ดีอีเอส เอ็มโอยูหัวเว่ย ดันศูนย์นวัตกรรมซอฟต์แวร์ร่วมในไทย

25 ก.พ. 2565 | 10:26 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ก.พ. 2565 | 17:39 น.

“ชัยวุฒิ” รมว.ดีอีเอส ร่วมพิธีเซ็นเอ็มโอยูการทำงานร่วมกันบนระบบคลาวด์ กับหัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) เล็งจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมซอฟต์แวร์ร่วม (Joint Software Innovation Center) สานเป้าหมายยกระดับพัฒนาบุคลากรภาครัฐ และส่งเสริมระบบนิเวศคลาวด์ร่วมกับรัฐและเอกชน

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า วันนี้ (25 ก.พ. 65) ผมมอบหมายให้ นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้ลงนามความร่วมมือข้อตกลงระหว่างกระทรวงดิจิทัลฯ และบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ในการผลักดันการทำงานร่วมกันเกี่ยวกับเทคโนโลยีคลาวด์ การวิจัยนวัตกรรม รวมถึงการพัฒนาการจัดการทรัพยากรมนุษย์

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)

ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ จะมีการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมซอฟต์แวร์ร่วม (Joint Software Innovation Center) เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการส่งเสริมระบบนิเวศคลาวด์ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ หุ้นส่วนทางอุตสาหกรรม ธุรกิจสตาร์ทอัพ ตลอดจนร่วมกันพัฒนาเชิงประยุกต์การใช้แอปพลิเคชั่นที่กําหนดได้เองในคลาวด์ของภาครัฐ (Government Cloud) สําหรับผู้ใช้ในหน่วยงานภาครัฐของไทย

 

โดยมีขอบเขตการทำงานและร่วมมือกันมีการพัฒนาข้อมูลเชิงลึก และข้อมูลขนาดใหญ่ของภาครัฐตลอดจนมีการแลกเปลี่ยนข้อมูล เชื่อมโยงข้อมูลในคลาวด์ของภาครัฐหรือให้เกิดการบูรณาการ ขยายความร่วมมือในเรื่องการจัดเก็บข้อมูลคลาวด์สาธารณะให้มีความก้าวหน้าอย่างเร่งด่วน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0

“ที่สำคัญจะมีการยกระดับพัฒนาบุคคลากรภาครัฐ และเพิ่มพูนทักษะ โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่ 2,000 คน รวมถึงสร้างโอกาสให้เจ้าหน้าที่ของภาครัฐเดินทางแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ณ ศูนย์นวัตกรรมและการเรียนรู้ระดับโลกของหัวเว่ย และได้สํารวจนวัตกรรมใหม่ในด้านเทคโนโลยีแห่งอนาคต เช่น บิ๊กดาต้า ปัญญาประดิษฐ์ การเชื่อมโยงของอุปกรณ์อัจฉริยะ (IoT) และเทคโนโลยี 5G” นายชัยวุฒิกล่าว

 

นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังมองถึงการขยายความร่วมมือ ไปยังการจัดเก็บข้อมูลคลาวด์สาธารณะ (Public Cloud) เพื่อทันต่อความต้องการและรองรับการใช้งานของผู้ใช้ในหน่วยงานภาครัฐของไทยด้วยการใช้ประโยชน์จากบริการคลาวด์ ที่มีความก้าวหน้าอย่างสูงสุด

 

นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “เรารู้สึกซาบซึ้งและได้รับแรงกระตุ้นจากการสนับสนุนและความไว้วางใจของรัฐบาลไทยที่มีต่อหัวเว่ยอย่างต่อเนื่อง ในฐานะพาร์ทเนอร์ด้านไอซีทีที่ไว้วางใจได้และเป็นผู้นำทางเทคโนโลยี หัวเว่ย คลาวด์ ให้บริการในประเทศไทยมากว่า 3 ปี เสริมศักยภาพให้แก่พาร์ทเนอร์กว่า 300 ราย ในกว่า 15 อุตสาหกรรม

เราภูมิใจที่เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการคลาวด์ระดับโลกรายแรกที่เปิดตัว Available Zone (AZ) ในประเทศไทย และเป็นรายเดียวที่มี AZ สามแห่งตั้งอยู่ที่นี่ นอกจากนี้ ในฐานะที่เรามุ่งมั่นสนับสนุนสังคมอย่างต่อเนื่อง หัวเว่ยจะยังคงส่งเสริมศักยภาพของอีโคซิสเต็มให้แก่ SMEs และบุคลากรที่มีความสามารถด้านดิจิทัลให้แก่ประเทศ ผ่านการริ่เริ่มโครงการต่างๆ ซึ่งรวมถึงโปรแกรมการแข่งขัน Huawei Spark Ignite, Huawei ASEAN Academy และ Seeds for Future ด้วยเป้าหมายความสำเร็จต่างๆ ในวันนี้ จะเร่งให้เกิดการใช้งานบริการคลาวด์และเศรษฐกิจดิจิทัลในประเทศไทย และขับเคลื่อนประเทศไปสู่การเป็นศูนย์กลางดิจิทัลแห่งอาเซียน และทำให้เกิดโลกอัจฉริยะที่เชื่อมต่อถึงกันอย่างสมบูรณ์ได้ในที่สุด”

จุดแข็งของ HUAWEI CLOUD

นายอาเบล ยังเน้นย้ำถึงจุดแข็งของหัวเว่ย คลาวด์ ในฐานะผู้ให้บริการคลาวด์สาธารณะระดับโลกรายแรกที่เปิดให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ถึงสามแห่งในประเทศในไทย ซึ่งหมายความว่าธุรกิจในไทยสามารถใช้งาน หัวเว่ย คลาวด์ ได้ด้วยความพร้อมในการให้บริการสูง และค่าความหน่วง (latency) ของการส่งผ่านข้อมูลที่ต่ำกว่า รวมถึงปกป้องและจัดเก็บข้อมูลที่มีความเสี่ยงภายใต้กฏหมายไทย

 

นอกจากนี้ เขายังเน้นถึงบริการคลาวด์สาธารณะที่ปลอดภัยของหัวเว่ย ซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วโลกและได้การรับรองจากกว่า 90 มาตรฐานทั่วโลก รวมทั้ง ISO27701, ISO29151, ISO27018 และ CSA STAR ซึ่งถูกต้องตามข้อกำหนดของ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศไทย และยังชูจุดแข็งของทีมหัวเว่ย คลาวด์ ในประเทศซึ่งสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ร่วมกับทั่วโลกได้อย่างไร้รอยต่อ