ผลสำรวจรายงาน Global Digital Skills Index ซึ่งชี้ให้เห็นวิกฤติทางด้านทักษะดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยตัวรายงานได้มีการสำรวจเพื่อชี้วัดความพร้อมด้านดิจิทัลของบุคลากรคนทำงานทั่วโลกกว่า 23,000 รายใน 19 ประเทศ รวมถึงผู้ร่วมตอบแบบสำรวจจากประเทศไทยกว่า 1,400 ราย เพื่อสำรวจมุมมองและทัศนคติของคนทำงานถึงความพร้อมด้านทักษะดิจิทัลที่สำคัญสำหรับธุรกิจในปัจจุบัน และในอีก 5 ปีข้างหน้า
จากผลสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสำรวจคนไทยมากกว่าครึ่งหรือ 51% รู้สึกว่าตนมีทักษะด้านดิจิทัลที่เพียงพอสำหรับการทำงานในปัจจุบัน ซึ่งสูงกว่าเปอร์เซ็นต์เฉลี่ยของผู้ตอบแบบสำรวจทั่วโลก (40%) อย่างไรก็ตามแม้ผู้ตอบแบบสำรวจคนไทยเกินครึ่งรู้สึกว่าตนมีความพร้อมในเชิงทักษะดิจิทัลในที่ทำงานแต่มีเพียง 42% เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ทักษะดิจิทัลได้ ซึ่งนอกจากนี้ผู้ตอบแบบสำรวจชาวไทยจำนวน 43% ได้กำลังวางแผนที่จะเรียนรู้และฝึกอบรมทักษะด้านดิจิทัลอย่างจริงจังในอนาคตข้างหน้าอีกด้วย
ด้านนายกิตติพงษ์ อัศวพิชยนต์รองประธานประจำภูมิภาคและกรรมการผู้จัดการเซลส์ฟอร์ซ ประเทศไทย กล่าวว่า “จากผลการศึกษาในครั้งนี้ คนไทยประเมินความพร้อมและทักษะทางด้านดิจิทัลเพื่อการทำงานของตนเองสูงกว่าผู้ร่วมการศึกษาจากหลากหลายประเทศทั่วโลก โดยเห็นได้จากผลคะแนนที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งรวมถึงประเทศที่เป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยี
อย่างไรก็ตาม ผลการประเมินตนเองนี้ก็ยังห่างจากคะแนนเต็มอยู่อีกมาก ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่องค์กรธุรกิจ ภาครัฐ และหน่วยงานต่างๆ ต้องร่วมมือกันให้เกิดการส่งเสริมทักษะทางดิจิทัลที่จำเป็นให้แก่พนักงานและคนในวัยทำงาน ตลอดจนผู้ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดแรงงานทั่วประเทศอย่างจริงจัง ธุรกิจต้องส่งเสริม พนักงานของตนในการเรียนรู้และใช้ประโยชน์จากทักษะดิจิทัลที่จำเป็นให้สามารถรับมือกับความต้องการด้านดิจิทัลและเตรียมความพร้อมสำหรับรูปแบบการทำงานในอนาคตที่ทุกกระบวนการต้องนำเอา Digital เข้ามาใช้เสมอ (Digital First) ทั้งนี้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ และการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า”
นอกจากนี้ไฮไลท์สำคัญจากรายงาน Global Digital Skills Index ได้แก่ ช่องว่างทักษะทางดิจิทัลระดับโลก แม้ช่องว่างด้านทักษะดิจิทัลยังเป็นปัญหาที่เราต้องเผชิญ แต่ปัญหาดังกล่าวก็มาพร้อมโอกาสด้วยเช่นกัน ธุรกิจต่างๆ ทั่วโลกกำลังเปลี่ยนมาใช้โมเดลที่เน้นดิจิทัลเป็นหลัก ส่งผลให้ความต้องการพนักงานที่มีทักษะด้านดิจิทัลเพิ่มสูงขึ้นตามมา
โดยจากภาพรวมรายงาน Salesforce Index ที่มีการสำรวจและให้คะแนนความพร้อมทางดิจิทัลจากการประเมินในแง่ของความพร้อม, ความชำนาญในทักษะ, ความสามารถในการเข้าถึงและมีส่วนร่วมในการปรับระดับทักษะดิจิทัล เผยว่า มุมมองความพร้อมทางดิจิทัลของคนทำงานทั่วโลกให้ คะแนนตัวเองเฉลี่ยอยู่ที่ 33 จาก 100 คะแนนโดยระดับคะแนนสูงสุดที่ได้คือ 63 และตํ่าสุดคือ 15 คะแนน
โดยคะแนนที่แตกต่างนี้เป็นตัวบ่งชี้สำคัญถึงความจำเป็นที่ธุรกิจจะต้องเร่งการลงทุนเพื่อปิดช่องว่างทางทักษะดิจิทัลและสร้างโอกาสในการเรียนรู้ที่เท่าเทียมให้แรงงาน
ขณะที่ประเทศที่กำลังพัฒนามีความมั่นใจในด้านความพร้อมทางดิจิทัลมากที่สุด ผู้ตอบแบบสำรวจในประเทศที่กำลังพัฒนา อาทิ ไทย อินเดีย เม็กซิโก และบราซิล มีความมั่นใจมากกว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วเกี่ยวกับอนาคตด้านดิจิทัลของพวกเขา โดยคนทำงานในประเทศอินเดียให้คะแนนความพร้อมด้านทักษะทางดิจิทัลของตนเองสูงที่สุด(63 จาก 100) โดย 76% ของผู้ตอบแบบ สำรวจในอินเดียรู้สึกว่าตนเองมีความพร้อมด้านทักษะทางดิจิทัลสำหรับทำงาน และ 69% พร้อมต่อการเรียนรู้ทักษะดิจิทัลใหม่ๆ
สำหรับประเทศไทย ผู้ตอบแบบสำรวจให้คะแนนความพร้อมต่อทักษะทางดิจิทัลของตนเองสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 3 (48 จาก 100 คะแนน) โดย 51% ของผู้ตอบแบบสำรวจคนไทยลงความเห็นว่า ตนเองมีความพร้อมด้านทักษะทางดิจิทัลสำหรับการทำงาน และ 39% พร้อมต่อการเรียนรู้ทักษะดิจิทัลใหม่ๆ
จากรายงาน Salesforce Index ระบุว่า 63% ของผู้ตอบแบบสำรวจทั่วโลก มองว่าทักษะด้านเทคโนโลยีในการทำงานร่วมกันอย่าง Slack เป็นทักษะที่สำคัญที่สุดที่ธุรกิจกำลังต้องการในปัจจุบันและในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยขณะเดียวกันผู้ตอบแบบสำรวจคนไทยมองว่า การเข้ารหัสและความปลอดภัยทางไซเบอร์ จัดเป็นทักษะดิจิทัลสำหรับการทำงานที่สำคัญที่สุดในอนาคตข้างหน้า ตามมาด้วยทักษะด้านอี-คอมเมิร์ซและการค้าทางดิจิทัล, การบริหารด้านดิจิทัล, การตลาดรูปแบบดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง และเทคโนโลยีการทำงานร่วมกัน
ธุรกิจต่างๆ สามารถก้าวไปข้างหน้าเพื่อปิดช่องว่างทางทักษะที่พบได้ โดยนำเอาศักยภาพของพนักงานที่มีอยู่ออกมาให้มากที่สุด โดยรายงาน Salesforce Index ยังเผยให้เห็นว่า ผู้ตอบแบบสำรวจที่อายุน้อยมีความมั่นใจ และความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ มากกว่าผู้ตอบแบบสำรวจที่อายุมากกว่าโดยมากกว่า 1 ใน 3 ของกลุ่ม Gen Z กำลังเรียนรู้และฝึกฝนทักษะที่จำเป็นในอนาคต ห้าปีข้างหน้าเมื่อเทียบกับ 12% ของกลุ่ม Baby Boomers
นอกจากนี้ ธุรกิจต่างๆ กำลังมีโอกาสที่จะหล่อเลี้ยงพนักงานที่มีศักยภาพสูงรุ่นใหม่ผ่านการจัดหาโอกาส เรียนรู้ที่เหมาะสมให้พวกเขาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็น การช่วยขับเคลื่อนการเติบโตและนวัตกรรม พร้อมทั้งเพิ่มความเท่าเทียม, การมีส่วนร่วม และสร้างความเป็นผู้นำให้พนักงานเหล่านี้ในอนาคต