฝากจำหน่ายบนแพลตฟอร์มนี้ได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ซึ่งแพลตฟอร์มนี้ ธนาคารกรุงไทยจะเป็นผู้ทำระบบทั้งหมด
“แพลตฟอร์มนี้ ตั้งใจให้ผู้ค้าที่มีโควต้าอยู่และไปฝากขายบนแพลตฟอร์มอื่น ย้ายมาขายบนแพลตฟอร์มของ สนง.สลากให้หมด ซึ่งแพลตฟอร์มนี้นอกจากจะเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้ผู้ค้าแล้ว เมื่อมีการกดเลือกสลากเลขนั้นๆ เงินก็จะโอนเข้าบัญชีผู้ค้าโดยตรง โดยหักค่าใช้จ่ายใดๆ ขณะที่ผู้ซื้อก็สะดวกขึ้น และยังสามารถซื้อสลากเลขซ้ำกี่ใบก็ได้เท่าที่มีในระบบ และยังซื้อสลากได้ในราคา 80 บาท และเมื่อเริ่มใช้แพลตฟอร์มนี้เมื่อไหร่ หากยังตรวจพบว่าผู้ค้าไปฝากขายบนแพลตฟอร์มอื่น จะทำการตัดสิทธิโควต้าทันที ซึ่งจะพยายามเร่งทำแพลตฟอร์มให้แล้วเสร็จ เพื่อจำหน่ายให้ทันงวดวันที่ 2 พ.ค.65”
นายลวรณ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาได้มีการตัดสิทธิผู้ค้าที่นำสลากฯ ไปฝากขายบนแพลตฟอร์มอื่น โดยเป็นการตัดสิทธิผู้ซื้อจองแล้วกว่า 3,000 ราย และตัดสิทธิผู้ที่มีโควต้าไปแล้ว 6,000 ราย รวมแล้วกว่า 9,000 ราย
ทั้งนี้สำนักงานสลากฯ ได้ปิดลงทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิซื้อจองสลากกินแบ่งรัฐบาล ประจำปี 65 แล้วเมื่อวันที่ 31 มกราคม 65 ที่ผ่านมา โดยมีผู้สมัครทั้งสิ้น 1.03 ล้านราย มากกว่าที่คาดหมายไว้ว่าจะมี 4-5 แสนราย ขณะที่จำนวนสิทธิกำหนดไว้ 2 แสนราย โดยจังหวัดที่มีผู้สมัครมากสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 99,772 ราย รองลงมาเป็นจังหวัดเลย 85,589 ราย นครราชสีมา 38,545 ราย นนทบุรี 27,109 ราย และขอนแก่น 26,119 ราย
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง