หัวเว่ย เผย 10 เทรนด์อุตสาหกรรมเครือข่ายไร้สาย

20 ต.ค. 2564 | 04:34 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ต.ค. 2564 | 11:47 น.

หัวเว่ย เผย 10 เทรนด์เครือข่ายไร้สาย ช่วยกำหนดทิศทางของเครือข่ายสัญญาณไร้สายแห่งอนาคต และเตรียมความพร้อมให้กับอุตสาหกรรมสู่ Intelligent World 2030 ”

ดูไบ, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, 20 ตุลาคม 2564 - นายเดวิด หวัง กรรมการบริหารและประธานฝ่ายผลิตภัณฑ์และโซลูชันทางด้าน ไอซีทีของหัวเว่ย ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในหัวข้อ “เส้นทางของมือถือแห่งปี 2030: 10 เทรนด์ของอุตสาหกรรมเครือข่ายไร้สาย” (Roads to Mobile 2030: 10 Wireless Industry Trends) ภายในงานประชุม Global Mobile Broadband Forum (MBBF) ครั้งที่ 12 โดยชี้ว่า “หัวเว่ยได้ระบุเทรนด์ 10 ข้อสำหรับอุตสาหกรรมเครือข่ายไร้สาย ซึ่งจะช่วยกำหนดทิศทางของเครือข่ายสัญญาณไร้สายแห่งอนาคต และเตรียมความพร้อมให้กับอุตสาหกรรมสู่ Intelligent World 2030 หรือโลกแห่งความอัจฉริยะ ปี 2573

หัวเว่ย เผย 10 เทรนด์อุตสาหกรรมเครือข่ายไร้สาย

นายเดวิด หวัง อธิบายว่า ภายในปี พ.ศ. 2573 โลกแห่งความจริงและโลกเสมือนจะผสานกันอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดประสบการณ์ที่เสมือนจริงยิ่งกว่าที่เคยเป็นมา ในขณะที่เศรษฐกิจดิจิทัลจะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของระบบเศรษฐกิจ และภาคอุตสาหกรรมจะเปลี่ยนมาให้ความสำคัญต่อประสิทธิภาพในการตัดสินใจแทนที่ประสิทธิภาพของตัวอุปกรณ์ แต่ความก้าวหน้าเหล่านี้จำเป็นจะต้องอาศัยความปลอดภัยภายในเครือข่ายอย่างยิ่งยวด รวมถึงยังต้องพัฒนาประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ซึ่งจะช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่อการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนอีกด้วย

นายเดวิด หวัง ได้กล่าวสรุปถึงเทรนด์ทั้ง 10 ข้อสำหรับอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือในช่วงทศวรรษหน้า ดังนี้

เทรนด์ที่ 1: ความเร็วระดับ 10 กิกะบิตต่อวินาที เพื่อการผสานกันของโลกแห่งความเป็นจริงและโลกเสมือน

การสื่อสารดิจิทัลจะถูกนำมาใช้เพื่อขยายและเชื่อมต่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างมนุษย์อย่างเข้มข้นยิ่งขึ้น ผ่านการส่งต่อประสบการณ์หลากหลายประสาทสัมผัส ไม่ว่าจะเป็น เสียง ภาพ สัมผัส หรือกลิ่น โดยระบบการสื่อสารแบบไร้สายทุกแห่งจำเป็นต้องมีสัญญาณครอบคลุมพร้อมความเร็วระดับ 10 กิกะบิตต่อวินาทีและความหน่วงระดับมิลลิวินาที เพื่อรองรับฟีเจอร์ต่างๆ เหล่านี้ในอนาคต

เทรนด์ที่ 2: เครือข่ายหนึ่งเดียวเพื่อการเชื่อมต่อ IoT แบบครอบคลุมทุกสถานการณ์

สังคมดิจิทัลจะเปลี่ยนแปลงไปด้วยการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์กับอุปกรณ์ (thing-to-thing) กว่าแสนล้านการเชื่อมต่อ ซึ่งระบบการสื่อสารแบบไร้สายจะต้องรองรับให้ได้ภายในปี  2573 โดยเครือข่ายต่างๆ จะถูกขับเคลื่อนด้วย IoT แบบครอบคลุมทุกสถานการณ์เป็นหลัก และต้องเริ่มส่งมอบบริการการเชื่อมต่อใหม่ๆ ที่แตกต่างกันไปตามความเร็วและเงื่อนไขความต้องการใช้งาน

เทรนด์ที่ 3: การเชื่อมต่อแบบครอบคลุมทุกมิติ ด้วยการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมควบคู่สัญญาณภาคพื้น

การส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมควบคู่สัญญาณภาคพื้น จะช่วยอุดช่องโหว่ด้านความครอบคลุมของสัญญาณภาคพื้นยิ่งขึ้น ทั้งยังเสริมการส่งสัญญาณแบบสามมิติครอบคลุมพื้นที่น่านฟ้า ซึ่งจะช่วยพัฒนาการสื่อสาร การควบคุมโดรนและอากาศยานอื่นๆ ได้ในอนาคต ในขณะที่ระบบการสื่อสารแบบไร้สายเองก็มีแนวโน้มที่จะถูกนำมาใช้เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารผ่านดาวเทียมใหม่ๆ ต่อไป

เทรนด์ที่ 4: เทคโนโลยีเซ็นเซอร์และการสื่อสารแบบควบรวม (Integrated Sensing & Communications) เพื่อสร้างประสบการณ์จำลองแบบดิจิทัลเสมือนจริง

เทคโนโลยีเซ็นเซอร์และการสื่อสารจะถูกผสานควบรวมกันยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยจำลองให้เกิดประสบการณ์ดิจิทัลที่คล้ายคลึงกับโลกแห่งความเป็นจริงได้แบบเรียลไทม์ ทั้งยังช่วยเสริมศักยภาพการขับขี่แบบอัตโนมัติและการจัดการโดรนในระดับสูง

เทรนด์ที่ 5: ความอัจฉริยะในทุกอุตสาหกรรมและทุกการเชื่อมต่อ

เครือข่ายไร้สายจะถูกผสานเข้ากับเทคโนโลยี AI อย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้เกิดเป็นเครือข่ายระบบการควบคุมอัตโนมัติระดับ 5 เต็มรูปแบบ (Full Driving Automation) ซึ่งจะต่อยอดไปรองรับการปฏิบัติการและการบํารุงรักษา (O&M) แบบอัตโนมัติ มอบประสบการณ์ที่พรีเมียมยิ่งขึ้น และลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ให้ได้มากที่สุด

เทรนด์ที่ 6: เครือข่ายสีเขียวที่เชื่อมต่ออย่างครบวงจรและเต็มวัฏจักร

เมื่อปริมาณการรับส่งข้อมูลในเครือข่ายเติบโตขึ้นอีก 100 เท่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ความต้องการโซลูชันที่สามารถลดการใช้พลังงานของเครือข่ายก็จะเติบโตขึ้นในอัตราเทียบเท่ากัน ประสิทธิภาพการใช้พลังงานต่อบิตก็จะต้องได้รับการพัฒนาขึ้นในอัตราที่สอดคล้องกันตามไปด้วย

เทรนด์ที่ 7: คลื่นความถี่ต่ำกว่า 100 กิกะเฮิรตซ์ที่ไม่กำหนดตายตัว

ภายในปี พ.ศ. 2573 หลายประเทศจะต้องการแบนด์วิดท์ของย่านความถี่ระดับกลาง 2 กิกะเฮิรตซ์ และแบนด์วิดท์บนคลื่นมิลลิเมตร (Millimeter Wave) ที่สูงกว่ากว่า 20 กิกะเฮิรตซ์ เพื่อรองรับจำนวนการรับส่งข้อมูลที่เพิ่มขึ้น อุตสาหกรรมจำเป็นจะต้องส่งเสริมวิวัฒนาการจากคลื่นความถี่ต่ำกว่า 100 กิกะเฮิรตซ์ (sub-100 GHz spectrum) ให้ไปสู่ยุค NR (New Radio) และสร้างนิยามใหม่ของการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ โดยการบูรณาการหลายย่านความถี่เข้าด้วยกัน รวมถึงใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมอื่นๆ เพื่อให้บรรลุการพัฒนาประสิทธิภาพคลื่นความถี่ได้ 10 เท่าตัว

เทรนด์ที่ 8: การใช้เสารับสัญญาณแบบหลายเสาที่ส่งสัญญาณกว้างขึ้นเพื่อลดต้นทุนต่อบิต

ค่าใช้จ่ายของการส่งผ่านข้อมูลต่อบิตจะลดลงเมื่อนำเทคโนโลยีเสารับสัญญาณแบบหลายเสา (multi-antenna) ไปใช้กับทุกย่านความถี่และทุกสถานการณ์ เสารับสัญญาณแบบ Ultra-wideband หรือ UWB จะรองรับการใช้งานร่วมกันของหลายย่านความถี่แบบไม่ตายตัว และเทคโนโลยี Intelligent Reflecting Surface หรือ IRS จะนำเทคโนโลยีเสารับสัญญาณแบบหลายเสาไปใช้ในสถานการณ์ต่างๆ มากขึ้น เพื่อให้ติดตั้งใช้งานบนเทคโนโลยีคลาวด์แบบประสิทธิภาพสูงได้

เทรนด์ที่ 9: ความปลอดภัยคือรากฐานของอนาคตแห่งโลกดิจิทัล

ความปลอดภัยจากภายในอุปกรณ์และความปลอดภัยที่อัจฉริยะและเรียบง่ายของเครือข่ายจะยิ่งทวีความสำคัญขึ้น เนื่องจากทั่วโลกจะให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและความยืดหยุ่นของเครือข่ายมากยิ่งขึ้น

เทรนด์ที่ 10: เครือข่ายประมวลผลคอมพิวเตอร์แบบมือถือสำหรับการทำงานร่วมกันระหว่างเทคโนโลยี Device-Pipe-Cloud

เครือข่ายเคลื่อนที่ในอนาคตจะรองรับบริการที่หลากหลายมากขึ้น เช่น เมตาเวิร์ส (Metaverse) เครือข่ายสำหรับในเขตอุตสาหกรรม และการสื่อสารระบบ V2X หรือระหว่างรถยนต์ไปยังสิ่งอื่นๆ ซึ่งหมายความว่าการประมวลผลจะต้องรวมเข้ากับระบบการสื่อสารไร้สาย เพื่อมอบบริการที่มีคุณภาพสูงและไม่ถูกรบกวนตามความต้องการของผู้ใช้งาน เนื่องจากรูปแบบการบริการเพียงแบบเดียวจะไม่เพียงพอต่อการสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลใหม่ๆ อีกต่อไป