ตร.ไซเบอร์เผย 6-7 เดือน แก๊งคอลเซ็นเตอร์อาละวาดสร้างความเสียหาย 500 ล้านบ.

24 ก.พ. 2565 | 04:40 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ก.พ. 2565 | 12:03 น.

ตำรวจไซเบอร์ เผย 6-7 เดือน แก๊งคอลเซ็นเตอร์อาละวาดสร้างความเสียหาย 500 ล้านบาท แต่แนวโน้มถูกหลอกเริ่มลดลง หลังประชาชนเริ่มรู้ทัน รับ พรบ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่มีผลบังคับใช้ มิ.ย. ทำให้การดำเนินการแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ยากขึ้น เตือน "ไม่โอน ไม่เสียเงิน"

 พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง หัวหน้าชุดเทคนิค และสืบสวนที่ 1 ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) หรือ PCT เปิดเผยว่าขณะนี้แนวโน้มผู้ได้รับผล กระทบ หรือ ความเสียหาย จากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เริ่มลดลง เนื่องจากประชาชนมีการรับรู้ข่าวสาร และมีความระมัดระวังมากขึ้น

 

อย่างไรก็ตามแม้จะมีตัวเลขผู้ได้รับความเสียหายลดลง แต่วงเงินที่ถูกหลอกลวงมีสูงขึ้น โดยรอบเดือนที่ผ่านมีผู้ถูกหลอกจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ 1 ราย แต่มูลค่าความเสียหายเป็นล้านบาท

ตร.ไซเบอร์เผย 6-7 เดือน แก๊งคอลเซ็นเตอร์อาละวาดสร้างความเสียหาย 500 ล้านบ.

 

 “ระยะเวลา 6-7 เดือนที่ผ่านมามีผู้ได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมออนไลน์ รวมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ประมาณ 500 ล้านบาท โดยผู้ที่ถูกหลอกลวงจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์มากสุด คือ ผู้สูงอายุ ส่วนกลุ่มที่ถูกหลอกลวงจากการลงทุน ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผู้มีความรู้ แต่อาจมีประสบการณ์การลงทุนแล้วได้ผลกำไรมาก ซึ่งบางครั้งอาชญากรรมออนไลน์ที่เกิดขึ้นก็ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของประชาชน ที่รู้ว่าเสี่ยงแต่ยอมเสี่ยงเข้าไปลงทุน”

 ทั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ช่วยกัน กวดขันดูเเล เเละมีมาตรการเชิงรุกปราบปรามอย่างหนัก โดยถือเป็นวาระแห่งชาติ อย่างไรก็ตามยอมรับว่าการดำเนินการสืบสวน หรือดำเนินคดีกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากมีฐานปฎิบัติการอยู่ในต่างประเทศ และมีหัวหน้าแก๊งเป็นกลุ่มทุนต่างประเทศ แต่ตำรวจดำเนินการเต็มที่เพื่อสืบสวน ปราบปราม

 

ซึ่งที่ผ่านมาตำรวจได้มีการประสานงานกับสถานฑูตไทยในกัมพูชา ได้การดำเนินการสืบสวน และปราบปราม ล่าสุด MOU ร่วมกันระหว่าง 2 กระทรวง คือ กระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม ของประเทศไทย และกระทรวงไปรษณีย์โทรเลขและการสื่อสาร ประเทศกัมพูชา ประสานความมือในการให้ข้อมูลสนับสนุนการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และ Hybrid Scam ซึ่งเชื่อว่าการดำเนินการภายหลังเซ็น MOU จะดีขึ้น นอกจากนี้ประสานงานผ่านสถานฑูตจีนประจำประเทศ ไทย เพื่อดำเนินการขยายผลการตรวจสอบข้อมูลของหัวหน้าแก๊งชาวจีน รวมถึงการแก้กฎหมายเกี่ยวกับบัญชีม้า

ขณะเดียวกันยังได้ประสานงานกับรักษาการเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) และโอปอเรเตอร์ เพื่อกำหนดเลข 3 ตัวแรกของ VOIP (Voice Over IP) โทรข้ามประเทศ และแจ้งให้ประชาชนทราบข้อมูล ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาได้ไม่มากก็น้อย

 

นอกจากนี้คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าโอปอเรเตอร์จะมีการส่ง SMS แจ้งเตือนภัยการล่อลวงของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ไปยังผู้ใช้บริการมือถือ และในวันที่ 1 มีนาคมนี้ สำนักงานตำรวจได้เตรียมเปิดการแจ้งความออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com โดยเบื้องต้นจะเปิดให้แจ้งความเอกสารหาย แต่เชื่อว่าอนาคตหลังจากมีการแก้กฎหมาย ป.วิอาญา ให้สามารถแจ้งความอาชญากรรม รวมถึงแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ผ่านทางออนไลน์ได้ โดยปัจจุบันผู้เสียหายยังคงต้องไปแจ้งความที่สถานีตำรวจท้องที่อยู่

 

พล.ต.ต.พันธนะ กล่าวต่อไปว่า ภายหลังจาก พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มีผลบังคับใช้ในเดือนมิถุนายนนี้จะทำให้การดำเนินการสืบสวน และปรามปราม เพื่อแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ รวมถึงแก๊งคอลเซ็นเตอร์ยากขึ้นไปอีก ภายใต้การก่ออาชญากรรมออนไลน์มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยต่อไปตำรวจคงขอข้อมูลผู้ใช้บริการจากธนาคารยากขึ้น ขณะที่ตำรวจต้องการนำเทคโนโลยีอัจฉริยะมาใช้ในการสืบสวน แต่ละเมิดสิทธิประชาชน ท้ายสุดก็ไม่สามารถนำเครื่องมือดังกล่าวมาใช้งานได้ ซึ่งเราสามารถทำได้ตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น

 

 พล.ต.ต.พันธนะ กล่าวย้ำเตือน "ไม่โอน ไม่เสียเงิน"

 

ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ   รวบรวม วิธีการของมิจฉาชีพ และมุกยอดฮิตที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้หลอกเหยื่อใช้กัน มีวิธีไหนบ้าง? ดังนี้ 

 

  • ทวงหนี้นอกระบบ

แก๊งคอลเซ็นเตอร์จะสุ่มโทร. หาเหยื่อ แล้วอ้างว่า มีคนกู้เงินจำนวนเท่านั้น เท่านี้ (ส่วนใหญ่หลักพัน) โดยให้ชื่อเหยื่อกับเบอร์โทรศัพท์ไว้ หรืออ้างว่าญาติของเหยื่อไปกู้เงินมา แล้วให้ชื่อเหยื่อเป็นคนจ่ายหนี้แทน

 

  • พัสดุมียาเสพติด

แก๊งคอลเซ็นเตอร์ตีเนียนโทรหาเหยื่อ อ้างพัสดุที่ส่งไปต่างประเทศมีปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติด จะต้องคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งที่เหยื่อไม่เคยส่งอะไรไปเลย ซึ่งถ้าหากเหยื่อหลงกล ก็จะมีการหลอกให้โอนเงินหลักหมื่นหลักแสนมาให้เพื่อไปตรวจสอบ กว่าจะรู้ตัวว่าโดนหลอกก็สายไปแล้ว

 

  • หลอกว่าเกี่ยวข้องกับคดีฟอกเงิน

แก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกว่าเกี่ยวข้องกับคดีฟอกเงิน  แสดงตัวเองว่าเป็นเจ้าหน้าที่ ปปง. อ้างว่าเหยื่อเกี่ยวพันกับคดีฟอกเงิน ให้โอนเงินเพื่อมาตรวจสอบ สุดท้ายถูกหลอก สูญเงินไป...

 

  • หลอกว่าเป็นบริษัทประกัน

แก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรศัพท์มาอ้างเป็นเจ้าหน้าที่บริษัทประกันชีวิตแห่งหนึ่ง มีการพูดคุยเรื่องรับสินไหม ต่อมาโอนสายให้คุยกับบุคคลที่อ้างว่าเป็นตำรวจ หลอกมีผู้นำบัญชีไปใช้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ต้องอายัดบัญชีแต่ถ้าหากใช้เงิน ต้องโอนเงินกลับไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบสุดท้ายถูกหลอก